xs
xsm
sm
md
lg

KBank Private Banking คาดเศรษฐกิจโลกเติบโตดีในระยะยาว แนะกระจายการลงทุน-สินทรัพย์นอกตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier จัดงานสัมมนาในหัวข้อ Beyond the Numbers : Decoding the Economic Outlook ประเมินเศรษฐกิจโลกยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายระยะสั้น ทั้งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง แต่ยังมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีในระยะยาว แนะกลยุทธ์ปรับพอร์ตรับมือความท้าทาย และรอคว้าโอกาสที่กำลังจะมาถึง ชูกองทุนผสมแบบ Risk-Based และสินทรัพย์ทางเลือกโดยเฉพาะสินทรัพย์นอกตลาด ทั้งหุ้นนอกตลาด ตราสารหนี้นอกตลาด และอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับโจทย์ในระยะกลางถึงยาว แต่สถานการณ์ด้านการเมืองในประเทศอาจส่งผลให้รัฐบาลต้องให้น้ำหนักไปที่โจทย์เฉพาะหน้ามากกว่า คงตัวเลข GDP ไทยปีนี้อยู่ที่ 3.7%

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 
เปิดเผยว่า ครึ่งแรกของปี 2566 กำลังจะผ่านไป พบว่าเป็นอีกปีที่แวดวงการลงทุนต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจทั่วโลก ภาวะเงินเฟ้อที่แม้จะอยู่ในขาลง แต่ยังไปไม่ถึงเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรป รวมไปถึงเรื่องดอกเบี้ยนโยบายที่ยังไม่แน่นอนว่าผ่านจุดสูงสุดไปหรือยัง ความท้าทายเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสถานการณ์ของตลาดการลงทุนในปัจจุบันให้มีความผันผวนสูง ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นอย่างหนัก นอกจากนี้ ผลการประชุมของธนาคารกลางประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลกอย่าง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.0-5.25% ตามตลาดคาด แต่คาดว่าอาจมีโอกาสปรับขึ้นอีก 1-2 ครั้งภายในปีนี้ แสดงให้เห็นว่า “หยุดชั่วคราว” แต่ยัง “ไม่สิ้นสุด” ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็นการปรับขึ้นติดต่อกันครั้งที่ 8 ในขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย เหนือความคาดหมายของตลาด เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่า นโยบายการเงินที่แตกต่างมีผลต่อความเคลื่อนไหวตลาดที่ทำให้นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับประเด็นเชิงโครงสร้าง หรือโจทย์ในระยะกลางถึงยาว เช่น ในอีก 8 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจำนวนกว่าร้อยละ 20 จะมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปี ซึ่งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลกระทบทั้งต่อตลาดแรงงาน การบริโภคของครัวเรือน และฐานะการคลังของรัฐบาล นอกจากนี้ ความคืบหน้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของไทยล่าช้ากว่าที่ได้สัญญาไว้ ในขณะที่ประเทศไทยเองถูกประเมินว่าเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่จะได้กระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลกมากที่สุด โดยในกรณีดีสุด หากอุณภูมิโลกเพิ่มต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ผลกระทบสะสมต่อ GDP ไทยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ภายในปี 2591

ด้านการเมืองในประเทศ อาจส่งผลให้รัฐบาลต้องให้น้ำหนักไปที่โจทย์เฉพาะหน้า เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การปรับลดค่าไฟฟ้า การอัดฉีดเงินโดยตรงแก่ประชาชน การแก้ไขหนี้ครัวเรือน การให้ความช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีมากกว่าการแก้ไขประเด็นเชิงโครงสร้างต่างๆ เช่น การปรับขึ้นภาษี การต่อต้านการผูกขาด นอกจากนี้ การขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อยอดหนี้สาธารณะของรัฐบาล รวมไปถึงการจัดทำงบประมาณในอนาคตข้างหน้า ในขณะที่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วางไว้ คงจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ในที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาคงจะหนีไม่พ้นการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2566 อยู่ที่ 3.7%

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในครึ่งหลังของปี 2566 Lombard Odier ได้ให้มุมมองว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในระยะสั้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลง และมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีในระยะยาวจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ส่งให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกำลังจะถึงจุดสูงสุด และการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดี จึงได้แนะนำ 5 กลยุทธ์การลงทุนในครึ่งหลังของปี 2566 ดังนี้ รักษาสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่โหมดชะลอตัว ทำให้คาดการณ์ว่าบอนด์ยีลด์กำลังผ่านจุดสูงสุดแล้ว เน้นลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง หรือ Investment Grade มุ่งเน้นลงทุนในหุ้นประเทศพัฒนาแล้วนอกเหนือจากตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากมูลค่า (Valuation) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในเกณฑ์แพง กระจายลงทุนในหุ้นหลายประเทศทั่วโลก ลดการกระจุกตัวในประเทศใดประเทศหนึ่ง และกระจายลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่น โดยเฉพาะสินทรัพย์นอกตลาด (Private Assets) ซึ่งรวมถึงหุ้นนอกตลาด ตราสารหนี้นอกตลาด และอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด โดยในช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจเช่นนี้ถือเป็นโอกาสที่จะเข้าลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ในราคาที่น่าดึงดูด

**รับกองทุนที่เป็นหุ้นไทยมีหุ้น STARK เล็กน้อย**
ด้าน น.ส.ศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director - Financial Advisory Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า กองทุนนอกที่ธนาคารเสนอขายให้ลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งไม่มีการลงทุนในหุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ส่วนกองทุนที่เป็นหุ้นไทยมีสัดส่วนลงทุนในหุ้น STARK อยู่บ้างแต่เป็นในสัดส่วนที่น้อย ด้วยกองทุนมีการกระจายความเสี่ยงไม่กระจุกในหุ้นใดหุ้นหนึ่ง ทำให้กระทบต่อผลตอบแทนน้อย ที่ผ่านมาสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (AIMC) และบริษัทสมาชิกได้มีการหารือกับธนาคารเกี่ยวกับประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

"เรื่องการลงทุนนักวิเคราะห์ทำการศึกษากับข้อมูลที่ได้มา วิเคราะห์บนตัวเลขที่มีการรับรองมาแล้ว แต่เรื่องฉ้อโกงเป็นเรื่องที่วิเคราะห์ยาก จากกรณี STARK ทำให้ชี้ให้เห็นว่า การกระจายการลงทุนช่วยลดความเสี่ยงให้นักลงทุนได้มาก และการที่ STARK อยู่ใน SET100 มาก่อน ทำให้นักลงทุนกังวลในการลงทุนหุ้นกลุ่มดังกล่าว ที่ผ่านมาธนาคารไม่แนะนำลงทุนในกองทุนรวมแบบ Passive Fund หรือ Index Fund ที่เกี่ยวเนื่อง SET50/SET100 แต่แนะนำลงทุนในกองทุนรวม Active Fund ที่เป็นการบริหารแบบเชิงรุกมากกว่า เพราะกองทุนนี้มีการปรับพอร์ตและกระจายการลงทุน"
กำลังโหลดความคิดเห็น