ก.ล.ต.ดึง 10 หน่วยงานแถลงความคืบหน้า คดี " สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น " เผยคืบหน้าไปมาก ล่าสุดเตรียมดำเนินการเอาผิดกับคนที่เกี่ยวข้องการเปิดเผยข้อมูลปรับปรุงตัวเลขเท็จทางบัญชีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ขณะ ตลท. เตรียมปรับเกณฑ์ยกระดับคัด บจ.ที่จะเข้าระดมทุน ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมร่วมมือและช่วยเหลือเพื่อป้องกันซ้ำรอย ส่วน สมาคม บลจ.จัดทีมกฎหมายเร่งเอาผิดผู้บริหาร STARK ล่าสุด ก.ล.ต.ดำเนินคดีผู้ต้องหาหุ้น MORE อีก 32 ราย หลังตรวจสอบหลักฐานเพิ่มพบความเสียหายกว่า 800 ล้านบาท
วานนี้ ( 26 มิ.ย.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอีก 10 องค์กรในตลาดทุน ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการด้านต่าง ๆ ในกรณี บมจ. สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) พร้อมเผยแนวทางความคืบหน้าการดำเนินการเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลและฟื้นความเชื่อมั่นให้ตลาดทุนไทย หวังดึงเงินทุนนอกไหลกลับ
นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทน ก.ล.ต. เผยว่าขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการตามขั้นตอนภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก ล่าสุดได้สั่งให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เพิ่ม และวันนี้ (26มิ.ย.) ก.ล.ต. จะเดินทางเพื่อไปหารือกับคณะพนักงานสอบสวน นำโดยรองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อหารือถึงแนวทางที่จะดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 21 มิถุนายน 2566 พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้อนุมัติรับ กรณีการตรวจพบความผิดปกติของงบการเงิน STARK เป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ๋งการสืบสวนเบื้องต้นมีมูลเชื่อว่ามีการกระทำผิดของกรรมการ หรือผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นใด เกิดขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพฤติการณ์มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ
" ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการเอาผิดกับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่มีการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินอันเป็นเท็จ ซึ่งมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ถือเป็นบทกำหนดโทษที่มีความรุนแรงพอสมควร และล่าสุด ก.ล.ต.เข้าร้องทุกข์ดำเนินคดีหุ้น MORE กับผู้ต้องหาอีก 32 ราย หลังตรวจสอบพบหลักฐานเพิ่มและมีความเสียหายกว่า 800 ล้านบาท "
ทั้งนี้ ตัวเลขจาก สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยหลังเปิดเป็นศูนย์กลางให้นักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจาก STARK พบว่ามีทั้งสิ้น 1,759 ราย มูลค่าเบื้องต้น 4,063 ล้านบาท
*** ตลท.เตรียมปรับเกณฑ์ยกระดับคัด บจ.***
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่าเหตุการณ์ STARK ที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก และเกิดความเสียหายทางบัญชีกว่า 2.15 หมื่นล้าน และผิดนัดชำระหุ้นก็อีก 9.1 พันล้านบาท ดังนั้น กระบวนการและขั้นตอนจะซับซ้อนและต้องใช้เวลา เพราะจะแตกต่างจากกรณีของ MORE หรือ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ซึ่งส่วนของ MORE ที่มีผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับความเสียหายเพียง 10 ราย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมา ส่งผลให้ ตลท. เตรียมยกระดับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์มให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพบริษัทและการดูแลนักลงทุน รวมถึงแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับ บจ.ที่จะเข้าจดทะเบียนทั้ง SET และ mai เน้นรับ บจ.ที่มีความเข้มแข็งด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงานมากขึ้น เพราะต้องปรับเกณฑ์ให้ทันเหตุการณ์กับปัจจุบัน โดยจะเพิ่มในส่วนของกำไร เพื่อรองรับบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้น และเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) เพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานและฐานะการเงินที่แข็งแรงขึ้น โดยกำหนดทุนชำระแล้ว (Paid-up capital) เริ่มต้นเท่ากัน เพื่อให้ส่วนของทุนมีความสอดคล้องกับลักษณะการประกอบธุรกิจ และบริษัทผู้ระดมทุนสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) และการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชน (Public Offering) สำหรับบริษัทขนาดเล็กให้สูงขึ้น เพื่อดูแลสภาพคล่องในตลาดรอง
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่าการแก้ไขงงบการเงินของ STARK สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของนักวิเคราะห์และนักลงทุนในฐานะเป็นผู้ใช้ข้อมูล เพราะแม้ว่านักวิเคราะห์จะมีความรอบคอบ และมีระบบการวิเคราะห์ที่รัดกุมเพียงใด ก็ไม่สามารถยืนยันถึงความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากอยู่ในสถานะที่เป็นเพียงผู้ใช้ข้อมูล แต่ไม่เคยมีโอกาสที่จะได้เข้าถึงหลักฐานยืนยันรายการทางบัญชี แต่แนวทางจะร่วมกันป้องกันปัญหา คือต้องหาวิธีที่จะสามารถตรวจทานหลักฐานยืนยันรายการทางบัญชีให้มั่นใจได้มากขึ้น รวมถึงการมีหลักเกณฑ์ให้บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ ต้องมา Opportunity Day หรือการจัดประชุมนักวิเคราะห์อย่างทั่วถึง เพื่อให้ซักถามสอบถามได้โดยตรง และนำข้อมูลต่างๆ ไปวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจ
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ ประธานกรรมการ ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่าที่ผ่านมาที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดในการกลั่นกรองคุณภาพของบริษัทที่จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์ (IPO) เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน รวมถึงกรรมการและผู้บริหารมีคุณสมบัติที่เหมาะสม มีระบบการควบคุมภายในที่ดี แต่ก็มีบางบริษัทที่พอเข้าจดทะเบียนแล้วทัศนคติเปลี่ยนไป อย่างไรก็ดี สมาคมพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย ให้มีมาตรการที่ดีเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน
****สมาคม บลจ.จัดทีมกฎหมายเร่งเอาผิดผู้บริหารSTARK**
นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคม สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ในกรณีของ STARK นั้น ทางส่วนสมาคมฯอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะหาทีมกฎหมายที่จะมาดำเนินการเรียกร้องควาทเสียหายตามที่เกิดขึ้น โดยล่าสุดได้ทางก.ล.ต.ได้นำเสนอมา 2 ราย ก็ขึ้นอยู่กับทางสมาคมฯเองว่าจะใช้ทีมกฎหมายที่ก.ล.ต.เสนอมาหรือจะหาเอง ส่วนเรื่องผู้สอบบัญชีรายเดิมนั้น คงยังสรุปไม่ได้ว่าได้ร่วมกระทำความผิดหรือไม่ ต้องรอผลพิสูจน์ก่อน
ทั้งนี้ สิ่งที่ทางสมาคมฯได้ทำไปนั้น ก็พยายามที่จะทำให้ความเดือดร้อนต่อผู้ลงทุน โดยเราได้ลดน้ำหนักการลงทุนทันทีหลังจากที่ได้ซักถามข้อมูลจากผู้บริหารหลังการยกเลิกการซื้อกิจการในต่างประเทศ และไม่มีความชัดเจนใรการนำเงินไปใข้ต่อไป จึงได้มีการลดโพสิชั่นทันที ก่อนที่จะมีการแจ้งงบการเงินปกติ ทำให้เกิดความเสียหายไม่มากนัก พร้อมกันนั้น ก็จะหารือผู้เกี่ยวข้องเดินหน้าทางกฎหมายต่อไป
"ที่เรารวมตัวกันมาครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยดึงความเชื่อมั่นกลับมาได้ เพราะเป็นการแสดงความแสดงความบริสุทธิ์ โปร่งใส ของแต่ละองค์กร ไม่ได้จะหมกเม็ดหรือปกป้องใคร รวมถึงระดมความคิดว่าใน next step จะไปในทิศทางไหน ก็อยากให้มองว่า ตอนนี้ตลาดทุนไทยมีอยู่เกือบ 800 แห่ง เราเห็นบริษัทที่มีปัญหาเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งมองว่าในโลกนี้ไม่มีตลาดไหนที่เพอร์เฟค มันต้องมีเคสที้ไม่พึงประสงค์ ยกตัวอย่าง ธนาคารพาณิชย์ก็มีเอ็นพีแอลเหมือนกัน ตอนนี้สิ่งที่เราทำคือ ต้องหานักกฏหมายมาดูแลว่าสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น ทางก.ล.ต.ก็ได้เสนอทีมกฎหมายมา2ราย ก็อยู่ระหว่างการคัดเลือก หรืออาจจะคัดเลือกมาเองก็ได้ โดยน่าจะใช้ทีมกฎหมายในประเทศเป็นหลักเนื่องจากมีความคุ้นเคยกับกฎหมายไทยอยู่แล้ว"