ส่องราคาหุ้น “ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก” หลังราคาย่อตัวลงมาใกล้ราคา IPO ที่ 18 บาท พบไตรมาสแรกปี 66 ฟื้นตัวจากไตรมาสสุดท้ายปีก่อน และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปี จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหนุนปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่ม อีกทั้งลดลงการนำเข้าก๊าซ ขณะธุรกิจค้าปลีกขยายตัวต่อเนื่อง ด้านโบรกฯ เชื่อผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว
ต้องยอมรับว่ามีหลายปัจจัยที่เข้ามากดดันความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR นับตั้งเข้ามาซื้อขายวันแรกบนกระดานหลักทรัพย์ และหลายฝ่ายเชื่อว่ายังมีอีกหลายปัจจัย หลายสถานการณ์ที่จะเข้ามากดดันราคาหุ้น OR ในอนาคต จึงถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้บริหาร และเป็นโจทย์ที่วัดใจนักลงทุนว่าพร้อมที่จะถือหุ้นระยะยาวเพื่อเติบโตไปกับ OR หรือไม่?
จากวันที่ 11 ก.พ.2564 ซึ่งเป็นวันซื้อขายวันแรกของหุ้น OR ที่มีนักลงทุนหน้าใหม่กว่า 2 แสนบัญชีเข้ามาร่วมเทรดกับนักลงทุนเจ้าประจำ จนราคาปิดตลาดของการเทรดวันแรกอยู่ที่ 29.25 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 11.25 บาท หรือ 62.50% จากราคา IPO ที่ระดับ 18.00 บาท จากนั้นเพียง 5 วัน OR ก็ไต่ระดับสร้างสถิติสูงสุดไว้ที่ระดับ 36.50 บาท ปรับขึ้น 18.50 บาท หรือปรับขึ้น 103% จากราคา IPO เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ปีเดียวกัน
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือหลังจากนั้นราคาหุ้น OR เคลื่อนไหวในทิศทางขาลงมากกว่าขาขึ้น จนปัจจุบันกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 20.80 บาท เพิ่มขึ้นจากราคา IPO เพียง 2.80 บาท หรือ 15.55% นำไปสู่คำถามที่คาใจนักลงทุนว่าราคาหุ้น OR ต่อจากนี้จะมีทิศทางเป็นอย่างไร และยังน่าลงทุนต่อหรือไม่
กำไร Q1 ฟื้นเฉียด 3 พันล้าน
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2566 บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก รายงานผลการดำเนินงานของ OR ในไตรมาสแรกของปี 2566 ว่ามีกำไรสุทธิ 2.97 พันล้านบาท ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนกว่า 100% โดยคิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.25 บาท ทำให้ EBITDA ในไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 5.92 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.67 พันล้านบาท หรือกว่า 100% จากไตรมาสก่อนหน้า (Q4/65)
ประเด็นสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของ OR ดูดีขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมา คือ กลุ่มธุรกิจ Mobility (ธุรกิจน้ำมันและก๊าซ) จากภาพรวมกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรฟื้นตัว โดยหลักจากน้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน รวมทั้งปริมาณจำหน่ายและกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรน้ำมันอากาศยานเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน พบว่า กลุ่มธุรกิจ Global (การลงทุนสถานีน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่มในต่างประเทศ) เพิ่มขึ้นจากภาพรวมกำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการจำหน่ายและกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตร โดยหลักจากกัมพูชา และ สปป.ลาว ในขณะที่ กลุ่มธุรกิจ Lifestyle เพิ่มเล็กน้อยจากทั้งจากธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่ามีกำไรลดลง สาเหตุมาจากราคาน้ำมันในไตรมาส 1/66 ที่ปรับตัวลดลงสู่ภาวะปกติเปรียบกับช่วงไตรมาส 1/65 ที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปเหนือระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ในไตรมาสนี้บริษัทกำไรจากสต๊อกน้ำมันที่ลดลง
Q2 คาดเติบโตต่อเนื่อง
“ปิติรัตน์ รัตนโชติ” ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ OR แสดงความเห็นว่า คาดการณ์ค่าเฉลี่ยผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/66 ของบริษัทมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากงวดไตรมาสแรกที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวโน้มอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนตัวลง หนุนจากราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวที่ราว 80.3 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับช่วงไตรมาส 1/2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นทิศทางเดียวกับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทไทยกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ที่เฉลี่ยทรงตัวที่ราว 33.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หนุนให้บริษัทสามารถบริหารจัดการสต๊อกน้ำมัน (Oil Stock) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ค่าการตลาดน้ำมันในไตรมาส 2 นี้คาดว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 หรืออยู่ในกรอบเฉลี่ย 0.70-1.30 บาท/ลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ทำให้บริษัทรักษาอัตราค่าการตลาดได้ระดับเหนือกว่า 1 บาทต่อลิตร อีกทั้งเชื่อมั่นว่าผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันในไตรมาส 2/66 ไม่น่าสูงหากราคาน้ำมันไม่ผันผวน
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานทั้งปี 2566 ของบริษัทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวตามค่าเฉลี่ยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศ โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2.7-2.87% ทำให้เชื่อว่าผลการดำเนินงานของบริษัทน่าจะเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย GDP ประเทศเนื่องจากความต้องการ (Demand) น้ำมันอากาศยานในอุตสาหกรรมการบิน (Aviation) ที่ฟื้นตัวตามความต้องการเดินทางที่มากขึ้น ประกอบกับคาดการณ์ค่าการตลาดทั้งปีจะอยู่ระหว่าง 0.70-1.20 บาทต่อลิตร
"บริษัทมั่นใจว่าผลการดำเนินงานปีนี้จะเติบโตขึ้นกว่าปีก่อนที่มีรายได้ 7.89 แสนล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.03 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการเปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเฉพาะการท่องเที่ยว ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น”
ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวนอย่างใกล้ชิด รวมถึงความกังวลเศรษฐกิจถดถอยจากธนาคารกลางในยุโรปและสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และกรณีสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้มีผลต่อธุรกิจของบริษัท
โดยในปีนี้ OR เตรียมงบลงทุนประมาณ 3.10 หมื่นล้านบาท ด้วยแผนการขยายสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ประมาณ 100 สาขา จุดชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในสถานีบริการน้ำมันอีก 500 สถานี รวมถึงติดตั้งโซลาร์รูฟในสถานีบริการอีกราว 400-500 สาขา ระบบจัดเก็บในรูปแบบ Energy Storage เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในสถานีบริการตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นการขยายและสร้างความแข็งแกร่งของ Business Value Chain ของกลุ่มธุรกิจ Lifestyle รวมไปถึงการแสวงหาพันธมิตรและการลงทุนใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบ โดยให้ความสำคัญในกลุ่มธุรกิจด้าน Health & Wellness และ Tourism รวมถึงการผลักดันให้เกิดความร่วมมือในธุรกิจ EV ของกลุ่ม ปตท. อย่างเป็นระบบ และการลงทุนใน Green Energy เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของแหล่งพลังงาน
คาดผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด ประเมินทิศทางธุรกิจของ OR ว่า บริษัทรายงานผลดำเนินงานไตรมาส1/66 พลิกเป็นกำไรที่ 3 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อน แต่ดีขึ้นจากไตรมาส 4/65 ที่ขาดทุน 744 ล้านบาท จากค่าการตลาดที่ปรับดีขึ้น และค่าใช้จ่ายลดลงจากช่วงไตรมาสสุดท้ายปีก่อนที่เป็นช่วงค่าใช้จ่ายสูง
โดยตัวเลขสำคัญของผลประกอบการมีดังนี้ 1) ปริมาณขายโดยรวมอยู่ที่ 7 พันล้านลิตร เพิ่มขึ้น 4% เทียบปีก่อน แม้ปริมาณค้าปลีกลดลง ในขณะที่ Commercial เพิ่มขึ้นจากความต้องการน้ำมัน Jet ที่เพิ่มขึ้น
2) Gross Margin ปรับมาเป็น 1 บาทต่อลิตร จากไตรมาส1/65 ที่ 1.14 บาทต่อลิตร และไตรมาส 4/65 ที่ 0.48 บาทต่อลิตร เนื่องจากเป็นช่วงเวลาโรงกลั่นในประเทศปิดซ่อมบำรุงส่งผลให้บริษัทต้องนำเข้าน้ำมันดีเซลซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าน้ำมันจากโรงกลั่นในประเทศ
3) EBITDA ธุรกิจ Mobility อยู่ที่ 4.2 พันล้านบาท 11% เทียบปีก่อน พลิกจากไตรมาส 4/65 ที่ขาดทุน 193 ล้านบาท จาก Gross Margin ต่อลิตรที่ดีขึ้น และ 4) ธุรกิจ Lifestyle (Non-Oil) มี EBITDA ทรงตัวที่ 1.3 พันล้านบาท 4.5% เทียบปีก่อน 5% เทียบปีก่อน และคิดเป็น EBITDA Margin ที่ 24% จากไตรมาส 4/65 ที่ 21% เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ลดลง
สำหรับแนวโน้มปี 2566 บล.ทรีนิตี้ คาดว่าน่าจะยังดีต่อเนื่อง โดยประเมินแนวโน้มไตรมาส 2/66 น่าจะดีขึ้นจากค่าการตลาดที่ปรับดีขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงทำให้ต้นทุนปรับลดลงเร็วกว่าราคาขาย ในขณะที่ปริมาณขายคาดว่าอาจจะชะลอตัวลงบ้าง
ขณะที่ในธุรกิจ Lifestyle ทางบริษัทยังคงใช้กลยุทธ์ที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ให้สูง โดยยังคงคาดว่าจะมี EBITDA Margin ที่ 25% ทั้งนี้ ยังคงประมาณการกำไรทั้งปีที่ 1.3 หมื่นล้านบาท พร้อมแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 33.50 บาท จาก 2 ส่วนคือ 1) จากมูลค่าธุรกิจปัจจุบัน 22.00 บาท (PER 20x) บวก ด้วย 2) มูลค่าปัจจุบันของเงิน IPO ที่ไปลงทุนในอนาคตด้วยอัตราคิดลด 11.50 บาท
ด้าน บล.เอเอสแอล จำกัด ประเมินทิศทาง OR ว่าบริษัท ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 2,975.01 ล้านบาท (0.248 บาทต่อหุ้น) ลดลง 22.6% จากปีก่อน (จากฐานที่สูงเพราะเป็นช่วงราคาน้ำมันดิบขาขึ้น) และเพิ่มขึ้น 500% จากไตรมาสก่อน(ไตรมาส 4 ปี 65 มีการนำเข้าน้ำมันเพิ่มและนโยบายภาครัฐที่กดดัน) โดยมีกำไรปกติไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 3.2 พันล้านบาท (0.252 บาทต่อหุ้น) ลดลง 21.3% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 597.4% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาส 1/66 มีเพียงกำไรอัตราแลกเปลี่ยนและขาดทุนเครื่องมือทางการเงินรวมกันอยู่ที่ 54.2 ล้านบาท (เทียบกับไตรมาส 4/65 รวมกันอยู่ที่ 134.5 ล้านบาท)
ด้านของรายได้ไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 197,414 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 11.4% เทียบปีก่อน จาก lag time ในการชะลอการปรับราคาหน้าสถานีในช่วงน้ำมันขาลง แต่หดตัว 4.3% จากไตรมาส ในรายไตรมาสเนื่องจาก 1) รายได้หดตัวตามราคาขายน้ำมันที่ลดลง ซึ่งเป็นไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และ 2) หดตัวตามปัจจัยฤดูกาลจากที่ไตรมาส 4 ปี 65 เป็นช่วง High season ของการเดินทางซึ่งแม้ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในไตรมาสแรกปี 66 ได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 80.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 16% จากปีก่อน และ 5.4% จากไตรมาสก่อน และส่งผลให้ราคาขายและรายได้ของ OR ลดลง
แต่ทว่ากำไรธุรกิจกลุ่ม Mobility ฟื้นตัวเด่นใกล้เคียงภาวะปกติ โดยมีกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรในไตรมาส 1/66 ขยับเพิ่มมาอยู่ที่ 1.01 บาทต่อลิตร ปรับลดลง 11.4 จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 110.4% จากไตรมาสก่อน เนื่องจาก OR ไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันเหมือนในไตรมาส 4 ปี 65 ที่โรงกลั่นในประเทศปิดซ่อมบำรุง ซึ่งน้ำมันที่นำเข้ามีต้นทุนที่สูงเพราะค่าระวางเรือปีก่อนอยู่ในระดับที่สูง
นอกจากนี้ ปริมาณขายน้ำมันที่ 7,002 ล้านลิตร ปรับเพิ่มดีขึ้น 4.1% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.3% จากไตรมาสก่อนที่น้ำมันอากาศยานฟื้นตัวได้ดีและมีสัดส่วนขายเพิ่มกลับมาอยู่ที่ 12.3% (เทียบกับไตรมาสแรกปี 65ที่ 7% และไตรมาส 4 ปี 65 ที่ 10.6% และขยับเข้าใกล้เคียงค่าเฉลี่ยช่วงก่อนโควิด-19 ที่ 15%) ขณะที่น้ำมันดีเซล เบนซิน และน้ำมันหล่อลื่นขายได้ดีแต่ปรับลดลงตามปัจจัยฤดูกาล
ทั้งนี้ กลุ่ม Lifestyle และ Global มีผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบรายไตรมาสตามนโยบายการเปิดประเทศ แต่หดตัวเมื่อเทียบรายปีตามปัจจัยราคาน้ำมันที่ลดลงและสภาพสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงปีก่อนที่กดดันให้คนไม่ออกเดินทาง นั่นทำให้แนวโน้มกำไรสุทธิปี 66 และปี 67 เท่ากับ 1.46 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% เทียบปีก่อนและ 1.74 หมื่นล้านบาท 19.1% เทียบปีก่อน โดยมองว่า OR จะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากพฤติกรรมของประชาชนปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติและปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณขายน้ำมันเร่งตัวกลับสู่ระดับค่าเฉลี่ยก่อนช่วงโรคระบาด ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่ทยอยปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จะส่งผลให้ความจำเป็นต่อการตรึงราคาน้ำมันน้อยลง และจะส่งผลให้ธุรกิจกลุ่ม Mobility OR มีค่าการตลาดน้ำมันที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้จำนวนปั๊ม ไตรมาสแรกปี 66 เพิ่มขึ้น 3.8% เทียบปีก่อน มาอยู่ที่ 2,169 สาขา ขณะที่ ธุรกิจกลุ่ม Lifestyle ที่ได้มีการขยายจุดเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกปี 66 มีสาขาร้านเครื่องดื่มและอาหารในเครือรวมกันอยู่ที่ 4,170 จุด เพิ่มขึ้นราว 7% จากปีก่อน
ทำให้คงแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 28.25 บาท อิง PE 23 เท่า (ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย SD0.5 ย้อนหลัง 1 ปี) EPS ปี 2566 เท่ากับ 1.22 บาท และจากราคาปัจจุบันมี upside 23.9% อีกทั้งยังมีปันผลอีก 2.5% โดยปัจจุบัน OR ซื้อขายที่ Forward PE ratio เพียง 18.7 เท่า หรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย SD2.0 ทำให้คาดว่าผลประกอบการของ OR ฟื้นตัวต่อเนื่องและฟื้นตัวแรงในไตรมาสสุดท้ายที่เป็นฤดูท่องเที่ยว
โดยรวมนักวิเคราะห์เชื่อมั่นว่าในระยะยาวแนวโน้มธุรกิจของ OR จะฟื้นตัวต่อเนื่องจากปริมาณการขายน้ำมันที่กลับมาสู่ระดับปกติ และราคาน้ำมันดิบที่ลดลงทำให้ความจำเป็นในการตรึงราคาน้ำมันลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้ค่าการตลาดของ OR ดีขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจ Lifestyle ขยายตัวต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลต่ออัตรากำไรอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักลงทุน อยากจะฟังคำตอบของผู้บริหารบริษัทเช่นกันว่า ด้วยโครงสร้างระดับ 8 แสนล้านบาทนั้นทิศทางของกำไรสุทธิจะเติบโตอย่างไร เมื่อที่ผ่านอัตราการเติบโตอยู่ในระดับที่น้อยมาก ขณะเดียวกัน ในกลุ่มธุรกิจ Lifestyle แม้จะมีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่มองว่าต้นทุนในการเข้าซื้อธุรกิจมานั้นสูง และยอดขายไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร จึงเป็นเรื่องที่อยากรู้ว่าบริษัทจะเน้นที่การเติบโตของรายได้ หรืออัตรากำไรขั้นต้นที่จะช่วยให้อัตราของกำไรสุทธิกลับมาสู่ระดับที่น่าสนใจ