หลังจากที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ นับรวมได้ 10 ครั้ง นับจากเดือนมีนาคม 2565 จากอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50% มาสู่ระดับ 5.00-5.25%ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 โดยปัจจัยหลักเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวแรงหลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย ประกอบกับราคาพลังงานที่สูงขึ้นมากจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยเส้นทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดนับจาก
รอบแรกปรับขึ้นในอัตรา0.25% ในวันที่ 15-16 มีนาคม 2565 สู่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25-0.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561 และส่งสัญญาณขึ้นต่อทั้งปี
รอบที่สองปรับขึ้น 0.50%สู่ระดับ 0.75-1.00% ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งมากสุดในรอบ 22 ปี พร้อมมีแผนทยอยปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ในขั้นตอนต่อไปเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงทะยานขึ้นแตะระดับ 8.5% ในเดือนมีนาคม 2565 ต่อเนื่องจากกุมภาพันธ์สูงถึง 7.9% สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย 2% กว่า 4 เท่าตัว นับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 41 ปี จากราคาพลังงาน อาหาร ที่อยู่อาศัย ที่เพิ่มขึ้น
ถัดจากนั้น ในรอบที่สาม-สี่-ห้า และหก ซึ่ง เฟดได้สร้างปรากฏการณ์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งละ 0.75% จากเดือนพฤษภาคม 2565 ที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี อยู่ที่ 8.6% โดยการประชุมวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่อัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับ 1.5%-1.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดของเฟดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537 พร้อมกันนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 เฟดได้ทยอยปรับลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนและหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตรา 0.75%รวม 4 ครั้ง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งถูกปรับขึ้นมาแตะ 3.75-4.00% นับเป็นระดับสูงที่สุดของสหรัฐตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 หรือในรอบกว่า 14 ปีในการประชุมวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565
ทั้งนี้ เฟดระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกดอัตราเงินเฟ้อลงมานั้น ยังต้องใช้เวลาแม้ในช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว และสร้างความวิตกกังวลว่าการชะลอตัวดังกล่าวจะกระทบกับเศรษฐกิจโลกที่เพิ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด 19 อย่างไรก็ตาม เฟดจะหารือเรื่องการผ่อนความเร็วการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนครั้งถัดไปในเดือนธันวาคม 2565
อย่างไรก็ดี ความวิตกกังวลดังกล่าว ทำให้ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายในรอบปี 2565 เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50 ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดของสหรัฐ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 หรือในรอบ 15 ปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังสูงกว่ากรอบ ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566 จะสูงแตะที่ระดับ 5.1%
โดยรวมในปี 2565 เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 7 ครั้ง โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 1 ครั้ง ปรับขึ้น 0.50% จำนวน 2 ครั้ง และปรับขึ้น 0.75% จำนวน 4 ครั้ง รวมเป็น 4.25%
ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2566 จากปัญหาต่างๆที่รุมเร้าทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนขึ้น รวมถึงวิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐที่มีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ประสบปัญหาขยายวงกว้างขึ้น อันเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราสูงในระยะเวลาอันรวดเร็วทำให้ในรอบที่แปด-เก้า และสิบ เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25%ทั้งสามครั้งมาสู่ระดับ 5.00-5.25%% ในการประชุมครั้งล่าสุดในวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งล่าสุด ตลาดโดยรวมคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ตลาดช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อได้ทยอยปรับตัวลดลงยังมีนัยสำคัญ ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนขึ้น รวมถึงปัญหาด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงินประเทศที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ดังนั้น ระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00-5.25% น่าจะเพียงพอที่จะทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาสู่ระดับเป้าหมายที่ 2.0%ได้ โดยไม่ให้ส่งผลกระทบคงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจมากเกินควร หรือหลีกเลี่ยงการเกิด Hard landing
ย้อนรอยดอกเบี้ยขาขึ้นของไทย
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น เริ่มต้นการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในการประชุมวันที่ 10 สิงหาคม 2566 โดยมีมติให้ปรับขึ้น 0.25% จาก 0.50% มาเป็น 0.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นนับแต่เดือนธันวาคม 2561 โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ระบุว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด 19 ได้ภายในสิ้นปีนี้ ดังนั้น นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเพื่อรองรับวิกฤตโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีความจำเป็นลดลง โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีแรงส่งชัดเจนขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนปรับดีขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงต่อการการเติบโตของเศรษฐกิจยัวงคงอยู่จากค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงด้านสูง โดยกนงคาดว่าเงินเฟ้อจะขึ้นถึงจุดสูงในไตรมาสนี้
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยรอบที่สองในวันที่ 28 กันยายน 2565 กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 0.75% มาเป็น 1.00% จากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องคาดการณ์ที่ 3.3% ในปี 2565 และ 3.8% ในปี 2566 ตามแรงส่งของภาคการท่องเที่ยว-การบริโภคภาคเอกชน
ครั้งถัดมาในการประชุมวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 การประชุมรอบสุดท้ายของปี 2565 กนง.ยังคงมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 1.00% เป็น 1.25% โดยเศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องโดยรับแรงหนุนภาคการท่องเที่ยว-การบริโภคภาคเอกชนยังเป็นแรงส่งสำคัญ และคณะกรรมการฯมองว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และแนวโน้มเงินเฟ้อในขณะนั้น
เริ่มต้นปี 2566 ในวันที่ 25 มกราคม 2566 การประชุมครั้งแรกของปี 2566 กนง.มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 1.25% เป็น 1.50% โดยกนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน อันเนื่องมาจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่การส่งออกมีทิศทางชะลอตัวในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปี 2567 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯจึงเห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
การประชุมครั้งล่าสุดของปีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 คณะกรรมการ กนง.มีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75%จากเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว-การบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นจากที่่หดตัวในช่วงก่อนหน้า และคาดว่าจะตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งจากแนวโน้มเงินเฟ้อและสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้
วัฏจักรดอกเบี้ยไทยใกล้หมดรอบ?
การประชุมรอบต่อไปของ กนง.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคมที่จะถึงนี้นั้น จากการส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงจุดสิ้นสุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในรอบนี้เช่นกัน..
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ในการประชุมวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาอาจะป็นการปรับขึ้นครั้งสุดทายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจจะเทน้ำหนักมายังความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการคดการณ์ว่า กนง. อาจจะหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้
สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า กนง. มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งไปสู่ระดับ 2.00% ในรอบการประชุมวันที่31พฤษภาคมที่จะถึงนี้ เนื่องจากในการประชุมรอบเดือนมีนาคมที่ผ่านมากนง.ยังมีมุมมองห่วงปัญหาเงินเฟ้อ ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ปัญหาเสถียรภาพการเงินของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบหลังธนาคารบางแห่งในสหรัฐฯและยุโรปมีปัญหา แต่ในเดือนเมษายนทิศทางอัตราเงินเฟ้ออาจไม่ได้ลดลงอย่างรวดเร็วเหมือนที่คาดไว้ก่อนหน้าจากราคาน้ำมันที่ดีดตัวเพิ่มขึ้น จึงน่าจะมีผลให้ทางกนง.ยังจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกหนึ่งครั้ง
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย คาดการณ์ กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องสู่ระดับ 2.00% ในการประชุมรอบเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน เม.ย. ขยายตัว 2.67% เทียบปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 2.83% จากปีก่อน ใกล้เคียงกับนักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 2.7% โดยขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากผลของฐานปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง และราคาพลังงานที่มีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในหมวดเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมอาหารอาจอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ราคาสินค้าในหมวดพื้นฐานยังทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือน เม.ย. โดยราคาสินค้าที่ไม่รวมอาหาร เช่น ค่าโดยสารสาธารณะ (+0.50% เทียบเดือนก่อน ) และราคาในหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (+0.08% เทียบเดือนก่อน ) ทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มาจากหมวดอื่นๆ ที่มิใช่อาหารอยู่ในอัตราที่สูง จึงคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะหนุนให้ กนง.ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC)มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแรงหนุนสำคัญของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจในหลายมิติเข้าใกล้ระดับก่อนเกิดโควิด -19 มากขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในไตรมาส 3 ของปี 2565 และมีสัญญาณขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค และแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ภาวะการเงินไทยปรับตึงตัวขึ้นเล็กน้อย ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 โดยในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ ธปท. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องมาแล้ว 5 ครั้ง จาก 0.5% เป็น 1.75%
ในอนาคต SCB EIC คาดว่า ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องให้เข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว โดยประเมินว่า Neutral rate ของไทยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 2.5% ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยในปัจจุบันยังคงติดลบต่อเนื่อง ซึ่ง ธปท. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมาเป็นบวก และคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวไประยะหนึ่งเพื่อให้กลไกดอกเบี้ยนโยบายใช้เวลาส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป
ทั้งนี้ SCB EIC พบว่า การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจาก 0.5% สู่ระดับ Neutral rate ที่ 2.5% จะส่งผลให้ Real GDP และเงินเฟ้อค่อย ๆ ลดลง โดยเริ่มเห็น Real GDP ลดลงครั้งแรก 0.1% ในไตรมาสที่ 2 หลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก เทียบกับกรณีที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม และ Real GDP จะลดลงมากที่สุดในไตรมาสที่ 7 ทั้งนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม Path ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนมากที่สุด รองลงมาคือการบริโภคภาคเอกชน และการนำเข้าสินค้า
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าหลายสำนักจะยังมีความเห็นที่แตกต่างกันบ้างในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ในระยะข้างหน้า แต่โดยรวม ซึ่งผลการประชุม กนง.ในครั้งถัดไปในวันที่ 31 พฤษภาคมที่จะถึงนี้จะเป็นสัญญาณชัดเจนว่าหนทางดอกเบี้ยขาขั้นของไทยใกล้จะสิ้นสุดหรือนี้จะยังอีกยาวไกลแค่ไหน?!