xs
xsm
sm
md
lg

SCB CIO มองการเมืองไทยเป็นความเสี่ยงระยะสั้น แนะจับจังหวะลงทุนระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



SCB CIO ประเมินความไม่แน่นอนของการเมืองไทยในการจัดรัฐบาลใหม่เป็นความเสี่ยงระยะสั้น มองเป็นโอกาสลงทุนระยะยาว แนะสะสมกองทุน RMF-SSF หุ้นไทยกลุ่มท่องเที่ยว บริโภคอุปโภค และโรงพยาบาล ส่วนการจัดการเพดานหนี้สหรัฐฯ มีแนวโน้มเจรจายืดเยื้อ ชี้หุ้นสหรัฐฯ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานน่าสนใจ รอรองรับปันผล มีความผันผวนน้อย และกลุ่มเทคฯ ยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ส่วนหุ้นญี่ปุ่นแนะทยอยขาย หลังปรับขึ้นกว่า 14% จากอานิสงส์เงินเยนอ่อนค่า 

นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง 2 ประเด็นที่นักลงทุนต้องจับตา ได้แก่ การจัดตั้งรัฐบาลของไทย และการจัดการเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงระยะสั้นต่อตลาด แต่มาพร้อมโอกาสการลงทุนระยะยาว โดยประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลของไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจใช้เวลานานกว่าปกติ ด้วยเงื่อนไขการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องมีเสียงสนับสนุน 376 เสียงขึ้นไป จากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งกรอบกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประชุมสภาครั้งแรกภายในวันที่ 28 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาสแรกปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เติบโตได้ 2.7% ฟื้นจากไตรมาส 4 /2565 ที่เติบโตได้ 1.4%

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่จะออกมายังมีรายละเอียดไม่มากนัก ซึ่งอาจมีผลต่อเศรษฐกิจน้อยกว่ามาตรการกระตุ้นครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากภาครัฐมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงอยู่แล้ว รวมถึงหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงถึง 87% ของ GDP ซึ่งน่าจะเป็นข้อจำกัดทำให้ภาคการเงินยังมีความระมัดระวังในการปล่อยกู้อีกด้วย

ทั้งนี้ SCB CIO มองว่า ตลาดหุ้นไทยหลุดพ้นภาวะ earning recession หรือภาวะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสได้เรียบร้อยแล้ว โดยเชื่อว่าดัชนีในระดับปัจจุบันรับรู้ความเสี่ยงจากประเด็นการเมืองไปบ้างแล้ว จึงเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษี ประเภทกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) รวมทั้งแนะนำให้สะสมหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว บริโภคอุปโภค และโรงพยาบาล เนื่องจากผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ แนวโน้มราคาต่อกำไรต่อหุ้น forward P/E ratio ของหุ้นไทยลดลงจากระดับ 15.4 เท่า ก่อนการเลือกตั้งลงมาที่ 15.0 เท่า (มีค่าความผันผวน -0.5 sd)

นายกำพล กล่าวต่อไปว่า ประเด็นปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อาจสร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินโลกได้ โดยคาดว่าปัญหานี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะ earning recession ไปแล้ว เมื่อมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองนี้เข้ามาอาจทำให้ตลาดผันผวนได้ เราได้ประเมินทางเลือกในการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ดังนี้ 1) การเพิ่มเพดานหนี้ แต่เราคาดว่าร่างกฎหมายการเพิ่มเพดานหนี้ที่จะผ่านสภาคองเกรส จะมาควบคู่กับแผนการปรับลดรายจ่ายด้านงบประมาณ 2) กรณีที่ยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ก่อนเข้าใกล้ X-date ซึ่งเป็นวันที่มาตรการพิเศษและกระแสเงินสดของรัฐบาลสหรัฐฯ จะหมดลง เราคาดว่าทางการอาจเลือกผ่านกฎหมายการเพิ่มเพดานหนี้เล็กน้อย หรือผ่านกฎหมายเลื่อนเพดานหนี้ออกไปชั่วคราวจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยต้องพยายามผ่านกฎหมายการเพิ่มเพดานหนี้ควบคู่กับแผนการใช้จ่ายสำหรับปีงบประมาณ 2567

SCB CIO มองว่า ช่วงเวลาเช่นนี้เป็นโอกาสจับจังหวะสะสมหุ้นกลุ่มเชิงรับ (Defensive) ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน (Utilities) ซึ่งมีคุณสมบัติผันผวนน้อย มีเงินปันผลรองรับ ขณะที่มูลค่าหุ้นและการเติบโตของกำไรในปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มที่มีลักษณะเติบโตและมีราคาสมเหตุสมผล นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Mega Tech) ที่ได้อานิสงส์จากผลประกอบการที่ยังแข็งแกร่ง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลง และได้รับกระทบน้อยจากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย พร้อมกันนี้ ยังมีการปรับมุมมองหุ้นญี่ปุ่นเป็นทยอยขาย เนื่องจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นปี 2566 ปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 14% โดยได้อานิสงส์หลักจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่ากว่า 4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และการเปิดเมือง แต่ในระยะข้างหน้าความเสี่ยงเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการปรับค่าจ้างที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.ค. ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีการปรับนโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับขึ้น สวนทางกับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะลดลงจากการหยุดขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินเยนมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น