ตลาดหุ้นเอเชียเปิดลบในวันนี้ โดยเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปิดอ่อนแรงลงเมื่อวันศุกร์ (16 มิ.ย.) เนื่องจากการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) 2 รายได้ทำลายความหวังที่ว่า เฟดใกล้ที่จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุก ขณะที่ดัชนีนิกเกอิของตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 33 ปี
ทั้งนี้ ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดภาคเช้าที่ระดับ 19,983.40 จุด ลดลง 56.97 จุด หรือ -0.28% ขณะที่ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตเปิดภาคเช้าที่ระดับ 3,271.16 จุด ลดลง 2.17 จุด หรือ -0.06% และดัชนีนิกเกอิเปิดตลาดที่ระดับ 33,768.69 จุด เพิ่มขึ้น 62.61 จุด หรือ +0.18%
นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ผู้ว่าการเฟดเตือนว่า เงินเฟ้อพื้นฐานจะยังไม่ลดลงตามที่เขาคาดไว้ ขณะที่นายโทมัส บาร์กิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ กล่าวว่า เขาสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เมื่อพิจารณาจากการที่เงินเฟ้อยังไม่ลดลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
นักลงทุนเอเชียจับตาธนาคารกลางจีนเตรียมแถลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี และ 5 ปี ในวันพรุ่งนี้ (20 มิ.ย.) หลังปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำคัญบางประเภทไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ทั้งประเภท 1 ปีและ 5 ปีในวันพรุ่งนี้ หลังจากที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนลง 0.10% สู่ระดับ 2.65% จากระดับ 2.75% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
อัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีของจีนเป็นดัชนีวัดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคเอกชน ส่วนอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีเป็นดัชนีวัดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของภาคครัวเรือน ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเพื่อการกู้จำนอง
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อยู่ระหว่างเยือนกรุงปักกิ่ง เพื่อพลิกฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีกำหนดปิดทำการในวันนี้ (19 มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น เนื่องในวันวันประกาศอิสรภาพแห่งชาติจูนทีนท์ (Juneteenth)
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีหลักทั้ง 3 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ หลังปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงต้นสัปดาห์ โดยในสัปดาห์ดังกล่าวเฟดมีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกัน 10 ครั้ง
ดัชนี S&P500 ขยับลง 0.37% และดัชนี Nasdaq Composite ร่วง 0.68% แต่ยังคงปรับขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายสัปดาห์ ส่วนดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 0.32% แต่ปรับขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 เมื่อเทียบเป็นรายสัปดาห์