สังคมคงกำลังมีคำถามว่า บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ก้าวมาถึงวันนี้ได้อย่างไร วันที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวงในตลาดหุ้น โดยที่กลไกระบบตรวจสอบ ระบบควบคุมและกำกับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีกรรมการอิสระ ทำให้ที่กำกับการดำเนินงานภายในมีคอมไพลแอนซ์ ตรวจสอบการปฏิบัติงานตามข้อกำหนด มีผู้ตรวจสอบบัญชี มีบริษัทจัดอันดับเครดิตในการให้อันดับเครดิตบริษัทจดทะเบียนในการออกหุ้นกู้แต่ละครั้ง
มีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศสอดส่องดูธุรกรรมต่างๆ และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแล แต่ทุกหน่วยงานกลับตรวจสอบไม่พบความผิดปกติใดๆ ใน STARK ทั้งที่บัญชีน่าจะถูกตกแต่งมาหลายปี
มารู้ว่าเกิดวิบัติก็สายเกินไป เพราะหายนะครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นแล้ว
ผู้สอบบัญชี ซึ่งเป็นสำนักตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่และมีชื่อเสียงถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีส่วนรู้เห็นการทุจริตหรือไม่ และควรต้องเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่
ธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยเงินกู้และลงทุนในหุ้นสตาร์ค ผู้ถือหุ้นกู้จำนวนหลายพันราย นักลงทุนที่ซื้อหุ้นจำนวนนับหมื่นราย นักลงทุนต่างชาติ กองทุนทั้งในและต่างประเทศต้องวอดวายกับปฏิบัติการปล้นของ STARK
แม้ยังไม่มีการกล่าวโทษดำเนินคดีกับผู้บริหารคนใดใน STARK แต่นักลงทุนเชื่อกันไปแล้วว่า งบการเงินปี 2565 เจ้าปัญหานั้นเพราะการทุจริตภายใน และมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ไซฟ่อนผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัท จนบัญชีปิดไม่ลง
STARK มีกำไรเติบโตต่อเนื่องหลายปี ซึ่งน่าเกิดจากการแต่งบัญชี สร้างภาพลวงตาว่าแนวโน้มบริษัทสดใส มีฐานะการเงินมั่นคง เพื่อหลอกลวงทุกคน จนสามารถสูบเงินเข้าบริษัทกว่า 2 หมื่นล้านบาท ทั้งการกู้เงินจากธนาคาร ออกหุ้นกู้ และออกหุ้นเพิ่มทุน
เมื่อสูบเงินเข้ามาได้ มีการสร้างลูกหนี้เทียม ปลอมเอกสาร โยกเงินออกจาก STARK ย้ายเข้ากระเป๋าตัวเอง ก่อนย้ายเงินไปฝากต่างประเทศ เตรียมทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้า
การทุจริตใน STARK คงไม่ลงมือเพียงคนเดียว แต่ทำกันเป็นขบวนการ เพียงแต่เกี่ยวข้องโยงใยถึงใคร ผู้บริหารบริษัทคนใดสุมหัวโกงกันบ้างเท่านั้น
แผนการปล้น STARK เตรียมการมาอย่างแยบยล ใช้เวลาสร้างภาพลวงตาหลายปี จนทุกฝ่ายเชื่อสนิทใจ ขนเงินเทใส่
ผู้บริหาร STARK ใช้เงินหว่านซื้อสื่อหุ้นหลายสำนักเพื่อปิดปาก และใช้สื่อหุ้นเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ นำเสนอข่าวเชียร์ และเงินเพียงเดือนละไม่กี่หมื่นบาท สามารถทำให้สื่อหุ้นหลายสำนักกลายเป็นสุนัขเชื่องๆ ที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนหรือผู้บริหารโบรกเกอร์สามารถจิกหัวใช้ได้
หุ้นปั่นหรือหุ้นเน่าๆ หลายตัวใช้วิธีการเดียวกันกับ STARK โดยใช้เงินฟาดหัวสื่อเพื่อปิดปาก
ตลาดหุ้นเป็นศูนย์รวมของความมั่งคั่ง มิจฉาชีพในคราบบุคคลหลากหลายอาชีพ จึงแทรกตัวเข้ามา เพราะสามารถตักตวงความร่ำรวยมหาศาลในพริบตา ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนขาใหญ่ที่ตั้งแก๊งปั่นหุ้น หรือบรรดาเสี่ยหุ้นทั้งหลาย
บรรดาคนในคราบสื่อที่สถาปนาตัวเองเป็นกูรูหุ้น ตั้งสำนักใบ้หุ้น หลอกเงินแมลงเม่าที่หวังได้หุ้นทีเด็ด หรือคนในคราบสื่อที่ทำตัวเป็นเจ้าพ่อ ตบทรัพย์โบรกเกอร์และเจ้าของหุ้น
และบรรดาผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน ซึ่งช่องทางโกงเปิดกว้าง โดยไม่กลัวติดคุกติดตะรางใดๆ
เพราะถ้าพลาดถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษ ยังมีช่องทางวิ่งเต้น ใช้เงินเป่าคดีหรือล้มคดีได้ ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ทุจริต ยักยอก ไซฟ่อนผ่องถ่ายเงินบริษัท สร้างความเสียหายให้ประชาชนนับหมื่นคนจึงแทบไม่มีใครต้องชดใช้กรรมในคุกตะราง
และหลายคนไม่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี จึงลอยนวลใช้ชีวิตเสวยสุขกับเงินที่ปล้นไป บนความหายนะของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนับหมื่นชีวิต ซึ่งอาจรวมถึงกรณี STARK
การก่ออาชญากรรมในตลาดหุ้นเพียงครั้งเดียว อาจทำให้โกยเงินนับพันนับหมื่นล้านบาท และสามารถเสวยสุขอยู่ประเทศใดในโลกได้ตลอดชาติ จึงเป็นสิ่งล่อใจมิจฉาชีพ
เพราะคุ้มที่จะเสี่ยง และถ้ากลัวความผิด สามารถหอบเงินที่ล้นไปเผ่นหนีออกนอกประเทศได้ ซึ่งมีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนหลายรายแล้วที่หนีไปต่างประเทศ และอาจรวมทั้งอดีตผู้บริหาร STARK ที่มีข่าวว่า ไม่อยู่ในประเทศไทยแล้ว
อาชญากรในตลาดหุ้นมีจิตใจอำมหิต และสร้างความเสียหายร้ายแรงยิ่งกว่าอาชญากรที่ปล้นโดยทั่วไป
เพราะอาชญากรทั่วไป จี้ปล้นเจ้าทรัพย์เพียงคนเดียว ฆ่าเจ้าทรัพย์ตายก็เพียงรายสองราย
แต่อาชญากรในตลาดหุ้นฆ่าเจ้าทรัพย์ตายทั้งเป็นในคราวเดียวนับหมื่นๆ ราย โดย STARK กำลังเป็นอาชญากรรมในตลาดหุ้นที่สร้างความเสียหายร้ายแรงวงกว้าง
และไม่ใช่กรณีแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบริษัท โพลารีส แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE และบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ อีกนับสิบแห่ง
ผู้บริหาร ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนึกในสิ่งที่ต้องรับผิดชอบบ้างหรือไม่ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน และมีหน้าที่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนผู้ลงทุน
ผู้ลงทุนกี่แสนรายแล้วต้องสิ้นเนื้อประดาตัว จากความล้มเหลวในการกำกับบริษัทในตลาดหุ้นของ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ
(พรุ่งนี้อ่านต่อ ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯตื่นหรือยังกับการทำงานที่ล้มเหลวมาตลอดกว่า 48 ปีของการก่อตั้งตลาดหุ้น)