ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ได้ดำเนินการใช้นโยบายการเงินแบบเคร่งครัดด้วยการขึ้นดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยหลักที่กดดันราคาสินทรัพย์อื่นๆไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ทองคำหรือ Bitcoin
แต่หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯเริ่มลดลงต่อเนื่องประกอบกับความเสี่ยงในแง่ของสถาบันการเงินภายในประเทศ FED จึงได้เริ่มปรับนโยบายการเงินเริ่มที่จะเข้าสู่ภาวะผ่อนคลายมากขึ้นทำให้หุ้นเทคโนโลยีและราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้
อย่างไรก็ตามราคา Bitcoin ที่แม้ว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาได้แต่ตลาดคริปโตในภาพรวมยังถือได้ว่าอยู่ในภาวะซึมต่อเนื่องโดยเฉพาะ Altcoin ที่ยังฟื้นตัวกลับมาได้ไม่เท่ากับ Bitcoin
ปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดคริปโตจึงไม่น่าจะเป็นนโยบายการเงินของ FED แต่น่าจะเป็นนโยบายการกำกับดูแลตลาดคริปโตของ SEC หรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของสหรัฐฯมากกว่า
โดย JP Morgan ได้ออกบทวิเคราะห์ว่าการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่ได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับคริปโตที่มีความชัดเจนโดยเฉพาะการตีความว่าเหรียญใดมีลักษณะคล้ายหลักทรัพย์ได้ส่งผลต่อสภาพคล่องซื้อขายในตลาดคริปโตและกดดันให้บริษัทด้านคริปโตต้องย้ายออกไปต่างประเทศขณะเดียวกันความไม่ชัดเจนในแง่กฎหมายและการกำกับดูแลที่เข้มงวดทำให้นักลงทุนสถาบันเลือกที่จะลงทุนในทองคำมากกว่า Bitcoin
ยังมีข้อมูลสนับสนุนด้วยว่าปริมาณการซื้อขายในตลาด Spot บน Binance ที่เป็น Exchange รายใหญ่ที่สุดในเดือนเมษายนลดลงกว่า 48% ขณะที่ตลาดคริปโตในภาพรวมมีมูลค่าซื้อขายลดลงประมาณ 40% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นอันดับสองนับตั้งแต่ปี 2021
เช่นเดียวกับจำนวนเหรียญ Stablecoin บนศูนย์ซื้อขายแบบ Centralized Exchange ลดลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 โดยอยู่ที่ 22,060 ล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่ทำสถิติสูงสุดที่ 44,000 ล้านดอลล่าร์ในกลางเดือนธันวาคมปี 2022
สาเหตุหลักมาจากความกังวลในด้านกฎหมายที่กำกับ Stablecoin รวมถึงความเชื่อมั่นถึงเสถียรภาพของเหรียญจากวิกฤติธนาคารในสหรัฐฯที่เกิดขึ้น ส่งผลให้จำนวน Stablecoin ถูกผลิตออกมาลดลงจนส่งผลต่อตลาดคริปโตในภาพรวม
สรุปก็คือความเข้มงวดและไม่ชัดเจนของกฎหมายด้านคริปโตของสหรัฐฯเป็นแรงกดดันต่อตลาดคริปโตในภาพรวม เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนหลักในตลาดคริปโตตอนนี้ยังอยู่ในฝั่งสหรัฐฯเป็นหลัก เมื่อเกิดความไม่ชัดเจนจึงทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนออกไป และผู้ประกอบการบางรายอย่าง Coinbase ก็มีความคิดที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มเติม
ปัจจัยหลักที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดคริปโตในระยะยาวอย่างการอนุมัติกองทุน ETF ที่เน้นลงทุนในตลาด Spot ของ Bitcoin ก็มีโอกาสสูงที่จะเลื่อนการพิจารณาอนุมัติออกไปซึ่งน่าจะทำให้ตลาดคริปโตยังอยู่ในภาวะซึมต่อไป
การที่ตลาดจะกลับมาคึกคักได้อาจต้องรอจนกฎหมายและการกำกับดูแลของ SEC สหรัฐฯมีความชัดเจนและไม่เข้มงวดมากจนเกินไป น่าจะทำให้เม็ดเงินฟันด์โฟลว์หันมาลงทุนในคริปโตมากขึ้นซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายซึ่งเราอาจได้เห็นการที่ FED จะลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นขาขึ้นรอบใหม่ของคริปโตใน Bull Run รอบหน้าได้
บทความโดย : ณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS)
สงวนลิขสิทธ์บทความเฉพาะสื่อในเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ MGR online , iBit และ ที่ได้รับอนุญาติจากผู้เขียนซึ่งเป็นเจ้าของบทความเท่านั้น