ส่องงบการเงินปี65 “สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น” หลังแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อช่วงเย็น 16 มิ.ย. พบขาดทุนบักโกรก 6.6 พันล้านบาท ส่งผลให้ส่วนของเจ้าของติดลบ 4.4 พันล้านบาท หนำซ้ำงบปี 64 ยังแต่งเติมรายได้-กำไรสวยหรู ขณะความจริงขาดทุนยับ 5.9 พันล้านบาท รวม 2 ปีขาดทุนถึง 1.26 หมื่นล้านบาท ผู้ตรวจสอบบัญชีประกาศ “ไม่แสดงความเห็น” เหตุถูกจำกัดการเข้าถึงข้อมูล หลังพบพิรุธปั่นรายจ่าย-รายรับไม่ส่งสินค้าตามจริง พร้อมโอนเงินก้อนใหญ่ให้บริษัทย่อยของหนึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้าน ก.ล.ต.เตือนนักลงทุนระมัดระวัง เตรียมประสานทุกหน่วยงานไล่บี้คนทำผิด
หลังจากที่รอคอยมานาน เมื่อเย็นวันที่ 16 มิ.ย. บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) ได้ส่งงบประจำปี 2565 ให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยรายงานว่าขาดทุน 6,612.13 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.5393 บาท เป็นผลให้ส่วนของเจ้าของติดลบ 4,404 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษัทมีการแก้ไขงบประจำปี 2564 อย่างมีนัยสำคัญ โดยพลิกจากเดิมที่มีกำไร 2,794 ล้านบาท เปลี่ยนเป็น ขาดทุน 5,989 ล้านบาท หรือขาดทุนต่อหุ้น 0.501 บาท และส่วนของเจ้าของ จากเดิม 6,591 ล้านบาท แก้ไขเป็น 2,844 ล้านบาท ด้านผู้สอบบัญชีพบตัวเลขที่ผิดปกติงบงบประจำปี 2564 หลายประการ อาทิ ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น จากเดิม 15,570 ล้านบาท แก้ไขเป็น 6,306 ล้านบาท ,รายได้จากการขาย จากเดิม 25,217 ล้านบาท แก้ไขเป็น 17,486 ล้านบาท ส่งผลให้ในรอบ 2ปี (2564 – 2565 ) STARK มีการขาดทุนถึง 12,640 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมสำหรับงบประจำปี 2565 ของ STARK นั่นคือกรณีผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและรับรองบการเงินโดย “ไม่แสดงความเห็น” ด้วยเหตุที่ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อความสามารถในการเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง (Going Concern) ของกลุ่มบริษัทฯ อีกทั้งบ่งชี้ว่า ผู้สอบบัญชีถูกจำกัดการเข้าถึงแหล่งข้อมูลของบริษัท จนไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะตรวจสอบว่างบการเงินนี้ถูกต้อง
จัดประเภทเงินกู้มั่ว-หุ้นกู้พ่นพิษทุนหาย
จากข้อมูลระบุว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 กลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวม 6,628 ล้านบาท และมีส่วนของเจ้าของติดลบ 4,404 ล้านบาท โดยหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้การค้า เงินกู้ยืมระยะสั้น เงินกู้ยืมระยะยาวและหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี ซึ่งหนี้สินระยะสั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดประเภทเงินกู้ยืมระยะยาวเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น เนื่องจากอัตราส่วนทางการเงินบางรายการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้ระยะยาวและหนังสือชี้ชวนหุ้นกู้
ขณะที่ในเดือน พ.ค.66 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ หมายเลข STARK239A และ STARK249A ซึ่งมีเงินต้นคงค้างรวม 944 ล้านบาท มีมติอนุมัติเรียกให้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้หุ้นกู้ทั้งหมด ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้วงเงินทุนหมุนเวียนและจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากสถาบันการเงิน ทำให้ทางกลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหา และด้วยหนี้สินของกลุ่มบริษัทฯ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนที่เป็นสาระสำคัญ จึงอาจเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยต่อความสามารถในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทฯ
Special audit ชี้หลายรายการปั้นแต่ง
ในวันเดียวกัน (16มิ.ย.) STARK สรุปผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ระยะแรกว่า บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ เอบีเอเอส จำกัด ทำการตรวจสอบครอบคลุมรายการผิดปกติที่เกี่ยวข้องบัญชีลูกหนี้การค้าที่ได้รับหนังสือยืนยันยอด (A/R confirmation) ที่แตกต่างกัน โดยพบว่ามีเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าที่จำนวนเงินสูงผิดปกติ นอกจากนี้พบว่าบริษัทมีเอกสารแจ้งหนี้ (invoices) ที่มีมูลค่าและจำนวนมากเป็นพิเศษในช่วงสิ้นงวด รวมถึงสินค้าคงคลังสูญหาย และรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ที่ไม่ถูกต้อง โดยสามารถแบ่งปัญหาที่ได้เกิดขึ้นได้ดังนี้
(ก) ยอดขายที่ผิดปกติ ผู้ตรวจสอบพิเศษตรวจพบรายการขายผิดปกติ 202 รายการ คิดเป็นมูลค่าขาย 8,063 ล้านบาท และ 3,593 ล้านบาท ในปี 2565 และปี 2564 ตามลำดับ โดยตรวจพบจากการสอบยืนยันยอดที่ถูกต้องกับลูกค้า การตรวจสอบการรับชำระเงิน ลักษณะการจ่ายเงินที่ไม่ปกติ การปลอมแปลงชื่อผู้จ่ายเงิน และการจ่ายเงินจากบัญชีของอดีตเจ้าหน้าที่ของบริษัทแทนลูกค้า
(ข) มียอดสินค้าคงเหลือที่ผิดปกติ พบว่า ณ วันสิ้นงวด มีรายการสินค้า (stock items) ประกอบด้วย รายการสินค้าระหว่างทำ (WIP) วัตถุดิบ (RM)และสินค้าสำเร็จ (FG) มียอดติดลบในระบบสารสนเทศ (ERP) ของบริษัท 3,140 รายการ
(ค) รายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ถูกจัดทำอย่างไม่ถูกต้อง โดยเมื่อทำรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้จากข้อมูลในระบบ SAPเทียบกับรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ที่ทางฝ่ายจัดการ (เดิม) ส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชี พบว่า มีการคำนวณระยะเวลาคงค้าง (outstanding days) ที่แตกต่างกัน ส่งผลทำให้อายุของลูกหนี้ในทุกระยะเวลา (aging range) ในรายงานเดิมต่ำกว่าหรือระยะคงค้างน้อยกว่าความเป็นจริง และเมื่อสอบทานย้อนกลับพบว่าความผิดปกติดังกล่าวได้เกิดขึ้นในทุกไตรมาสของปี 65 ที่ผ่านมา
จ่ายเงินซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า 8 พันล.
(ง) เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า (advance payments)ผิดปกติ โดยมีเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 พบว่าบริษัทได้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าล่วงหน้าโดยการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย ผู้ขายวัตถุดิบในต่างประเทศ (key RM vendor/supplier)ในสกุลเงินบาทเป็นเงินถึง 7,976 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ในอดีตย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยจ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้ามากเช่นนี้มาก่อน
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ รายงานของผู้สอบบัญชีระบุว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 15,134 ล้านบาท และขาดทุนสะสม 14,999 ล้านบาท กลุ่มกิจการมีผลขาดทุนสุทธิรวม 6,651 ล้านบาท และขาดทุนสะสมรวม 10,379 ล้านบาท มีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวม 6,628 ล้านบาท และส่วนของเจ้าของรวมติดลบ 4,404 ล้านบาท หนี้สินหมุนเวียนรวมดังกล่าวส่วนใหญ่ประกอบด้วย เจ้าหนี้การค้า เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน 897 ล้านบาท
พบบริษัทลูกพฤติกรรมตุกติก
นอกจากนี้ในระหว่างการปฏิบัติงานตรวจสอบงบการเงินรวมของกลุ่มกิจการในปี 65 ผู้ตรวจสอบ พบประเด็นผิดปกติต่าง ๆ ในงบการเงินของ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท อดิสรสงขลา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ที่ได้ลงบันทึกรายการบัญชีที่ขัดต่อข้อเท็จจริงและเป็นจำนวนเงินที่มีนัยสำคัญอย่างมาก เป็นเหตุที่แสดงถึงพฤติการณ์อันควรสงสัยในเรื่องการดำเนินงานของกลุ่มกิจการซึ่งไม่เป็นไปตามปกติธุรกิจ รายละเอียดดังต่อไปนี้
1.ความผิดปกติในงบการเงินของ “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 มียอดลูกหนี้การค้าคงค้างเป็นจำนวนมาก ซึ่ง“เฟ้ลปส์ ดอด์จ” ได้ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ทำให้มีการรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริง 5,005 ล้านบาทในปี 65 รวมถึงรายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริง 923 ล้านบาทในปี 64 และรายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริง 97 ล้านบาท ก่อนปี 64
พร้อมกันนี้ ยังตรวจพบว่า มีรายการขายหลายรายการให้แก่ลูกหนี้การค้าหลายราย รวม 1,890 ล้านบาท ซึ่งบันทึกภายในเดือน ธ.ค.65 ซึ่งโดยปกติแล้ว “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” จะให้กำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้ (credit terms) 60 ถึง 90 วัน แต่รายการไม่เป็นไปตามปกติ เนื่องจาก “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” ได้ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ส่งผลให้มีการรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้าในปี 65 สูงเกินจริงเป็นเงิน 1,890 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังพบว่าเงินก็ไม่ได้มาจากลูกหนี้การค้าแต่ละรายจริง แต่รับมาจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” ได้จ่ายภาษีขายให้แก่กรมสรรพากรแล้วสำหรับรายการขายที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งทำให้ต้องมีการบันทึกค่าใช้จ่ายจากการตัดจำหน่ายลูกหนี้การค้าในส่วนของภาษีขายที่เกี่ยวข้องกับรายการขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง 569 ล้านบาท 35 ล้านบาท และ 7 ล้านบาท ในปี 65 ปี 64 และก่อนปี 64 ตามลำดับ
จากนั้น ยังพบว่า มีรายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าให้แก่บริษัทคู่ค้าของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ 3 ราย เป็นเงินรวม 10,451 ล้านบาท (คิดเป็น 65% ของยอดซื้อทองแดงและอลูมิเนียมทั้งปี) เกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค.65 แต่โดยปกติแล้ว “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” จะทำการสั่งซื้อสินค้าจากคู่ค้าโดยการเปิด Letter of Credit (L/C) โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้า ทำให้รายการนี้จึงไม่เป็นไปตามปกติ และยังพบว่ามีการจ่ายเงินออกไปจริง แต่มิได้เป็นการจ่ายเงินให้แก่บริษัทคู่ค้า โดยข้อเท็จจริงปรากฎว่าเป็นการโอนเงินออกไปให้บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
พร้อมพบข้อสงสัยกรณี “เฟ้ลปส์ ดอด์จ”ได้รับชำระเงินจากลูกหนี้การค้าต่างประเทศหลายราย ในระหว่างเดือน ธ.ค.65 ซึ่งบันทึกทางบัญชีระบุว่าเป็นลูกหนี้การค้าที่เกิดจากการขายสินค้าในปี 64 เป็นเงิน 2,034 ล้านบาท และในเดือนเดียวกัน เฟ้ลปส์ ดอด์จ ยังได้รับเงินอีก 4,052 ล้านบาท โดยระบุว่าเป็นการรับเงินชำระจากการขายสินค้าของบริษัท Thinh Phat Cables Joint Stock Company (TPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ที่จดทะเบียนในเวียดนาม แต่ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่จะสนับสนุนว่ามีรายการขายเกิดขึ้นจริง และจากเส้นทางการรับชำระเงินได้แสดงว่าเป็นการโอนเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง
สำหรับรายการสินค้าคงเหลือที่แสดงในรายงานสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 มีปริมาณสินค้าคงเหลือหลายรายการ (quantity) ติดลบ คิดเป็นเงินรวม 1,375 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากผลแตกต่างจากการตรวจนับสินค้าประจำปีที่เกิดก่อน ปี 65 ที่ยังไม่ได้ทำรายการปรับปรุงในรายงานทางบัญชี แต่อย่างไรก็ตาม ยังมิได้มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าข้อผิดพลาดดังกล่าวจะต้องกระจายไปปรับปรุงงบการเงินรวมย้อนหลังหรือไม่แต่อย่างไร
ขณะเดียวกัน “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” บันทึกกลับรายการต้นทุนขายและสินค้าคงเหลือสำหรับรายการขายที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง เป็นเงิน 2,222 ล้านบาท และ 91 ล้านบาท ในปี 64 และก่อนปี 64 แต่ปริมาณสินค้าคงเหลือภายหลังการปรับปรุงมียอดปริมาณสูงกว่ายอดปริมาณทางบัญชีในอดีตอย่างมีสาระสำคัญ จึงรับรู้ผลแตกต่างดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวน
นั่นทำให้รายงานอายุลูกหนี้ (aging report) ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 และ ปี 64 ถูกจัดทำอย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากข้อมูลวันที่ในใบแจ้งหนี้และ/หรือวันครบกำหนดชำระในรายงานอายุลูกหนี้ไม่สอดคล้องกับใบกำกับการขาย (sales invoice) มีผลต่อการคำนวนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตของลูกหนี้การค้า ซึ่งทำให้การบันทึกค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตจากลูกหนี้การค้าต่ำไปหรือกำไรสุทธิสูงไป 65 ล้านบาท และ 729 ล้านบาท ในปี 65 และปี 64 ตามลำดับ
ส่วนงบการเงินของ บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด อีกหนึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK ดำเนินธุรกิจการให้บริการด้านทรัพยากรบุคคล โดยมีรายได้จากการให้บริการจากการจัดส่งพนักงานไปทำงานให้แก่ลูกค้าในกลุ่มปิโตรเลียม และในปี 65 มีลูกหนี้การค้าจากการให้บริการด้านทรัพยากรคงค้างเป็นจำนวนมาก ซึ่ง “อดิสรสงขลา” บันทึกรายได้โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่น่าเชื่อถือในการให้บริการ มีผลให้มีการรับรู้รายได้จากการให้บริการและลูกหนี้การค้าสูงเกินจริง 394 ล้านบาท 240 ล้านบาท และ 411 ล้านบาท ในปี 65 ปี 64 และก่อนปี 64 ตามลำดับ รวมถึงรายการค่าใช้จ่ายค้างจ่ายสำหรับค่าแรงของพนักงานที่ให้บริการแก่ลูกค้าในปี 65 อีก 136 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับปี 64 ซึ่งมี18 ล้านบาท การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีสาระสำคัญและไม่ได้สอดคล้องกับจำนวนพนักงานที่ลดลง นั่นทำให้ “อดิสรสงขลา” บันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับค่าแรงพนักงานในปี 65 สูงเกินจริง 99 ล้านบาท
ด้าน “อดิสรสงขลา” ยังแสดงรายการส่วนลดจากการให้บริการเป็นรายการหักในรายได้จากการให้บริการในปีปัจจุบัน จึงทำให้ต้องปรับแก้ไขตัวเลขเปรียบเทียบให้สอดคล้องกับการแสดงรายการในปีปัจจุบัน โดยการปรับปรุงรายได้จากให้บริการกับต้นทุนการให้บริการในงบการเงินรวมปีก่อน 21 ล้านบาท
และสำหรับ รายละเอียดของรายการผิดปกติในงบการเงินของ บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งส่งผลให้มีการรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริง 600 ล้านบาท ในปี 64 และรายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริง 89 ล้านบาท ก่อนปี 64 โดย “ไทยเคเบิ้ล” ได้ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งส่งผลให้มีการรับรู้รายได้จากการขายสูงเกินความเป็นจริงและเจ้าหนี้การค้าต่ำกว่าความเป็นจริง ผู้บริหารจึงบันทึกรับรู้เจ้าหนี้การค้าบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน เป็น 121 ล้านบาท ในปี 64 และเป็น 39 ล้านบาท ก่อนปี 64
ขณะเดียวกัน “ไทยเคเบิ้ล” ได้จ่ายภาษีขายให้แก่กรมสรรพากรแล้วสำหรับรายการขายที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งทำให้ต้องมีการบันทึกค่าใช้จ่ายจากการตัดจำหน่ายลูกหนี้การค้าในส่วนของภาษีขายที่เกี่ยวข้องกับรายการขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง 50 ล้านบาท และ 9 ล้านบาท ในปี 64 และก่อนปี 64 ตามลำดับ
ก.ล.ต.ออกโรงเตือนลงทุนหุ้น STARK
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้วันที่ 17 มิ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกประกาศขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับงบการเงินและผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ของบมจ. สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น หรือ STARK ด้วยความระมัดระวัง เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุน
เนื่องจาก ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินรวมของ STARK ในประเด็นต่าง ๆ หลายประเด็น และผลการตรวจสอบ special audit ระยะแรก ซึ่งได้แสดงข้อมูลยอดขายที่ผิดปกติ ยอดสินค้าคงเหลือที่ผิดปกติรวมถึงรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ถูกจัดทำอย่างไม่ถูกต้องและเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าผิดปกติ ทำให้มีรายการปรับปรุงที่สำคัญที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2565 และการปรับปรุงรายการย้อนหลังไปยังงบการเงินของปีก่อนหน้า เนื่องจากผลการตรวจสอบ special audit ที่กล่าวข้างต้น ยังไม่ครอบคลุมขอบเขตการตรวจสอบตามที่ ก.ล.ต. สั่งการไว้ทั้งหมด ซึ่ง STARK ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจสอบ special audit เป็นวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 เนื่องจากยังมีข้อมูลที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม โดย ก.ล.ต. จะได้พิจารณาคำขอดังกล่าวต่อไป
กรณีนี้ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในกระบวนการตรวจสอบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และหากพบว่าบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก.ล.ต. จะดำเนินการตามกฎหมายตามกระบวนการต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการประสานความร่วมมือระหว่างกันด้วยแล้ว
สำหรับ ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น STARK ล่าสุดเมื่อ 16 มิ.ย. 66 ตลอดทั้งวันราคาหุ้น STARK ผันผวนอย่างมาก โดยราคาปรับตัวลงฟลอร์ที่ 0.07 บาท ก่อนดีดขึ้นแรงมาปิดตลาดที่ 0.08 บาท ลดลง 0.01 บาท หรือ 11.11 % ขณะที่ระหว่างวันปรับขึ้นสูงสุดที่ 0.10 บาท