xs
xsm
sm
md
lg

STARK ถูกปล้น...ก.ล.ต.-ตลท.ตกเป็นจำเลย (1) / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



งบการเงินประจำปี 2565 ซึ่งเพิ่งแจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เปิดโปงขยะที่ถูกซุกไว้อยู่ใต้พรม บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK แทบทุกซอกมุม

ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้โกงสะบั้นหั่นแหลก และแผนการโกงเตรียมการมานานหลายปี

หรืออาจเริ่มตั้งแต่ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฯ เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 2.15 หมื่นล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 60 สตางค์ ทำให้นายวนรัชต์ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน STARK สัดส่วน 95% ของทุนจดทะเบียน เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2562 ทีเดียว

วิชามารในตลาดหุ้นสารพัดรูปแบบถูกนำมาใช้ในปฏิบัติการปล้น STARK โดยการแต่งบัญชี สร้างยอดขายเท็จ สร้างลูกหนี้เทียม สร้างธุรกรรมการซื้อขายสินค้าที่มีการส่งมอบจริง แสดงผลกำไรที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงหลายปีติดต่อ

และแหกตาทุกฝ่ายอย่าง “เนียนกริ๊บ” โดยยอมจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มกว่า 600 ล้านบาท เพี่อไม่ให้กรมสรรพากรตรวจสอบรายการซื้อสินค้าที่มีการชำระราคา แต่ไม่มีการส่งสินค้า

บริษัทจดทะเบียนที่แสดงผลกำไรหลายปีติดต่อ มีกำไรสะสมเมื่อสิ้น 30 กันยายน 2565 ประมาณ 7,849 ล้านบาท มีหนี้สถาบันการเงินประมาณ 6 พันล้านบาท แต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เกิดการโยกย้ายผ่องถ่ายทรัพย์จำนวนประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทออก

ภายในเวลาไม่กี่เดือน ช่วงปลายปี 2565 เงินถูกหอบออกไปเกือบเกลี้ยง จน STARK เหลือแต่ซาก ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบกว่า 4 พันล้านบาท บริษัทตกอยู่ในฐานะล้มละลาย

นวนิยายลวงโลกที่ถูกแต่งโดยผู้บริหาร STARK มายาวนานประมาณ 3 ปี ถูกตีแผ่ และแท้ที่จริงแล้ว ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้มีแต่ “ลม” ขณะที่ฐานะทางการเงินกลวงโบ๋

เงินที่ถูกสูบเข้าไปเกิดจากการต้มตุ๋นอย่าง “เนียนกริ๊บ” ทั้งราคาหุ้นที่ถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 5.10 บาท โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือ นายวนรัชต์ เพราะทยอยขายหุ้นออกต่อเนื่อง

และถอนเงินลงทุนไปหมดแล้ว พร้อมกำไรมหาศาล ปล่อยให้นักลงทุนรายย่อยต้องวอดวายไปประมาณ 1 หมื่นชีวิต

ส่วนเงินที่ถูกไซฟ่อนออกประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท เป็นเงินจากการออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,500 ล้านหุ้น ขายให้บุคคลในวงจำกัด 12 ราย ในราคาหุ้นละ 3.72 บาท เมื่อเดือนตุลาคม 2565 วงเงินรวม 5,580 ล้านบาท

และเงินจากการออกหุ้นกู้จำนวนประมาณ 9.1 พันล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นกู้จำนวนประมาณ 5 พันชีวิต หมดเนื้อหมดตัว เพราะโอกาสได้รับชำระหนี้คืนแทบเป็นศูนย์

คำถามที่ล่องลอยอยู่ในสายลมขณะนี้คือ ผู้ตรวจสอบบัญชีมีส่วนรู้เห็น ร่วมสมคบกับกลุ่มอาชญากรจิตใจอำมหิตของ STARK หรือไม่

และทำไมสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ที่ปล่อยกู้รายใหญ่ให้ STARK จึงได้รับชำระคืนหนี้ เพราะงบไตรมาสที่ 3 ปี 2565 หนี้สถาบันการเงินยังค้างชำระอยู่ประมาณ 6 พันล้านบาท แต่กลับเหลือยอดค้างชำระเพียงไม่กี่ร้อยล้านบาท

มีการชำระหนี้ทั้ง 2 แบงก์เมื่อไหร่ และข้อตกลงพิเศษหว่าง STARK กับธนาคารเจ้าหนี้หรือไม่

ส่วนแก๊งโกงใน STARK นอกเหนือจากอดีตผู้บริหารบริษัทที่หอบเงินนับหมื่นล้านบาท เผ่นหนีออกนอกประเทศไปแล้ว แต่ยังมีผู้บริหารคืนอื่นที่ยังอยู่ร่วมก่ออาชญากรรมด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะนายวนรัชต์

และโศกนาฏกรรมอย่าง STARK จะเกิดซ้ำรอยอีกหรือไม่

แต่คำถามที่มีความสำคัญยิ่งคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ตระหนักในความผิดพลาด ความหละหลวม ความล้มเหลวในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนหรือไม่

ตระหนักในความพ่ายแพ้ราบคาบกลุ่มโจรในตลาดหุ้น จนประชาชนผู้ลงทุนนับหมื่นๆ ชีวิตต้องล่มสลายหรือไม่

ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ ล้มละลายในความเชื่อถือแล้ว ต้องตกเป็นจำเลยสังคม จากภารกิจปกป้องนักลงทุนที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ก.ล.ต.คิดจะปรับปรุงตัวบ้างหรือยัง คิดจะยกเครื่ององค์กรของตัวเองบ้างหรือเปล่า หรือจะรอคอยให้เกิด STARK ภาค 2 ภาค 3 ต่อไป โดยไม่รู้สึกร้อนหนาวกับเสียงประณามจากสังคม

(พรุ่งนี้อ่าน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ ต้องไม่ใช้ข้อจำกัดของกฎระเบียบ หรือกฎหมายที่มีอยู่เป็นเกราะกำบังตัวเองจากการทำงานที่ผิดพลาดล้มเหลว)








กำลังโหลดความคิดเห็น