หุ้น “คาราบาวกรุ๊ป” ทรุดต่อเนื่อง หลังแจ้งผลงานไตรมาสแรกปีนี้ต่ำกว่าที่กูรูส่วนใหญ่คาดมาก ส่งผลให้เคยเทรดเหนือ 100 บาท ดิ่งลงต่อเนื่องกระทั่งต่ำกว่า 70 บาทแล้ว เหตุผลกระทบจากโควิด-19 ฉุดยอดขาย ขณะผู้บริหาร CBG อยู่ระหว่างทบทวนปรับลดเป้ารายได้ปีนี้ โบรกฯประสานเสียงให้ “ถือ” แจงผลงานพ้นจุดต่ำสุด คาดไตรมาส 2 ฟื้นตัวต่อเนื่อง อีกทั้งโรงผลิตแห่งใหม่ในเมียนมาเดินเครื่องได้ต้นปี 67 หนุนผลงานและกำไรโตยาว
จากการเฝ้าติดตามการซื้อขายหุ้นในแต่ละวัน มักจะพบว่า หุ้นของ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG มักจะติดโผหุ้นที่มีการเคลื่อนไหวของราคาที่น่าสนใจ เพราะราคาหุ้นจะเป็นหุ้น 1 ใน 5 อันดับแรกของการปรับขึ้นหรือลดลงของหุ้นในกลุ่มดัชนี SET 100 อย่างต่อเนื่องเสมอ แม้บางวันอาจ ขณะ ราคาหุ้น CBG เทรดกันในระดับเฉียด 100 บาท และบางช่วงจะพบว่าราคาหุ้นปรับขึ้นไปแตะ 106 บาท ได้ ก่อนจะแผ่วลงมาปิดในระดับอ่อนลง 3-5 บาทหรือมากกว่านั้น
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้พบว่าราคาหุ้น CBG ไม่อาจขยับขึ้นไปเหนือ 100 บาทและยังพบว่าปรับลดลงเรื่อยๆ กระทั่ง 18 พ.ค.ราคาหุ้นที่เทรดนั้นหลุดจาก 70 บาท กล่าวคือมาปิดที่ 67.25 บาท หรือลดลง 3.25 บาท หรือ 4.61% มูลค่าซื้อขาย 733.06 ล้านบาท
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (29 พ.ค.) หุ้น CBG ยังคงร่วงต่อ ปิดที่ 66.75 บาท ลดลง 1.00 บาท หรือ 1.48% เป็นหุ้นกลุ่ม SET100 ที่มีราคาลดลงมากสุดอันดับที่ 2 ของวันดังกล่าว และล่าสุด 30 พ.ค. หุ้น CBG ปิดที่ 66.25 บาท ลดลง 0.50 บาทหรือ 0.75% มูลค่าซื้อขาย 294.26 ล้านบาท
โบรกฯ ประสานเสียงปรับราคาลงต่ำกว่า 80 บ.
บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) หรือ บล.หยวนต้าฯ แนะนำ "TRADING" หุ้น CBG ให้ราคาเป้าหมาย 72 บาท/หุ้น เพราะมองแนวโน้มกำไรไตรมาส 2 เบื้องต้นคาดฟื้นตัวจากไตรมาสแรก จากการรับรู้ส่วนแบ่งตลาดในประเทศมากขึ้น และตลาดต่างประเทศที่ฟื้นตัวประกอบกับแนวโน้มต้นทุนที่ทยอยลดลง แต่หากเทียบปีก่อน ยังลดลงจากฐานที่สูง ซึ่งคาดหวังการฟื้นตัวของผลประกอบการแบบปีต่อปี ได้ช่วงครึ่งหลังปี 66 จากส่วนแบ่งตลาดในประเทศที่คาดจะทยอยสูงขึ้นต่อ,รายได้ธุรกิจรับจ้างจัดจำหน่ายที่สูงขึ้น และแนวโน้มราคาต้นทุนที่จะลดลงได้ชัดเจนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี บล.หยวนต้าฯ ปรับลดประมาณการกำไรปกติปี66- 67 ลงอีก 21% และ19% ตามลำดับเพื่อสะท้อนผลประกอบการไตรมาสแรกปี 66 ที่อ่อนแอ และแนวโน้มการฟื้นตัวของรายได้ใน CLMV ที่ยังช้ากว่าเดิมที่ประเมินไว้ ขณะผลของการปรับประมาณการลง ส่งผลให้ราคาเหมาะสมถูกปรับลดลงเป็น 72.00 บาท มีUpside gain 3.6% คงคำแนะนำ TRADING รอหาจังหวะลงทุน ช่วงที่ราคาหุ้นย่อตัวบริเวณ +/- 60.00 บาท
บล.ดาโอ แนะนำ "ถือ" หุ้น CBG ให้ราคาเป้าหมาย 78 บาทต่อหุ้น เพราะ CBG อยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกำไรไตรมาสแรกปี 66 ต่ำ คือ 264 ล้านบาทหรือลดลง 60% จากปีก่อน และลดลง 35% จากไตรมาสก่อน ต่ำกว่าที่คาดไว้ เพราะรายได้รวมลดลง 14% จากปีก่อน ด้านรายได้ต่างประเทศลดลง 23% จากปีก่อน ,รายได้ CLMV ที่ลดลง 21% จากการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากในกัมพูชาอย่างต่อเนื่องจากโควิดและ GPM ที่ 24.7% ลดลงเมื่อเทียบปีก่อน เพราะต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะกำไรที่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ส่งผลจากรายได้และ GPM ที่ลดลงจากปีก่อน จึงปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 66 ลง 8% สะท้อน GPM ที่ช้ากว่าคาด จึงประเมินกำไรสุทธิปี66 ที่ 2,110 ล้านบาทหรือลดลง 8% จากปีก่อน แต่คาดกำไรจะฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2ปี 66 จาก GPM ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก volume การผลิตที่เพิ่มและเริ่มรับรู้ต้นทุน packaging ที่ต่ำลง ทั้งนี้ market share ที่เพิ่มขึ้น จะเป็น upside ต่อประมาณการกำไรปี 66
ทั้งนี้ ราคาหุ้น underperform SETลดลง 8% ใน 1 เดือนที่ผ่านมา ปัจจุบัน CBG เทรดอยู่ที่ PER 36.5x อย่างไรก็ตาม แนะนำ “ถือ” จนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของกำไรที่ชัดเจน ทั้งนี้ ยังไม่ได้รวมโครงการปรับลดต้นทุน packaging และโรงงานที่เมียนมาในประมาณการ ซึ่งจะเห็นผลกระทบเชิงบวกในครึ่งหลังปี 66 และส่งผลดีต่อกำไรปี 67
โดยรายได้ต่างประเทศลดลง 23% เทียบปีก่อน จากรายได้ CLMV ที่ลดลง 21% จากการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากในกัมพูชาอย่างต่อเนื่องจากโควิด และ GPM ที่ 24.7% ลดลงเทียบปีก่อน จากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งกำไรที่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนส่งผลจาก รายได้และ GPM ปรับตัวลดลง
บล.พายแนะนำจาก “ขาย” เป็น “ถือ” ให้มูลค่าพื้นฐานที่ 65 บาท อิง พี/อี ปี 66 ที่ 35 เท่า ตามค่าเฉลี่ยกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังของไทย คาดถึงupside ที่อาจเกิดขึ้นกับกำไรของบริษัท ถ้าCBG เปิดตัวสินค้าใหม่ในราคา 12 บาทต่อขวด แม้จะทำให้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้คู่แข่งก็ตามโดยคาดว่ายอดขายและกำไรไตรมาสแรกปี 66 จะเป็นระดับต่ำสุดของปี และคาดว่าไตรมาส 2 จะฟื้นตัวราว 10% เมื่อเทียบปีก่อนและ GPM จะปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 35-36% จาก 33.7% ในไตรมาสแรกปี 66 ซึ่งคาดว่ารายได้ที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากตลาดในประเทศและ CLMV หนุนให้กำไรไตรมาส 2 ปี 66 เติบโต นอกจากนี้ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลง 30% YTD ได้สะท้อนผลงานที่อ่อนแอในไตรมาสแรกปี 66 และความกังวลเรื่องการเติบโตของรายได้ในตลาด CLMV และจีนไปค่อนข้างมากแล้ว
ขณะรายได้ไตรมาสแรกปีนี้ CBG ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานผลิตแห่งหนึ่ง แต่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ ขณะที่โรงผลิตแห่งใหม่ในเมียนมา อยู่ระหว่างก่อสร้างและคาดว่าจะเปิดเดินเครื่องผลิตได้ต้นปี 67 ซึ่งคาดว่ายอดขายและอัตรากำไรโดยรวมจะแตะจุดต่ำสุดของปีในไตรมาสแรกปีนี้ และคาดว่ายอดขายจะฟื้นตัว 10 % ในไตรมาส 2 และคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้น (GPM)สำหรับการจำหน่ายสินค้าแบรนด์ตัวเองจะปรับดีขึ้นเป็น 35-36% ในไตรมาส 2 ปีนี้ จาก 33.7% ในไตรมาสแรก ขณะธุรกิจจัดจำหน่าย คาดว่าจะเปิดตัวสินค้าปลายไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดขายไตรมาส 4 ปีนี้ให้เติบโตดี
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผู้บริหาร CBG อยู่ระหว่างทบทวนปรับลดเป้ารายได้ปีนี้ลงจากเดิมคาดโต 15-20% หลังคาดรายได้ครึ่งปีแรกจะลดลง 14.5% เทียบปีก่อน หลังการฟื้นตัวทั้งในและต่างประเทศดูช้ากว่าคาด ทั้งนี้ ยังตั้งเป้าแย่ง Market share เป็น 25% จากปัจจุบันที่ 22% และจะยังคงราคาที่ 10 บาทจนถึงสิ้นปีนี้ เพราะตลาดต่างประเทศยังดูมีปัญหาทั้งจีนและพม่า
ขณะที่ไตรมาส 2 คาดรายได้ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน แต่ยังหดแรงเมื่อเทียบปีก่อน ส่วน Gross Margin คาดฟื้นตัวเล็กน้อย เบื้องต้นคาดกำไรไตรมาส 2 อยู่ที่ 354 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากไตรมาสก่อน และลดลง 52% จากปีก่อน และประเมินกำไรปี 66 อาจอยู่ในกรอบ 1.7-1.8 พันล้านบาท หรือ ลดลง 21-26% จากปีก่อน เป็นกำไรที่ลดลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ก่อนกลับมาฟื้นตัวในปี 67 ที่ 2.1 พันล้านบาท และให้ราคาเป้าหมายปี 67 จะอยู่ที่ 63 บาท ยังไม่แนะนำให้รีบเข้าลงทุน จนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของ ส่วนแบ่งตลาด และมาร์จิ้น
ต้นทุนพุ่ง ฉุดผลงาน Q1 ทรุด
สำหรับผลประกอบการไตรมาสแรกปี66 CBG แจ้งว่ามีรายได้ขายรวม 4,124 ล้านบาท ลดลง 14% เทียบปีก่อน โดยเป็นรายได้จากการดำเนินการผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง 2,485 ล้านบาท ลดลง 17% จากปีก่อน เนื่องจากทั้งธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ รายได้จากการรับจ้างจัดจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอก 1,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เทียบปีก่อน
ขณะที่มีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ดำเนินการผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง 2,485 ล้านบาท ลดลง 17% เทียบปีก่อน โดยเป็นธุรกิจในประเทศและต่างประเทศที่ 47% ต่อ 53 % เนื่องจาก รายได้จากการขายในประเทศ 1,162 ล้านบาท ลดลง 9% เทียบปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของยอดขายเครื่องดื่มบำรุงกำลังคาราบาวแดงเป็นหลักตามสภาวะตลาด และยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศด้วยกลยุทธ์การจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
โดยรายได้จากการส่งออก 1,323 ล้านบาท ลดลง 23% เทียบปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของยอดขายจากกลุ่มประเทศ CLMV และจีนเป็นหลัก เพราะสภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดจะเริ่มฟื้นตัวในระยะอันใกล้นี้ ส่วนพม่าและลาวยังคงมียอดขายเพิ่มขึ้น 86% และ 105% เทียบไตรมาสก่อน สวนทางกับรายได้ในตลาดอังกฤษ ลดลง 12% จากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่กำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น
สำหรับงวดนี้มีรายได้จากการรับจ้างจัดจำหน่ายให้บุคคลภายนอก 1,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เทียบปีก่อน และผลสำเร็จของการกระจายผ่านหน่วยรถเงินสดมากกว่า 300 คัน ซึ่งเข้าถึงร้านค้าปลีกได้มากกว่า 180,000 ร้านค้าทั่วประเทศ ส่วนรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ที่ว่าจ้างบุคคลภายนอกลดลง 61% ผลจากผลิตภัณฑ์น้ำดื่มและกาแฟ 3 in 1 เพิ่มขึ้น 21% และ 40% ขณะกาแฟกระป๋องอยู่ในระหว่างปรับโฉมใหม่ คาดวางขายเร็วๆ นี้
สำหรับงวดนี้ CBG มีกำไรขั้นต้น 1,017 ล้านบาท ลดลง 31% เทียบปีก่อน เพราะต้นทุนวัตถุดิบและหีบห่อหลัก ตลอดจนต้นทุนพลังงานสูงขึ้น นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนแปลงในส่วนผสมผลิตภัณฑ์ตามยอดขาย (Product mix) ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 263.79 ล้านบาท ลดลงจากงวดนี้ปีก่อนที่ทำไว้ 660.25 ล้านบาท เพราะค่าใช้จ่ายขาย 513 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาดที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนสโมสรฟุตบอล Hoang Anh Gia Lai ของเวียดนาม เพื่อสานต่อการสร้างแบรนด์ในตลาดต่างประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ “สินค้าระดับโลก แบรนด์ระดับโลก” (World Class Product, World Class Brand)