นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (2 มิ.ย.) ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำและการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์
แม้ว่าเงินบาทมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง แต่จะเห็นได้ว่าการอ่อนค่านั้นไม่ได้รุนแรงมากตามที่เราได้ประเมินไว้ นอกจากนี้ โมเมนตัมเงินบาทเริ่มพลิกกลับมาเป็นฝั่งแข็งค่าขึ้นหลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงชัดเจน ส่วนราคาทองคำสามารถรีบาวนด์กลับมาเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโซนดังกล่าวอาจมีผู้เล่นในตลาดรอทยอยขายทำกำไรการรีบาวนด์ทองคำพอสมควร ทำให้เราคงมองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทแม้จะพอมีอยู่บ้างหากนักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย แต่อาจยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายนัก
ทั้งนี้ เรามองว่าควรระมัดระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดการจ้างงานสหรัฐฯ (เวลา 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ซึ่งมีโอกาสที่ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมจะออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด หลังยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ที่ออกมาก่อนหน้านั้นออกมาสูงกว่าคาดไปมาก อย่างไรก็ดี เรามองว่าแม้ข้อมูลการจ้างงานจะออกมาดีกว่าคาด แต่อาจไม่ได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้มากนัก ยกเว้นว่ายอดการจ้างงานจะออกมาสูงกว่าคาดมาก และอัตราการเติบโตของค่าจ้างเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาด (ซึ่งเรามองว่าโอกาสเกิดภาพดังกล่าวมีไม่มาก)
แม้ว่าโมเมนตัมเงินบาทเริ่มกลับมาเป็นฝั่งแข็งค่าขึ้น แต่เรายังคงเห็นความต้องการซื้อเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะฝั่งนำเข้า ส่วนนักลงทุนต่างชาติยังคงไม่รีบกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย ทำให้เรามองว่า โซนแนวรับของเงินบาทอาจยังคงอยู่ในช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นกว่า +0.99% ท่ามกลางความหวังว่าร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้อาจผ่านการพิจารณาโดยสภาคองเกรสได้ โดยล่าสุด สภาผู้แทนฯ ได้มีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว และเหลือเพียงการพิจารณาโดยวุฒิสภา ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันนี้ตามเวลาในประเทศไทย นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลการจ้างงานภาคเอกเชนโดย ADP ที่มาดีกว่าคาด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ระบุว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.78% ตามความหวังของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าสภาคองเกรสสหรัฐฯ อาจพิจารณผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนที่ชะลอตัวลงมากกว่าคาดทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายความกังวลว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกหลายครั้ง ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้น (Adyen +1.5%, ASML +0.9%)
ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่พลิกกลับมาเชื่อว่าเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมิถุนายน ได้หนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.60% ซึ่งเราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเป็นแนวโน้มขาลงที่ชัดเจน หากเฟดไม่ได้เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต หรือรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยออกมาแย่กว่าคาด
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ (จากเดิมที่เคยมองว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 1-2 ครั้ง) ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 103.5 จุด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideway เพื่อรอรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันนี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินจะกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง แต่มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) มีจังหวะปรับตัวขึ้นทดสอบระดับโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลงสู่ระดับ 1,993 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวมีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงาน โดยตลาดมองว่ายอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนพฤษภาคม อาจลดลงสู่ระดับ 1.8 แสนราย จากระดับกว่า 2.5 แสนราย ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงการปรับแผนการจ้างงานของภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากทั้งอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่โดยรวมการจ้างงานในภาคการบริการอาจยังคงดีอยู่ สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ (แม้ว่าจะเป็นการขยายตัวในอัตราชะลอลงก็ตาม)
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจต่ออัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ซึ่งหากค่าจ้างยังคงขยายตัวราว +0.4%m/m หรือไม่น้อยกว่า 4.4%y/y อาจยังเป็นปัจจัยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงช้า และหนุนให้เฟดอาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อ และอีกไฮไลต์สำคัญ คือ ปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า วุฒิสภาสหรัฐฯ จะมีมติผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้หรือไม่