xs
xsm
sm
md
lg

นักลงทุนทิ้ง OTO ต่อเนื่อง ผู้ถือหุ้นใหญ่เฉือนออก-ตลท.คงกำกับซื้อขาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายคณาวุฒิ วรรทนธีรัช ประธานกรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการบริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO
ราคาหุ้น “วันทูวัน คอนแทคส์ ” ซึมลึกไม่ฟื้นไข้ นักลงทุนผวาทิ้งหุ้นดิ่งต่อเนื่อง แม้กระทั่ง “บุญเอื้อ จิตรถนอม” ผู้ถือหุ้นอันดับ 1 เฉือน OTO ออกจากพอร์ต 21,067,000 ล้านหุ้น หรือ 2.6558% ขณะตลาดหลักทรัพย์ ฯ ยังไม่วางใจคงมาตรการกำกับดูแลการซื้อขายในระดับ 1 แม้ตรวจสอบไม่พบการซื้อขายผิดปกติ ขณะผู้บริหารวอนนักลงทุนเชื่อมั่น ยันฐานะการเงิน-ปัจจัยพื้นฐานแกร่ง เดินหน้าประมูลงานตามแผน

เมื่อสัปดาห์ก่อนราคาหุ้น OTO หรือ บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) ดิ่งเหวแบบโงหัวไม่ขึ้น หลังราคาหุ้นOTO ร่วงมาตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย.คือปิดที่ 17.30 บาท ลดลง 0.30 าท หรือ 1.70% มูลค่า 200.62 ล้านบาทและต่อเนื่องถึงวันที่ 7 มิ.ย.ปิดที่ 16.80 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 2.89% มูลค่า 53.63 ล้านบาท ส่งผลต่อเนื่องมาถึงสัปดาห์นี้ OTO ราคาดิ่งเหวติดฟลอร์แล้ว
 
วันที่ 12 มิ.ย. ปิดที่ 11.30 บาท ลดลง 4.90 บาทหรือ 30.25 % มูลค่า 202.87 ล้านบาท
วันที่ 13 มิ.ย. ปิดที่ 7.90บาท ลดลง 3.40 บาทหรือ 30.09 % มูลค่า328.43 ล้านบาท
วันที่ 14 มิ.ย. ปิดที่ 5.50 บาท ลดลง 2.40 บาท หรือ 30.38% มูลค่า 221.83 ล้านบาท
วันที่ 15 มิ.ย. ปิดที่ 3.84 บาท ลดลง 1.66 บาทหรือ 30.18% มูลค่า 522.49 ล้านบาท
และ 16 มิ.ย. ราคาหุ้น OTO ปิดที่ 2.68 บาท ลดลง 1.16 บาท หรือ 30.21% มูลค่าซื้อขาย 271.90 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บมจ.วันทูวัน คอนแทคส์ หรือ OTO แกว่งตัวอย่างมาก ในช่วงต้นของการซื้อขายราคาหุ้น OTO ปรับตัวลดลงในแดนลบ และราคาเริ่มขยับขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปิดตลาด ราคาหุ้นอยู่ที่ 3.42 บาท เพิ่มขึ้น 0.74 บาทหรือ 27.61% มูลค่าซื้อขาย 1,506.45 ล้านบาท

และสัปดาห์ที่แล้ว 20-22 มิ.ย. หุ้น OTO ดิ่งต่อปิดที่ 2.90 บาท,2.20 บาท และ1.77 บาท ก่อนจะขยับบวกวันที่ 23 ด้วยราคา 1.81 บาท ขณะที่ราคาใบสำคัญแสดงสิทธิหรือวอร์แรนท์ก็ปรับลดลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 1.38 บาท จากเมื่อ 22 พ.ค.ราคาเคยพุ่งไปแตะที่ 8 บาท

หุ้น OTO ดีดกลับ หลัง ตลท.แจงไม่พบผิดปกติ

เมื่อเช้าวันอังคาร (27มิ.ย.) ราคาหุ้น OTO ปรับตัวขึ้น 21.28% หรือเพิ่มขึ้น 0.30 บาท แตะที่ 1.71 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 94.58 ล้านบาท จากราคาเปิด 1.50 บาท ราคาสูงสุด 1.72 บาท ราคาต่ำสุด 1.43 บาท และปิดที่ 1.712 บาท เพิ่มขึ้น 0.31 บาท หรือ 21.99% มูลค่าซื้อขาย 399.25 ล้านบาท หลังจากดิ่งเหวต่อเนื่องยาวมาหลายวัน ล่าสุดเช้า 28 มิ.ย.ราคาหุ้นอยู่ที่ 1.66 บาท ลดลง 0.06 บาทหรือ 3.49%

เนื่องจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ตลท.แจ้งสภาพการซื้อขายในหลักทรัพย์ บมจ.วันทูวัน คอนแทคส์ (OTO) ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในระหว่างวันที่ 12-22 มิ.ย.66 เนื่องจากราคาปรับลดลงมากเกิดจากการขายกระจุกตัวในกลุ่มบุคคล ทำให้เกิดการบังคับขาย (Force sell) ในเวลาต่อมาโดยสัดส่วน Short selling และ Program trading น้อยมากนั้น

โดย ตลท.แจ้งข้อเท็จจริงว่าปริมาณการ Short selling และ Program trading ในช่วงวันที่ 23-26 มิ.ย. ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญไปจากช่วงก่อนหน้า โดยช่วง 12-22 มิ.ย.ราคาปรับตัวลดลง 89.07% จาก 16.2 เป็น 1.77 บาท จากนั้นช่วง 23-26 มิ.ย.66 ลดลง 20.34% จาก 1.77 เป็น 1.41 บาท เกิดจากการขายกระจายตัวผ่านการซื้อขายของรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ และไม่พบว่ามี Short selling และมีปริมาณเทรดผ่าน Program trading ราว 6.06% ของปริมาณการซื้อขาย และยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาตรการกำกับดูแลการซื้อขายที่อยู่ในระดับ 1

คงมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1

จากช่วงเวลาที่หุ้น OTO มีสภาพการซื้อขายที่ผิดไปจากปกติและพบการขายที่กระจุกตัว ดังนั้น ตลท. จึงกำหนดให้หลักทรัพย์ OTO อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 คือ ให้ผู้ลงทุนทุกประเภทที่ต้องการซื้อหลักทรัพย์ OTO ต้องวางเงินสด 100% ก่อนซื้อ และบริษัทสมาชิกห้ามนำหลักทรัพย์ OTO คำนวณเป็นวงเงินในการซื้อขายในทุกประเภทบัญชี ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 66 เนื่องจากสภาพการซื้อขายผิดปกติโดยไม่มีปัจจัยสนับสนุน โดยเมื่อเข้ามาตรการสภาพการซื้อขายลดความร้อนแรงลง และแม้ว่าผลการตรวจสอบไม่พบความผิดปกติ แต่ ตลท.ยังคงมาตรการดังกล่าวต่อไป

นอกจากนี้ ยังขอให้ ผู้ลงทุนพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อขายและขอให้บริษัทสมาชิกทุกรายกำกับดูแลการซื้อขายและการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยว ข้องกับหลักทรัพย์ OTO อย่างใกล้ชิดและเคร่งครัด เพื่อป้องกันการส่งคำสั่งซื้อขายที่อาจไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้ การตรวจสอบของ ตลท . ดังกล่าว เนื่องจากนายคณาวุฒิ วรรทนชีรัช ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่ OTO ทำหนังสือถึง ตลท. ขอให้ตรวจสอบสาเหตุการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ของบริษัท ระหว่างวันที่ 12 - 16 มิถุนายน 2566 ราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เกิดการปรับตัวลดลงของอย่างมีนัยสำคัญซึ่งทำให้ผู้ลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องมีความกังวลกับเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงทำให้เกิดการคาดเดาถึงสาเหตุที่ราคาหลักทรัพย์ของบริษัทมีการปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญในช่วงระยะเวลาอันสั้นที่ผ่านมาที่อาจสร้างความเสียหาย และบั่นทอนความน่าเชื่อถือของบริษัท และอาจส่งผลกระทบต่อแผนการระดมทุนของบริษัทจากการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้แก่นักลงทุน 4 ราย จำนวน 50 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 16 บาท ทำให้ไม่เป็นไปตามแผนการระดมทุนของบริษัท

กรรมการลาออก-ผู้ถือหุ้นใหญ่ตัดขาย

เมื่อ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา OTO แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 11/2566 ว่าบอร์ดมีมติที่รับทราบการลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทของนายบัณฑิต สะเพียรชัย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

พร้อมแต่งตั้งรองศาสตราจารย์ ดร. อภิวัฒน์ มุตตามระ เป็นกรรมการบริษัทแทนกรรมการที่ลาออก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ภายหลังการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทจะประกอบด้วยกรรมการ 10 ท่าน ดังนี้

ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ประธานกรรมการ กรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบ, ดร. ชูเกษ อุ่นจิตติ กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ,นายภัทรกฤช เตชะศิกานต์ กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ ,นายไพรยง ธีระเสถียร กรรมการอิสระ, นายคณาวุฒิ วรรทนธีรัช กรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร , นายชัยวัฒน์ พิทักษ์รักธรรม กรรมการ ,นายสมคิด ลิขิตปริญญา กรรมการ ,นายศรายุทธ์ ยิ้มเรือน กรรมการ, นางณารีรัตน์ เงินนำโซคธนรัตน์ กรรมการ และ รองศาสตราจารย์ ดร. อภิวัฒน์ มุตตามระ กรรมการ พร้อมแต่งตั้ง นายคณาวุฒิ วรรทนธีรัช เข้าดำรงตำแหน่ง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการสรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับรายงานการเทขายหุ้นของ OTO โดย  นายบุญเอื้อ จิตรถนอม ผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ OTO ซึ่งเป็นการจำหน่าย เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2566 จำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่าย 21,067,000 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.6558% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่าย 76,264,799 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.6143% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ 
 
ผู้บริหารวอนนักลงทุนเชื่อมั่น

นายคณาวุฒิ วรรทนธีรัช ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OTO ได้ออกมาชี้แจงผ่าน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นระยะๆ ยืนยันและแจ้งถึงภาวะของราคาหุ้นที่ลดลง เพราะเกิดการปรับตัวลงของราคาหุ้นของ OTO อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการร้องขอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอตรวจสอบรายการซื้อขายหุ้นที่มีลักษณะผิดปกติในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว บริษัทจึงได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็น "กรณีเร่งด่วน" ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.66 และฝ่ายบริหารได้แจ้งสถานะทางการเงินของบริษัทว่า

บริษัทขอให้ความมั่นใจแก่ผู้ถือหุ้น และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นของบริษัทนั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกและสภาวการณ์อื่น ๆ ซึ่งไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัท และไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ทั้งนี้ปัจจุบัน สถานะทางการเงิน รวมถึงการดำเนินงานของบริษัทยังมีปัจจัยพื้นฐานที่มั่นคง และบริษัทจะยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ 

โดยบริษัทยังเดินหน้าดเข้าร่วมโครงการประมูลโครงการภาครัฐ ซึ่งมีมูลค่าโครงการไม่น้อยกว่า 100 บาท อยู่ระหว่างการพิจารณาและประกาศผลผู้ชนะประมูลโครงการ บริษัทขอให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เชื่อมั่นว่าบริษัทเดินหน้าดำเนินธุรกิจตามแผนธุรกิจที่บริษัทได้วางไว้เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกราย และบริษัทยังคงมีผลประกอบการที่ดีและมีสภาพคล่องและสถานะทางการเงินเป็นปกติบริษัทขอให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพึงพิจารณาตรวจสอบข่าวสารที่เกิดขึ้นอย่างระมัดระวัง และให้ความเชื่อมั่น และไว้วางใจแก่บริษัท ว่าบริษัทประกอบธุรกิจอย่างโปร่งใสภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป 

บทเริ่มต้นหุ้นผันผวนหนัก 

ทั้งนี้ ก่อนที่ราคาหุ้นจะดิ่งลงเหว OTO ออกมาแจ้งข่าวเมื่อ 8 มิ.ย.ว่าบริษัทได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน) (WAVE) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตธุรกิจพลังงานสะอาดที่มีการขยายตัวมากและเป็นเมกะเทรนด์ในปัจจุบัน เพื่อลดภาวะโลกร้อน

และวันนั้นหุ้น OTO ปิดที่ 16.80 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าซื้อขาย 72.28 ล้านบาท ขณะวันที่ 9 มิ.ย. หุ้น OTO รูดลงไปปิดที่ 16.20 บาท ลดลง 0.60 บาท หรือ 3.57% มูลค่าซื้อขาย 68.49 ล้านบาท ส่งผลต่อเนื่องถึงสัปดาห์ถัดไปที่ราคาหุ้นร่วงต่อเนื่อง

แม่ว่าการเข้าไปร่วมงานกับ บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด หรือ WAVE BCG ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบครบวงจร รวมถึงให้คำปรึกษาทั้งในส่วนของผู้ซื้อและผู้ขาย และเป็นผู้พัฒนาโครงการและจัดหาคาร์บอนเครดิต ทั้งจากพลังงานสะอาดและพลังงานอื่น ๆ ในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

" OTO วางแผนเดินหน้าธุรกิจสู่เทคโนโลยีที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Tech ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้าง New S Curve โดยมั่นใจว่า เวฟ บีซีจี จะช่วยผลักดันธุรกิจคาร์บอนเครดิต ด้านพลังงานสีเขียวและ Climate Tech ซึ่งอยู่ในเมกะเทรนด์ที่คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญ ให้เติบโตต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งมีแผนขยายการลงทุน EV Bike และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างรายได้ประจำ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2566 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง " นายบัณฑิต สะเพียรชัย รองประธานกรรมการ OTO กล่าวไว้ก่อนหน้านั้น

และนั่นถือเป็นการแตกไลน์ธุรกิจของ OTO ที่บริษัทเตรียมความพร้อมเงินทุนไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ได้จากการแปลงใบสำคัญแสดงสิทธิหรือวอร์แรนท์ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน OTO-W1 เงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านการขายหุ้น PP และแผนออกหุ้นกู้วงเงิน 2 พันล้านบาท เพื่อรองรับแผนการขยายการลงทุนธุรกิจใหม่ ซึ่งจะสร้าง New S Curve ให้บริษัทฯ โดย OTO แจ้งถึงที่มาของเงินทุนด้วยการออก OTO-W1 จำนวน 279,998,669 หน่วย กำหนดใช้สิทธิแปลงสภาพในวันที่ 31 พ.ค.2566 ระยะเวลาแจ้งความจำนงในการใช้สิทธิระหว่างวันที่ 24-30 พ.ค.66 ราคาใช้สิทธิ 1 หน่วยต่อ 1 หุ้น ราคา 3 บาท อัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วยต่อ 1 หุ้น

นอกจากนี้ ยังมีเงินที่ได้รับจากการขายหุ้น PP 50 ล้านหุ้น ราคาเสนอขายหุ้นละ 16 บาท ให้แก่บุคคล 4 รายชื่อ ประกอบด้วย Greentech Fund ภายใต้ CAI Optimum Fund VCC 20 ล้านหุ้น ,นายยศวีย์ วัฒนธีระกิจจา 20 ล้านหุ้น ,นายนพพร วิฑูรชาติ 5 ล้านหุ้นและ นางสาวรฐา วีรพงษ์ 5 ล้านหุ้น รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 800 ล้านบาท อีกทั้งยังมีแผนเตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทวงเงินรวมไม่เกิน 2,000 ล้านบาท เพื่อรองรับแผนขยายการลงทุนและการเพิ่มทุนดังกล่าว ผู้ถือหุ้น OTO ไฟเขียวแล้ว

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา บอร์ด OTO อนุมัติให้บริษัท อินโน ฮับ จำกัด บริษัทย่อยที่ OTO ถือหุ้น 100% ขายเงินลงทุนทั้งหมดใน "บริษัท ฟิจิตอล สเปซ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PSD) ให้ นายภาคภูมิ เติมเสรีกุล 1.25 ล้านหุ้น และนายวีรสกล ชวะโนทัย 1.2 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 61.22 บาท หรือมูลค่ารวมทั้งสิ้น 150 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนจะนำเงินไปลงทุนในบริษัทย่อย หลังจากเมื่อกลางปี 65 OTO ได้ลงทุนใน PSD เพื่อลุยธุรกิจ E-sport ซึ่งมองว่าคนทั่วโลกเล่นเกม อันจะทำให้ธุรกิจนี้มีรายได้จากหลายทางและช่วงนั้นทำให้ราคาหุ้น OTO ดีดขึ้นไปปิดที่ 170 บาท เพิ่มขึ้น 1.10 บาท หรือ 6.92% ส่งผลให้โบรกเกอร์หลายสำนักปรับเป้าหมายราคาหุ้น OTO กันถ้วนหน้า เพราะมองว่า OTO จะมีรายได้จาก Sponsership และ Hubber platform ที่คาดว่าจะมีการใช้บริการที่มากขึ้น

นั่นคือเหตุการณ์บางส่วนของ OTO ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมา และแม้ ตลท. ออกมาชี้แจง แต่ก็ไม่อาจทำให้มั่นใจได้ว่า หุ้น OTO จะผันผวนไปได้อีกเพียงใด เรียกได้ว่าสถานการณ์หุ้นOTO ยังไม่น่าไว้วางใจนัก เพราะกรรมการบางคน รวมทั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัททยอยลาออก และเป็นสัญญาณในด้านลบ และกระตุ้นการเทขายหุ้นจนราคาทรุดหนัก แต่สิ่งที่สังเกตได้คือฝ่ายบริหารที่เผ่นหนีเพื่อตัดความรับผิดชอบ ส่อแววถึงปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่หรือไม่ อย่างไร นักลงทุนคงทำได้เพียงเฝ้ารอว่ามีเงื่อนงำอะไรใน OTO จึงทำให้หุ้นปักหัวลงดิน และไม่มีสัญญาณฟื้นคืนชีพ


กำลังโหลดความคิดเห็น