xs
xsm
sm
md
lg

“ก้าวไกล”นโยบาย ศก.ไม่ชัด กดดันกระดานหุ้นไทยแดงต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นไทยยังรูดกราวรับ “ก้าวไกล” ฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล เหตุหลายฝ่ายกังวลนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยกดดัน คาดเต็มที่ปีนี้กลับมาแถว 1,600 จุด ส่วนปีหน้าเมื่อมีรัฐบาลใหม่และนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนเชื่อทะลุ 1,700 จุด หวั่นนโยบายหลักของพรรคทำได้ไม่หมด แถมล่อเป้าดึงมวลชนลงถนนกดดันเศรษฐกิจประเทศซ้ำเติมต่อ

โดยทั่วไปเมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งเกิดขึ้น แม้จะยังไม่ชัดเจน 100% หรือได้รับการรองรับจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. แต่หลังจากนั้นเพียงข้ามคืนดัชนีหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Set Index) จะขยับตัวในทิศทางขานรับกับพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด

นั่นเพราะเชื่อว่าจะเกิดการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายของพรรคดังกล่าวจะมีผลหรือนัยสำคัญต่อการบริหารและพัฒนาประเทศ ดังนั้น หากนโยบายของพรรคที่มีจำนวน ส.ส.เป็นอันดับหนึ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจหรือการลงทุน ดัชนีหลักทรัพย์ฯจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันถัดมาที่เริ่มเปิดการซื้อขาย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่จะกล้าเข้าลงทุน เพื่อหวังรับโอกาสเติบโตของภาคธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ไม่บ่อยนักที่หลังผลการเลือกตั้งเป็นที่ปรากฏแล้ว แม้จะมีพรรคการเมืองหนึ่งครองเสียงข้างมาก แต่กลับกดดันให้ดัชนีหลักทรัพย์รูดกราว!ในวันถัดมาที่เปิดการซื้อขาย ซึ่งในครั้งนี้ “พรรคก้าวไกล” คือผู้สร้างสถิติดังกล่าวให้เกิดขึ้น

ขณะที่ภาพรวมการเคลื่อนไหวของดัชนีหลักทรัพย์ฯตั้งแต่ต้นปี 2566 ประเดิมด้วย 1,678.97 จุด เพิ่มขึ้น 10.31 จุด จาก 1,668.66 จุด เมื่อวันสุดท้ายของปี2565 (30ธ.ค.) จากนั้นเพียง 7 วันดัชนีหลักทรัพย์ก็สร้างสถิติสูงสุดในรอบปีที่ระดับ 1,691.41 จุด เมื่อวันที่ 10 ม.ค.66 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่นั้นโดยรวมดัชนีหลักทรัพย์เคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางขาลงมาตลอด สาเหตุสำคัญที่กดดันการปรับตัวขึ้นของดัชนีส่วนใหญ่มาจากภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯที่เผชิญวิกฤตสถาบันการเงิน อัตราเงินเฟ้อ รวมถึงเพดานหนี้สาธารณะ จนทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าปี 2566 จะเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

ปัจจัยกดดันดังกล่าว รวมถึงปัจจัยลบภายในประเทศเคยกดดันให้ดัชนีหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวลงมาถึง 1,523.89 จุด เมื่อวันที่ 14 มี.ค.66 ก่อนจะเริ่มรีบาวนด์ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกำลังดุเดือดจนดัชนีสามารถขึ้นมายืนอยู่ที่ระดับ 1,569.56 จุด (10 พ.ค.) และย่อตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1,561.35 จุด เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พ.ค.66 เพื่อรอดูท่าทีผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.66

ตลาดหุ้นลดลงกว่า 10% จากต้นปี

และทันที่เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่า “พรรคก้าวไกล” ครองจำนวน ส.ส.ได้มากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ดัชนีหลักทรัพย์ในวันจันทร์ที่ 15 พ.ค.66 ปรับตัวลดลง 19.97 จุดมาอยู่ที่ 1,541.38 จุด จากนั้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ 1,514.89 จุด เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 พ.ค.)

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากช่วงต้นปี 2566 ดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 164.08 จุด หรือ 10.83% หรืออพิจารณาจากจุดสูงสุดในปี 2566 ที่ระดับ 1,691.41 จุด (10 ม.ค.) ดัชนีลดลง 176.52 จุด หรือ 11.65% หรือเฉพาะแค่เดือนพฤษภาคมที่มีจุดสูงสุด 1,569.56 จุด พบว่าปัจจุบันดัชนีลดลงแล้ว 54.67 จุด หรือ 3.60%

ขณะที่การซื้อขายสุทธิแยกตามประเภทนักลงทุน ในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า นักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ 15,761.03 ล้านบาท ตามมาด้วยบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ขายสุทธิ 1,903.65 ล้านบาท โดยสถาบันซื้อสะสม 17,064.48 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 600.19 ล้านบาท

สำหรับการซื้อขายสะสมตั้งแต่ต้นปี 2566 พบว่า นักลงทุนต่างประเทศขายสะสม 80,522.54 ล้านบาท ตามมาด้วยบัญชี บล.ขายสะสม 5,631.47 ล้านบาท โดยนักลงทุนทั่วไปซื้อสะสม 62,747.41 ล้านบาท และสถาบันซื้อสะสม 23,406.61 ล้านบาท

โดยตัวเลขเหล่านี้ยิ่ง ทำให้นักลงทุนตั้งคำถามต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาว่า “เกิดอะไรขึ้น?” ทั้งที่ประเทศไทยเพิ่งมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น ทำไมดัชนีหลักทรัพย์ไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นรับกับการได้รัฐบาลใหม่ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดตั้งซึ่งนำโดยพรรคก้าวไกล แล้วแบบนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 สังกัดพรรคก้าวไกล
ตลาดรอความชัดเจน

“ธีรดา ชาญยิ่งยงค์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แสดงความเห็นเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ถึงผลการเลือกตั้งว่า การที่ดัชนีปรับตัวลดลงมา เนื่องจากคาดว่ามีแรงขายทำกำไรรับข่าว (Sell on Fact) ผลการเลือกตั้ง และหลังจากนี้นักลงทุนยังจับตาการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะมีหน้าตาพรรคไหนเข้าร่วมรัฐบาล รวมถึงจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และจะเร็วแค่ไหนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งตามกำหนดการคาดว่าจะเห็นในช่วงเดือน ก.ค.66

"เป็นธรรมดาของตลาดหุ้นที่ต้องการความชัดเจน หลังจากนี้อาจรอดูผลดีลฟอร์มทีมรัฐบาล" น.ส.ธีรดา กล่าว

ทั้งนี้ หากการจัดตั้งรัฐบาลผ่านพ้นได้ด้วยดี คาดว่าการมุ่งเน้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นเป็นเป้าหมายแรก ๆ ที่ภาครัฐบาลต้องการแสดงผลงาน ซึ่งกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการจับจ่าย การลงทุน เช่น ค้าปลีก ท่องเที่ยว รับเหมาวัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ มองแนวรับ 1,540 จุด และ 1,530 จุดยังแข็งแกร่ง แนวต้านระยะยาว 1,650 จุด

ขณะที่ “ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมหุ้นไทยปรับตัวลดลงมา มองว่ามาจากนักลงทุนอยากทราบผลการประกาศจาก กกต.อย่างเป็นทางการ เพราะขั้นตอนดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาข้อร้องเรียนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งยังต้องใช้เวลาพิจารณาประมาณ 60 วัน หรือตลาดจะทราบผลช่วงกลางเดือน ก.ค.66 เพราะหากเสียงเปลี่ยน ผลการจับขั้วการเมืองอาจเปลี่ยนแปลงอีกได้ เป็นปัจจัยต้องติดตาม

ไม่เพียงเท่านี้ รัฐบาลชุดใหม่จะต้องรอคะแนนเสียงจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันก้าวไกลยังต้องรอคะแนนจาก ส.ว.ให้เกิน 376 คะแนน และประเด็นสุดท้ายนักลงทุนอาจกังวลแนวทางของพรรคก้าวไกลที่เน้นแนวทางการปฏิรูปมากกว่าการดำเนินเศรษฐกิจ ถือว่าแนวทางของพรรคก้าวไกลนำอย่างโดดเด่นอาจผิดไปจากที่ตลาดคาด

นอกจากนี้ ต้องประเมินต่อคือการจับขั้วรัฐบาล ซึ่งภายใน 2 สัปดาห์นี้คงยังไม่มีความชัดเจน เพราะอยู่ในช่วงเจรจากัน และรอผลอย่างเป็นทางการจาก กกต. ดังนั้นหลังจากนี้ตลาดอาจติดตามแกนนำเศรษฐกิจที่จะเข้ามา

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ชัยชนะของพรรคฝ่ายค้านทั้งก้าวไกล และเพื่อไทยในการเลือกตั้งของไทยเมื่อวันอาทิตย์ (14 พ.ค.) ที่ผ่านมาอาจส่งผลดีต่อผู้ค้าปลีก ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ขณะที่รัฐบาลบาลใหม่อาจจะหนุนความต้องการและปกป้องการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่เปราะบาง

จากข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เห็นได้ชัดว่าทั้งพรรคก้าวไกล และเพื่อไทย ต่างมีคะแนนนำและชนะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มากกว่า 280 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง และหากทั้ง 2 พรรคสามารถตั้งพรรคร่วมรัฐบาลได้ คาดว่าจะดำเนินการตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินสด การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงเบี้ยเลี้ยงนักโทษและผู้สูงอายุ

โดยได้สรุป กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การท่องเที่ยว จะเป็นกลุ่มที่น่าจับตามากที่สุด เนื่องจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่ชูนโยบายการท่องเที่ยวในการหาเสียง โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะสามารถสร้างการจ้างงานและรายได้ในระดับสูง ขณะที่พรรคเพื่อไทย ได้เสนอแผนเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 และให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งเดินทาง

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในสนามบินให้รับมือได้ถึง 120 ล้านคน พร้อมสนับสนุนข้อตกลงไม่ต้องใช้วีซ่าระหว่างประเทศมากขึ้น (Visa-Free Travel) ซึ่งล้วนแต่ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้จะคาดการณ์ว่าระยะข้างหน้า กระแสเงินทุนจะเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) มาที่ตลาดหุ้นไทย แต่ช่วงนี้ยังเป็นช่วงชะลอตัว เนื่องจากแม้ว่าการเลือกตั้งจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่การจัดตั้งรัฐบาลคงยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ทำให้นักลงทุนยังมีความไม่มั่นใจและความกังวลอยู่ ดังนั้นการไหลเข้าของเม็ดเงินยังจำเป็นต้องรอจนจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ หากการจัดตั้งรัฐบาลหากผ่านพ้นได้ด้วยดี คาดว่าการมุ่งเน้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นเป็นเป้าหมายแรก ๆ ที่ภาครัฐบาลต้องการแสดงผลงาน ซึ่งกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการจับจ่าย การลงทุน เช่น ค้าปลีก, ท่องเที่ยว, รับเหมาวัสดุก่อสร้าง, อสังหาริมทรัพย์ โดยมองแนวรับ 1,540 จุด และ 1,530 จุด ยังแข็งแกร่ง แนวต้านระยะยาว 1,650 จุด

ด้านแหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า  สาเหตุที่ดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวลงทั้งที่ทราบผลการเลือกตั้งแล้วว่าพรรคก้าวไกลได้จำนวนส.ส.มากที่สุดนั้น มาจากความไม่ชัดเจนด้านนโยบายเศรษฐกิจของพรรค เพราะพรรคก้าวไกลชูนโยบายที่เน้นแต่การแก้ไขกฏหมาย โดยเฉพาะ ม.112 หรือนโยบายที่เกี่ยวกับทหาร แต่ไม่ปรากฏนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนไม่กล้าลงทุนเพราะไม่รู้ทิศทางว่าจะได้รับการสนุนจากภาครัฐมากน้อยเพียงใด จึงเลือกที่จะชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจน เพื่อรอให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความลงตัวมากกว่านี้ 

นโยบายหลักก็ไม่ง่ายที่จะแก้ 

“นโยบายของพรรคก้าวไกลเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายติดตาม และเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย ๆ หากพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย ก็มีโอกาสที่ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นในสายตานักลงทุนยังมีความเป็นไปได้ที่อาจไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นั่นทำให้ต้องยอมเปิดทางให้พรรคที่มี ส.ส.รองลงมาอย่างเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้ง เรื่องนี้ต้องไม่ลืมว่าแม้ก้าวไกลครองจำนวน ส.ส.มากที่สุด แต่ก็ไม่ถึงครี่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งหมด ยิ่งมีนโยบายที่หลายฝ่ายเห็นค้าน ก็ยิ่งทำให้ไม่มีเสถียรภาพ ตลาดหุ้นก็เลยสะท้อนออกมาโดยปรับตัวไปในทิศทางลบ”

เต็มที่ปีนี้ฟื้นกลับมาระดับ 1,600 จุด 

ขณะเดียวกัน หากพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องนโยบาย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนและภาคธุรกิจ แต่โดยรวมปีนี้คาดว่าดัชนีหลักทรัพย์จะเคลื่อนไหวไม่มาก เต็มที่อาจได้แค่เท่ากับช่วงต้นปี 2566 เนื่องปัจจัยลบจากภายนอกประเทศโดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิขโลกถดถอย ถือเป็นอีกปัจจัยที่กดดดันตลาดทุน แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตได้มากขึ้นในปี 67 ประมาณ 3-4%

“โดยรวมตลาดหุ้นตอนนี้หากสิ้นปีสามารถกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 1,600 จุด หรือเทียบเท่าช่วงต้นปีได้ถือว่าดีมากแล้ว เพราะการจัดตั้งรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เวลา รวมถึงหลายส่วนรอดูนโยบายด้านเศรษฐกิจจะออกมาแบบไหน และเมื่อบวกกับปัจจัยลบภายนอก การที่ดัชนีเคลื่อนไหวที่ระดับ 1,500 จุด และกลับไปถึงระดับ 1,600 จุดได้ในสิ้นปีถือเป็นเรื่องน่าพอใจ ส่วน 1,700 จุด เชื่อว่าเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ มีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจนนั้นก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า”

ส่วนนโยบายหลักของพรรคที่หาเสียงไว้ นอกจากมีความเป็นไปได้ที่อาจไม่สามารถทำได้หมดทุกเรื่อง บางนโยบายของพรรคก็อาจเป็นฉนวนก่อเกิดความวุ่นวายในสังคมตามมาในอนาคต ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และกดดันให้ตลาดหุ้นกลับมาอยู่ในขาลงอีกครั้ง

“ที่ผ่านมาพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะมีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่สำหรับก้าวไกลนั้นไม่ใช่ ไม่เพียงเท่านี้ยังมีผลกระทบกับบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่พรรคต้องการเข้าไปแก้ไข เห็นได้เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ราคาปรับตัวลงอย่างชัดเจน แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าการแก้ไขสัญญาสัมปทานไม่สามารถทำได้ในเร็ววัน และถ้าหากทำก็จะทำให้ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุน และจำเป็นต้องรอแก้ไขในครั้งหน้า ขณะที่กลุ่มธุรกิจผูกขาด และกลุ่มทุนใหญ่ที่มีข่าวว่าจะถูกควบคุม ก็อยากให้รัฐบาลมองถึงความจำเป็นของกลุ่มทุนเหล่านี้ ประเทศไทยวควรจะมีกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ และควรควบคุมด้วยกฏเกณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ และปล่อยให้ธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตต่อไปหากปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ที่ควบคุมไว้เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาที่ไทย”

ล่าสุด บล.กสิกรไทย มองทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วง 22-26 พ.ค. ว่าดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,500 และ 1,475 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,535 และ 1,555 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนเม.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน เม.ย. บันทึกการประชุมเฟด และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนพ.ค. ของจีน ดัชนี PMI เดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น และยูโรโซน ตลอดจนดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเม.ย.

หลังจากที่ผ่านมา (15-19 พ.ค.)หุ้นไทยปิดต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี 2 เดือน ท่ามกลางแรงฉุดจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ หุ้นไทยปรับตัวลงตั้งแต่ต้นสัปดาห์เพราะนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับนโยบายของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเรื่องการลดค่าไฟฟ้าและลดปัญหาการผูกขาดซึ่งกระตุ้นแรงขายหุ้นบิ๊กแคป โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าและสื่อสาร

นอกจากนี้ หุ้นไทยยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายยังไม่ส่งสัญญาณถึงโอกาสของการปรับลดดอกเบี้ย อนึ่ง หุ้นไทยฟื้นตัวช่วงสั้น ๆ ระหว่างสัปดาห์ก่อนจะร่วงลงต่อในช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนยังรอติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น