xs
xsm
sm
md
lg

เอฟเฟกต์ STARK จี้รื้อเกณฑ์รับ-คุม บจ. ส่งผลค่าฟีหุ้นกู้พุ่ง หวั่นขายไม่หมด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เกมส์ปั่นงบปี65 “สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น” สร้างผลกระทบลูกใหญ่ต่อตลาดทุน ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯและ ก.ล.ต.ถูกถล่มหนัก โทษฐานหละหลวมล่าช้า หลายฝ่ายเรียกร้องสังคายนากฏเกณฑ์ควบคุมบริษัทจดทะเบียนใหม่ ไล่ตั้งแต่การรับเข้าไปจนถึงการเร่งรัดจับตัวผู้กระทำผิด ขณะหลาย บจ.เริ่มรับเอฟเฟกต์ เหตุแบงก์ - บล.ขอปรับราคาค่าบริการจำหน่ายหุ้นกู้ แถมนักลงทุนไม่เชื่อมั่น กดดันต้องขยับดอกเบี้ยเพิ่มและอาจขายไม่หมด คาดอาจลามถึงค่าบริการเพื่อเข้าระดมทุน IPO

ผลพวงการแจ้งงบการเงินประจำปี 2565 ของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่ออกมา สร้างผลกระทบต่อหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ้มผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 10,000 คนที่ตอนนี้มีการรวบรวมรายชื่อยื่นฟ้องแล้วกว่า 1,300 คน หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท รวมไปถึงเจ้าหนี้หุ้นกู้ และกลุ่มผู้ถือหุ้นเพิ่มทุน รวมถึงและผู้ถือหน่วยลงทุนผ่านกองทุนรวม

นอกจากนี้การทุจริตของ STARK กลายเป็นอีกประเด็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยเฉพาะในข้อกฏระเบียบ และข้อกำหนดต่างๆว่า บางกฏ หรือบางข้อกำหนด อาจไม่สามารถรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่สร้างความเสียหายได้มากขึ้นกว่าในอดีตได้ จนเกิดเป็นคำถามในแวดวงตลาดทุน ณ เวลานี้ว่า “ถึงเวลาแล้วหรือยังที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนจะหันมาให้ความสำคัญสะสางข้อกำหนดหรือกฎระเบียบต่างๆให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป”

ต้องยอมรับว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ STARK นั้นมีมูลค่ามหาศาล กว่าหุ้นเน่าๆหลายตัวที่เคยฝากผลงานไว้ในอดีต นั่นเพราะก่อนหน้านั้นหุ้น STARK เคยมีมูลค่าสูงสุดตามราคาตลาดถึงระดับ 5.50 บาทต่อหุ้น ทำให้มีมูลค่าทางการตลาด (มาร์เกตแคป) สูงถึง 73,733 ล้านบาท แต่ล่าสุดถึงวันที่ 24 มิ.ย. ราคาหุ้นลงมาต่ำสุดที่ 0.02 บาท หรือเหลือเพียง 268 ล้านบาท เท่ากับเงินละลายไปกับหุ้นตัวนี้มากถึง 73,600 ล้านบาท

โดยผู้ลงทุนหุ้นสามัญใน STARK ถือเป็นผู้แบกรับความเสียหายมากที่สุด และแทบไม่มีโอกาสได้รับเงินกลับคืน เมื่อเทียบกับเจ้าหนี้มีหลักประกัน เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้หุ้นกู้ที่ยังอาจพอมีหวังได้รับเฉลี่ยหนี้คืนบ้าง แม้ข่าวที่ทยอยออกมาจะช่วยฉายภาพว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่าจะเหลือเศษเพียงเล็กน้อยที่จะถูกนำออกมาจุนเจือให้แก่ผู้ถือหุ้นทั่วไป

คลัง-DSI-สรรพากรเร่งสอบ 

ล่าสุดมีรายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กำชับให้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบความผิดอย่างรวดเร็ว และหากพบความผิด ให้ดำเนินการเอาผิดในทุกกรณีตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่า การดูแลนักลงทุนรายย่อย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาเป็นอันดับแรก

ขณะที่ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้รับกรณีการตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินของSTARK เป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติ การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยการสืบสวนเบื้องต้นมีมูลเชื่อว่า มีการกระทำผิดของกรรมการ หรือ ผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นใด เกิดขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพฤติการณ์มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ ส่วนกรมสรรพากร ระบุจะตรวจสอบการจ่ายภาษีของ บริษัท STARK อย่างละเอียด หลังพบการปลอมแปลงรายได้ของบริษัท

STARK จ่อถูกเพิกถอนเต็มที

สำหรับ STARK จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยเคยเป็นหุ้นที่โดดเด่นด้านผลประกอบการจนติดท็อป 100 ของบริษัทที่มีมูลค่ากิจการ (มาร์เก็ตแคป)ขนาดใหญ่ (หุ้นบิ๊กแคป) อยู่ในดัชนี SET 100 โดยในรอบ 12 เดือน เคยมีมาร์เก็ตแคปสูงถึง 73,733 ล้านบาท มีจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด 11,354 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ถือหุ้นรายย่อย 9,613 ราย คิดเป็นสัดส่วนถือหุ้นของรายย่อย (ฟรีโฟลต) 28.84 %

ที่ผ่านมา STARK มีการออกหุ้นกู้จำนวน 5 รุ่น มูลค่ารวม 9,200 ล้านบาท เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย พบว่า 90 % ถือครองโดยนักลงทุนบุคคลประเภทผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) หรือคิดเป็น 4,521 ราย ที่เหลือเป็นผู้ลงทุนสถาบัน (III) จำนวน 7 ราย (ข้อมูล ณ ไตรมาส 4 ปี 2565)

ส่วนเหตุการณ์ความพังพินาศที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เกิดจากกลโกงมโฬารด้วยการปั้นตัวเลขเทียม และสร้างสตอรี่สวยหรูให้แก่บริษัท ทำให้นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันหลงเชื่อ จากนั้นทำการถ่ายโอนเม็ดเงินออกไปจนไม่สามารถจัดทำงบประจำปี 2565 ได้เสร็จทันกำหนดเป็นเหตุให้ภายหลังการส่งงบประจำปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ฯได้แจ้งว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นปี 2564 (ปรับปรุงใหม่) และปี 2565 ของบริษัทมีค่าน้อยกว่าศูนย์เป็นจำนวน 2,895 ล้านบาท และ 4,415 ล้านบาท ตามลำดับ ส่งผลให้หลักทรัพย์ STARK มีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนตามข้อบังคับ

สรุปเกมส์โยกย้ายเงินออกจาก STARK

ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชี (PwC) ตรวจพบปัญหาการตกแต่งบัญชีหลายรายการ เช่น การสร้างยอดรอเรียกเก็บหนี้จากลูกค้าปลอม ยอดขายปลอม และสร้างรายการจ่ายเงินซื้อสินค้าล่วงหน้า ให้กับบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งผู้บริหารของบริษัทเป็นผู้ถือหุ้น โดยสมอ้างเป็นบริษัทคู่ค้าโดยไม่มีการซื้อขายหรือจ่ายเงินจริง คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 26,816 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน พฤติกรรมการโยกย้ายถ่ายเทเม็ดเงินเกิดขึ้นภายใน 3 บริษัทย่อยของ STARK ได้แก่ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ,บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) และ บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS) เริ่มจาก "เฟ้ลปส์ ดอด์จ" ผู้สอบบัญชีพบว่ามีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริงสูงถึง 24,452 ล้านบาท ตามมาด้วย "อดิสรสงขลา" มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริง 1,045 ล้านบาท และ "ไทย เคเบิ้ลฯ" อีกมูลค่า 689 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านี้ ในช่วง 2 ปีก่อน (2564-2565) ผู้สอบบัญชียังพบว่า มีการตกแต่งบัญชีและโอนเงินให้บริษัทระหว่างกันทั้ง STARK และบริษัทบ่อยรวมถึงบริษัทที่อ้างเป็นคู่ค้าธุรกิจ จนทำให้ STARK มีผลขาดทุนจริงมากกว่า 12,640 ล้านบาท โดยในปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 5,989 ล้านบาท และในปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 6,651 ล้านบาท

จี้ยกเครื่องกฏเกณฑ์ตลาดทุน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเพื่อป้องการการทุจริตที่อาจบานปลายเพิ่มเติมของบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ หลังจาก EARTH หรือ บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด(มหาชน) และ MORE หรือ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน)เพิ่งก่อเหตุสร้างความเสียหายให้ตลาดทุนไทยมาก่อนหน้านี้ จนถึงกรณีของ STARK ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ตลาดทุนจะต้องยกเครื่องครั้งใหญ่ เนื่องจากมองว่ามาตรการลงโทษหรือมาตรการกำกับของตลาดทุนยังไม่ดีเท่าที่ควร

โดยเฉพาะการจัดการปัญหาที่หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่ามีความล่าช้า โดยเฉพาะขั้นตอนการปฏิบัติ รวมถึงบทลงโทษที่ดูเหมือนเบาบางเกินไป จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนจะต้องไปพิจารณาว่า กฎเกณฑ์ข้อใดควรมีการปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณเช่นนี้ขึ้นอีก และควรที่จะนำคนผิดมาลงโทษได้อย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายพุ่งเป้าไปที่กระบวนการตรวจสอบข้อมูลของตลาดทุนว่ามีจุดอ่อน ทำให้เกิดช่องโหว่ที่เปิดช่องให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทำการทุจริต และเพื่อยับยั้งความเสียหาย หน่วยงานที่กำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต. ต้องประสานการทำงานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ( ปปง.) และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำคดีอย่างรวดเร็วมากขึ้นกว่านี้

แผนฟื้นฟูต้องมา หลังจับคนผิด

อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดในเวลานี้ คือเกมส์ยื้อเวลาของ STARK เพื่อรีดทุกหยดออกไป นั่นเพราะเมื่อพบการกระทำผิดเกิดขึ้น จนนำไปไปสู่การสอบสวน และกระบวนการติดตามความเสียหาย แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่ STARK จะพยายามผลักดันให้ผู้สอบบัญชีรับรอง special audit จากนั้นดำเนินการยื่นต่อศาลล้มละลายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ แม้จะเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถตรวจสอบให้แน่ใจว่า STARK มีมูลหนี้และเจ้าหนี้กี่รายที่มีสิทธิเรียกร้อง ขณะเดียวกันผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการก็อาจจะมีการตัดขายหรือจำหน่ายสินทรัพย์บางส่วนออกไปตกถึงมือผู้อื่นทางอ้อม จนทำให้ผู้ที่ได้รัยความเสียหาย ทั้งรายย่อยและกองทุนเสียประโยชน์

เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า สินทรัพย์ที่ STARK ถืออยู่ผ่านบริษัทย่อยไม่ใช่ของขี้เหร่ แต่เป็นของที่มีศักยภาพ เช่นโรงงานต่าง ๆ ของบริษัท ดังนั้นหน่วยงานที่กำกับดูแลควรจัดการเรื่องฉ้อโกงที่เกิดขึ้นภายในบริษัทให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะปล่อยให้ STARK เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ

ผู้สอบบัญชีมีเอี่ยวหรือไม่?

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีของ STARK นั้น ถือเป็นการรวบรวมวิชามารในตลาดหุ้นสารพัดรูปแบบ นำมาใช้ในการปล้นเงินออกไปจากบริษัท เริ่มตั้งแต่แต่งบัญชี สร้างยอดขายเท็จ สร้างลูกหนี้เทียม สร้างธุรกรรมการซื้อขายสินค้าที่มีการส่งมอบจริง แสดงผลกำไรที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงหลายปีติดต่อ

ไม่เพียงเท่านี้ ยังทำได้อย่างแยบยลด้วยการยอมจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มกว่า 600 ล้านบาท เพี่อไม่ให้กรมสรรพากรตรวจสอบรายการซื้อสินค้าที่มีการชำระราคา แต่ไม่มีการส่งสินค้า จนทำให้กำไรสะสม เมื่อสิ้น 30 กันยายน 2565 ที่มีกว่า 7,000 ล้านบาท เกิดการโยกย้ายผ่องถ่ายทรัพย์ออกไป รวมไปถึงเม็ดเงินเพิ่มทุนและเงินกู้กว่า 14,000 ล้านบาท ที่หายไปแบบไร้ร่องรอย ภายในเวลาไม่กี่เดือน เป็นเหตุให้ STARK เหลือแต่ซาก ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบกว่า 4,000 ล้านบาท และบริษัทตกอยู่ในฐานะล้มละลาย

สิ่งที่น่าสนใจ จากประเด็นดังกล่าว แหล่งข่าวมองว่า การฉ้อโกงไม่ได้ขึ้นเมื่อปี2565 แต่เริ่มมาก่อนหน้านั้นแล้ว ดังนั้นผู้ตรวจสอบบัญชี มีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ และทำไมสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ที่ปล่อยกู้รายใหญ่ให้ STARK จึงได้รับชำระคืนหนี้ เพราะงบไตรมาสที่ 3 ปี 2565 หนี้สถาบันการเงินยังค้างชำระอยู่ประมาณ 6 พันล้านบาท แต่กลับเหลือยอดค้างชำระเพียงไม่กี่ร้อยล้านบาท

“ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ตระหนักในความ ผิดพลาด ความหละหลวม ความล้มเหลวในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนหรือไม่ เพราะตอนนี้นอกจาก STARK จะอยู่ในสภาพล้มละลาย หน่วยงานที่กำกับดูแลก็อยู่ในสภาพไม่ต่างกัน นั่นคือ ล้มละลายในความเชื่อถือ จากการปกปองนักลงทุนที่ล้มเหลว”

ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องไม่ปล่อยผ่านในเรื่องนี้ แต่ต้องตระหนักว่า หายนะของประชาชนผู้ลงทุนทั้งหุ้นกู้และหุ้นสามัญ เป็นตราบาปที่ต้องแก้ไข เพราะหายนะที่เกิดขึ้น เป็นเพราะกฎเกณฑ์การควบคุมบริษัทจดทะเบียนอ่อนแอ ขาดประสิทธิภาพ ระบบการตรวจสอบมีช่องโหว่ จึงต้องยกเครื่องให้เข้มข้น โดยอย่ากลัวผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียน แต่จงกลัวหายนะที่จะเกิดกับประชาชนผู้ลงทุน

“ผู้บริหาร ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องถอดเกราะกำบังป้องกันตัวเอง เลิกอ้างข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบใดๆ เป็นขีดจำกัดการทำงานหรือแก้ไขปัญหา เลิกอ้างผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด เพื่อไม่ต้องออกกฎเกณฑ์หรือมาตรการกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้น เพราะบริษัทจดทะเบียนที่ดี มีความโปร่งใส ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล ทำไมต้องกลัวกฎระเบียบที่เคร่งครัด จะมีแต่บริษัทจดทะเบียนเน่าๆ และผู้บริหารบริษัทฯ ที่สวมคราบโจรเท่านั้นที่กลัวผลกระทบ”

ดังนั้น ควรตรวจสอบ กลั่นกรองอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ยื่นแบบไฟลิ่ง หรือแบบแสดงรายการข้อมูลขอเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก และพิจารณาอย่างเข้มข้น ก่อนอนุมัติรับเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น เพราะทุกธุรกรรมของบริษัทจดทะเบียนที่มีผลต่อราคาหุ้น ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ จะต้องสอดส่องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าพฤติกรรมการสร้างข่าวดีของผู้บริหารจดทะเบียน การตั้งบริษัทลูก การทำรายการที่เกี่ยวโยง การซื้อและขายทรัพย์สิน การลงทุนในต่างประเทศ หรือแม้แต่การซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติ

“ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ ต้องหารือเพื่อรื้อระบบการทำงานและกฎเกณ์การควบคุมดูแลตลาดทุนครั้งใหญ่ ต้องมีความกระฉับกระเฉง เฉียบขาด รวดเร็วทันเหตุการณ์ และอย่าเกรงกลัวผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไม่ว่าหน้าไหน แต่ต้องกล้าดำเนินทุกมาตรการเด็ดขาด เพื่อปกป้องประชาชนผู้ลงทุน”

ตลาดหุ้นกู้อ่วม STARK ทำต้นทุนพุ่ง

ล่าสุดจากกรณีของ STARK เริ่มส่งผลให้ตลาดเกิดความหวาดระแวงไม่เชื่อมั่นในข้อมูล ตัวเลขงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่เปิดเผยออกมา นั่นทำให้ต้นทุนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนต่อจากนี้

หลายฝ่ายมองว่า เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เมื่อนักวิเคราะห์ หรือบริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง ผู้จัดการกองทุน ไม่สามารถเชื่อถือข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่เปิดเผยออกมาได้ ก็จะทำให้มีการบวกเพิ่มค่าธรรมเนียมความเสี่ยงเข้าไป จนต้นทุนทางการเงินต่าง ๆ สูงขึ้น ไม่เพียงเพียงแต่การระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้นกู้เท่านั้น เหตุการณ์ของ STARK ยังส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนอื่นๆ ยากลำบากต่อการเข้าถึงแหล่งทุน รวมไปถึงการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์) หรือการระดมทุนในรูปแบบอื่นๆ

มีรายงานว่า การออกหุ้นกู้เพิ่มระดมทุนขยายกิจการของบริษัทจดทะเบียนเริ่มมีปัญหา นั่นเพราะทุกบริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจ่ายต้นทุนดอกเบี้ยแพงขึ้นเพราะความไม่เชื่อมั่นต่อข้อมูลที่อาจทำให้ผู้จัดจำหน่ายและนักลงทุนมีความเสี่ยงสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ยังรวมไปถึงค่าบริการ และค่าทำธุรกรรมต่างที่บริษัทจดทะเบียนต้องจำใจแบกรับต้นทุนเหล่านี้ไปในด้วย กล่าวได้ว่ากรณีของ STARK นั่นคือ “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งเข่ง”

ปัจจุบันพบว่าดอกเบี้ยหุ้นกู้ในทุกเรตติ้งขยับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 0.10 – 0.25% และ “หุ้นกู้ไฮยีลด์” หรือ หุ้นกู้ประเภทเครดิตเรตติ้งต่ำ ความเสี่ยงสูง และผลตอบแทนสูง ตอนนี้ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เพราะเห็นสัญญาณขายหุ้นกู้ไม่หมด กำลังซื้อถดถอย ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีรายงานว่า บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักในหุ้นกู้ประเภทนี้ ตอนนี้หลายแห่งเริ่มเข้มงวดในการตรวจสอบมากขึ้น เนื่องจากไม่อยากแบกรับความเสี่ยงไว้สูง ทำให้มีการปฏิเสธการจัดจำหน่ายมากขึ้น

ขณะเดียวกัน คาดว่าต่อจากนี้การออกหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนจะต้องมีการคิดค่าบริการเพิ่ม ตามอันดับความน่าเชื่อถือ และความเสี่ยงอื่น ๆ เพื่อแลกกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แม้ว่าบริษัทจดทะเบียนเหล่านั้นจะมีการจัดเรตติ้งที่ระดับ BBB+ ขึ้นไปก็ตาม เพราะมีตัวอย่างที่ไม่ควรมองข้ามอย่าง STARK ซึ่งตอนนั้นหุ้นกู้ STARK มีเรตติ้ง BBB+ และได้ทำการทุจริตภายในจนเกิดปัญหาใหญ่โตในปัจจุบันนี้

“เรื่องที่เกิดขึ้นกับ STARK มันมีผลเชิงจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นของหุ้นในตลาดทั้งหมด เรามองว่าต่อจากนีั้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่เกิดขึ้นเพียงการเสนอขายหุ้นกู้ที่ยากขึ้น ต้นทุนค่าบริการที่สูงขึ้น หรือการขอสินเชื่อแบงก์ แต่มันจะลามไปถึงการระดมทุนขายหุ้นไอพีโอด้วย ดังนั้นต้องติดตามดูว่าหุ้นกู้ที่กำลังเปิดขายหรืออยู่ระหว่างการจัดจำหน่ายในช่วงนี้จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากน้อยเพียงใด เพราะมันกระทบไปแล้วทั้งหมด การพิจารณาข้อบังคับ ข้อกำหนด หรือกฏเกณฑ์ในการควบคุมบริษัทจดทะเบียนแบบยกเครื่องน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้”

นอกจากนี้ มีรายงานว่า การรวมตัวของผู้ลงทุนรายย่อยที่เข้าลงทุนหุ้น STARK ที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยเปิดให้ร่วมลงชื่อผ่านลิงก์ในฐานะผู้เสียหายว่า ล่าสุด วันที่ 24 มิถุนายน มีผู้ลงทุนเข้าร่วมลงชื่อแล้วจำนวน 1,352 คน วงเงินความเสียหายรวมกัน 2,500 ล้านบาท จากผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้งหมดราว 11,000 คน คิดเป็นสัดส่วนที่มีผู้ประสงค์จะดำเนินคดีแล้วไม่น้อยกว่า 10% ของผู้เสียหายทั้งหมด โดยจะเปิดให้ลงชื่อจนถึงวันที่ 25 มิถุนายนนี้ เป็นวันสุดท้าย และจะปิดรับการลงชื่อในเวลา 24.00 น. จากนั้นจะรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายทั้งหมดให้กับทนายความเพื่อดำเนินคดีฟ้องร้องแบบคดีกลุ่ม โดยมีตัวแทนเหยื่อผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีกลุ่ม แทนผู้เข้าชื่อร้องเรียนทั้งหมด ทั้งนี้ จะดำเนินคดีทั้งทางอาญาและแพ่งต่อผู้กระทำความผิดต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น