โบรกเกอร์ประเมินกำไรกลุ่มแบงก์ Q2/66 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.8-5.9 หมื่นล้านบาท โต 13-15% โดย BBL นำทีมกำไรโตสูงสุดเทียบปีต่อปี ส่วนทั้งปีคาดกำไรทั้งกลุ่มโต 15% รับดอกเบี้ยขาขึ้น สำรองลด-NIM เติบโต ขณะที่ NPL ยังไม่ปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่จะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้น มองทั้งปีอยู่ที่ 3.06% จาก 2.89% พร้อมเชียร์ BBL-KTB เป็น Top Pick
ASPS คาดกำไรโค้ง 2 อยู่ที่ 5.9 หมื่นล้านบาท โต 15%
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กำไรสุทธิกลุ่ม (8 ธนาคาร) งวดไตรมาส 2/66 คาดว่าอยู่ที่ 5.9 หมื่นล้านบาท (+0.3% QoQ +15% YoY) ซึ่งคาดการณ์ธนาคารที่รายงานกำไรเติบโตเด่นสุดในกลุ่มเชิง QoQ คือ KTB ส่วน BBL ขยายตัวสูงสุดเชิง YoY หลักๆ หนุนด้วยการขยายตัวของ NIM
ในทางตรงข้ามฝ่ายวิจัยประเมิน KBANK, KKP และ TISCO จะรายงานกำไรลดลงทั้ง QoQ และ YoY เพราะมอง Credit Cost ของ KBANK (กรณีลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่ง) และ KKP (แรงกดดันด้าน NPL จากพอร์ตเช่าซื้อ) สูงขึ้น YoY ขณะที่ TISCO ถูกกดดันจาก Non-NII ตามภาวะตลาด
ทั้งนี้ หากกำไรสุทธิกลุ่มไตรมาส 2/66 ตามคาดจะทำให้กำไรสุทธิกลุ่มงวดครึ่งปีแรก อยู่ที่ 1.18 แสนล้านบาท (+14% YoY) คิดเป็นสัดส่วน 55.4% ของประมาณการกำไรกลุ่มปี 66 ของฝ่ายวิจัยที่ 2.1 แสนล้านบาท (+8.4% YoY)
สำหรับแนวโน้มกำไรสุทธิกลุ่มไตรมาส 3/66 เติบโต YoY หนุนด้วย NIM ที่มีทิศทางสูงขึ้น ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ M-Rate โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ที่มีสัดส่วนสินเชื่อสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยภายใน 1 ปีสูงกว่าธนาคารขนาดเล็ก ขณะที่ในเชิง QoQ ยังมีแรงส่งต่อเนื่องจากการรับผลของการปรับขึ้น M-Rate ช่วง มิ.ย.66 เต็มไตรมาส และกรณีที่ กนง. เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมวันที่ 2 ส.ค.66 เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของกำไร QoQ
นอกจากนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมในส่วนของ Capital market ลุ้นความชัดเจนทางการเมือง ช่วยกระตุ้นมูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้น หลังฐานงวดไตรมาส 2/66 ต่ำพอสมควร ขณะที่ค่าธรรมเนียมส่วนของ บลจ. คาดหวังการฟื้นตัวของ SET Index หลัง YTD ปรับฐานราว 9.9% underperformed ประเทศอื่นมากพอควร สะท้อนความไม่แน่นอนทางการเมืองบางส่วนแล้ว ส่งผลให้ Risk to reward ของตลาดหุ้นไทยเริ่มน่าสนใจ
ส่วนทิศทางกำไรสุทธิกลุ่มไตรมาส 4/66 อ่อนตัว QoQ แม้กรณีที่ กนง. ไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วง ส.ค. แต่มาปรับรอบการประชุม 27 ก.ย.66 และ/หรือ 29 พ.ย.66 เนื่องจากงวดไตรมาส 4 เป็นช่วงที่ค่าใช้จ่ายเร่งตัวตามฤดูกาล โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ ประกอบกับแนวโน้ม Credit Cost เพิ่มขึ้น ทั้งจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว (ผ่อนผันการจัดชั้นลูกหนี้) จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ และโอกาสที่ธนาคารมีการเพิ่มระดับสำรอง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในปีถัดไป
ดาโอคาดกำไรทั้งกลุ่มปีนี้โต 15% ประเมิน KTB โตทั้ง YoY-QoQ
บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากสำรองที่ลดลง และ NIM ที่เพิ่มขึ้น แต่ลดลง -3% QoQ จากกำไรจากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลดลง
ทั้งนี้ กำไรสุทธิไตรมาส 2/66 คาดว่าธนาคารที่จะเติบโตทั้งได้ YoY และ QoQ มีตัวเดียว คือ KTB จากแนวโน้มสำรองที่ลดลง และ NIM ที่เพิ่มขึ้นได้ดี ขณะที่ธนาคารที่มีกำไรสุทธิเติบโตได้โดดเด่นเมื่อเทียบ YoY เรียงจากมาก-น้อย คือ BBL +41% และ KTB +26% ส่วนใหญ่เกิดจากสำรองที่ลดลง และ NIM ที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก
ส่วนธนาคารที่มีกำไรสุทธิลดลงเมื่อเทียบ YoY เรียงจากมาก-น้อย คือ KBANK -10% เพราะไม่มีกำไรพิเศษจากการตีราคาที่ดินมาช่วยเหมือนไตรมาส 1/66 และ KKP -6% จากขาดทุนรถยึดเพิ่มขึ้น เพราะเร่งขายรถมือสอง ส่วน TISCO -4% เพราะรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลดลงจาก Brokerage fee ลดลง
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มกำไรสุทธิของกลุ่มยังเติบโตได้ต่อในปีนี้อีก +15% YoY เพราะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะช่วยให้ NIM ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อได้ ด้านแนวโน้ม NPL จะไม่ปรับตัวเร่งขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่จะเป็นรูปแบบค่อยๆ ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะหลายธนาคารมีการขายหนี้เสียออกไปค่อนข้างเยอะ ทำให้คาดว่า NPLs จะทยอยเร่งตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้อยู่ที่ 3.06% จากปี 65 ที่ 2.89%
อีกทั้งยังคงน้ำหนักกลุ่มธนาคารเป็น “มากกว่าตลาด” เพราะ valuation ยังถูก เทรดที่ระดับเพียง 0.70x PBV (-1.0SD below 10-yr average PBV) โดยเลือก KTB, BBL เป็น Top pick โดยชอบ KTB ราคา เป้าหมายปีนี้ที่ 21.00 บาท และ BBL ราคาเป้าหมายปีนี้ที่ 195.00 บาท
ธนาคารคาดการณ์งบ Q2/66 (ล้านบาท) เปลี่ยนแปลง YoY