มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือกลไกการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนสหภาพยุโรป (European Union : EU) เป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้กรอบนโยบาย European Green Deal หรือการวางแผนยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรป (EU) เพื่อสร้างสังคมที่มั่งคั่งและเป็นธรรมบนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ทันสมัย ในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรปลง 55% ภายในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในตลาดการค้าไทยกับ EU
มาตรการ CBAM อาจกล่าวได้ว่าเป็นมาตรการกีดกันสินค้าที่มีมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมต่ำทางอ้อมไม่ให้สามารถส่งออกไปในตลาด EU ซึ่งอาจจะส่งผลให้สินค้าที่มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมต่ำ อาจจะย้ายไปตลาดอื่นที่ไม่มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด รวมถึงประเทศไทย สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยต้องปรับตัวเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมาตรการส่งเสริม และบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ เช่น ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Products) ฉลากลดคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint Reduction) และโครงการนำร่องระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) นอกจากนี้ ยังได้มีการดำเนินการภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันให้มาตรฐานการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
โดยปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้บริษัท หรืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขนาดใหญ่ต้องหันกลับมาพิจารณาลงทุนในประเทศไทยคือ การส่งเสริมให้มีการลงทุนและพัฒนาพลังงานสะอาด หรือการผลิตไฟฟ้าจากแห่งพลังงานสะอาด เช่น ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ซึ่งรัฐบาลได้มีการเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากเอกชน เพื่อรองรับหรือขายให้ภาคอุตสาหกรรมที่มาลงทุนอยู่ในประเทศไทย และกำลังจะเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม และเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในอนาคต
มูลค่าลงทุนไตรมาสแรก 33,048 ล้าน โต 25%
จากแนวทางดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมหลายประเภทให้ความสนใจกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1/2566 ที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามีการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 174 ราย เป็นการลงทุนผ่านการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 56 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 118 ราย คิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 33,048 ล้านบาท
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 46 ราย คิดเป็น 26% เงินลงทุน 12,172 ล้านบาท 2.สิงคโปร์ 30 ราย คิดเป็น 17% เงินลงทุน 4,507 ล้านบาท 3.สหรัฐอเมริกา 25 ราย คิดเป็น 14% เงินลงทุน 1,687 ล้านบาท 4.จีน 10 ราย คิดเป็น 6% เงินลงทุน 10,987 ล้านบาท และ 5.สมาพันธรัฐสวิส 9 ราย คิดเป็น 5% เงินลงทุน 1,677 ล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 พบว่า มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 28 ราย คิดเป็น 19% อนุญาต 174 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 33,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,664 ล้านบาท คิดเป็น 25%
จากนโยบายการส่งเสริมสนับสนุนการลงทุน และความเพียบพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และระบบคมนาคมที่มีการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ระบบคมนาคมขนส่งมีระบบโครงขายเชื่อมต่อกันทั้งระบบและสามารถขนส่งสินค้าสะดวกขึ้นทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมรองรับมาตรการ CBAM ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกไปในกลุ่มประเทศ EU สะดวกขึ้น ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายการลงทุนของทั่วโลก
ESR อสังหาฯ เพื่ออุตฯ ระดับโลกประกาศลงทุนในไทย
ล่าสุด ESR ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาฯ ระดับโลกเดินเกมรุกขยายฟุตพรินต์ในไทยเป็นครั้งแรก สำหรับ ESR คือผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ อินเดีย นิวซีแลนด์ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังมีการดำเนินงานในทวีปยุโรปและอเมริกา คิดเป็นทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการมูลค่ามากกว่า 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ESR มีระบบโซลูชันที่ตอบโจทย์นักลงทุน จากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตสอดรับกับเศรษฐกิจยุคใหม่ผ่านกองทรัสต์ที่หลากหลายของบริษัท ปัจจุบัน ESR มีบทบาทเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ที่สุดของกองทรัสต์ ESR และผู้จัดการกองทรัสต์ ที่มีพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท
• ประกาศลงทุน 2 โครงการใหม่
ปัจจุบัน ESR มีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 2 โครงการ มูลค่าลงทุน 8,000 ล้านบาท 1.โครงการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ (แหลมฉบัง) ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียง 15 นาทีถึงท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นเขตส่งเสริมกิจการพิเศษโดยหน่วยงานภาครัฐเพื่อส่งเสริมการลงทุน ยกระดับนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย โดยมีพื้นที่รวม 100 ไร่ (160,000 ตารางเมตร) และพื้นที่อาคารรวม 93,000 ตารางเมตร คาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2568
2.โครงการตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (สุวรรณภูมิ) มีพื้นที่รวม 225 ไร่ หรือ 363,500 ตารางเมตร และพื้นที่อาคารรวม 253,500 ตารางเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2569 โดยโครงการมีจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญอีกหลายแห่ง และท่าเรือแหลมฉบัง เหมาะสมกับธุรกิจโลจิสติกส์ในการใช้เป็นฮับกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ ผู้ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซ ศูนย์รวมและกระจายสินค้าผ่านการขนส่งทางอากาศ ตลอดจนธุรกิจขนส่งสินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ
• แผน 5 ปีลงทุนเพิ่ม 1,000 ล้านดอลลาร์
การลงทุนในระยะยาวจากนี้ โดยในระยะ 5 ปีบริษัทจะมีการขยายการลงทุนเพิ่มกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการระดมทุนจากกองทุนพัฒนาของบริษัทฯ โดยมูลค่าการลงทุนนี้สอดคล้องกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่คาดการณ์ไว้ในระหว่างปี 2565-2570 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี 3.28% ซึ่งเชื่อว่าทำเลยุทธศาสตร์ โซลูชันอาคารเพื่ออุตสาหกรรมที่เหนือกว่าคู่แข่งและตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ประกอบกับทีมงานมากด้วยประสบการณ์ จะดึงดูดผู้เช่าที่เป็นบริษัทข้ามชาติ (MNCs) ในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่และภาคธุรกิจที่มีการเติบโตสูง
โดย ESR จะดำเนินงานตามกรอบ ESG ที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญ โดยอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมในประเทศไทยสอดคล้องกับนโยบายระดับกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งให้ความสำคัญในการใช้งานอย่างครอบคลุมและยั่งยืน เช่น การให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานหมุนเวียน การออกแบบที่ให้ความสำคัญต่อผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง การใช้พลังงานไฟฟ้าในการขนส่ง การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างการพัฒนาโครงการ โดยคุณลักษณะเหล่านี้จะได้รับการวางแผนออกแบบตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงพัฒนาเสร็จสิ้น โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและการใช้งานของผู้เช่าเป็นสำคัญ
นายเจฟฟรีย์ เชิน และคุณสจ๊วต กิ๊บสัน ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหารร่วม บริษัท อีเอสอาร์ กรุ๊ป ลิมิเต็ด หรือ “ESR” กล่าวว่า หลักการสร้างการเติบโตของบริษัทฯ คือการลงทุนในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ซึ่งหมายรวมถึงธุรกิจโลจิสติกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ วิทยาศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิต และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก
การขยายฟุตพรินต์ในประเทศไทยครั้งนี้จึงนับว่าเป็นการขยายธุรกิจ สร้างความแข็งแกร่งเชิงกลยุทธ์ให้แก่ธุรกิจ โดยประเทศไทยมีการพัฒนาสู่ความเจริญอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีจำนวนประชากรและกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการพื้นที่เพื่อรองรับกิจกรรมด้านโลจิสติกส์คุณภาพสูงเพิ่มมากขึ้น นอกจากด้านการเติบโตทางธุรกิจ ESR เล็งเห็นโอกาสการสร้างอาชีพและตำแหน่งงานในประเทศให้มากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเป็นส่วนหนึ่งแบ่งปันความรู้และถ่ายทอดความเชี่ยวชาญเพื่อยกระดับแรงงานในท้องถิ่นให้มีทักษะสูง ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในภายภาคหน้า พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งให้ความสำคัญด้านการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) ควบคู่ไปกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและสอดคล้องกับแนวคิดความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
นายเจ เมียร์ปูริ Head Singapore Development & Thailand, ESR Group กล่าวว่า ประเทศไทยมีเศรษฐกิจเติบโตเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมียุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่า เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยุคใหม่ โลจิสติกส์ ยานยนต์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล ทำให้ประเทศไทยนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์สร้างการเติบโตของ ESR ในภูมิภาคนี้ ดังนั้น นอกจากโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทั้ง 2 แห่งนี้แล้ว กลุ่มบริษัทฯ จึงยังมีแผนมองหาโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติมในทำเลยุทธศาสตร์แห่งอื่นที่มีศักยภาพในการเติบโตด้านโลจิสติกส์ เช่น บางนา-ตราด ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และวังน้อย จากนั้นจึงจะขยายไปพื้นที่จังหวัดอื่น เช่น เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และขอนแก่น
ครึ่งปีแรก FPT รายได้-กำไรพุ่ง สะท้อนตลาดขยายตัว
รายงานแจ้งว่าผลการดำเนินงาน “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” บริษัทอสังหาฯ ครบวงจร ครึ่งปีแรก (ต.ค.2565-มี.ค.2566) มีรายได้รวม 7,130 ล้านบาท กำไรสุทธิ 635 ล้านบาท โดยไตรมาสที่ 2 (ม.ค.-มี.ค.2566) มีรายได้รวม 3,424 ล้านบาท กำไรสุทธิ 318 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจเติบโตตามแผนงาน จากการบาลานซ์พอร์ตโฟลิโอทั้งรายได้จากการขายอสังหาฯ และกระแสรายได้จากค่าเช่าที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แรงขับเคลื่อนธุรกิจมาจากกลุ่มอสังหาฯ เพื่ออุตสาหกรรม และอสังหาฯ เพื่อพาณิชยกรรม ในครึ่งปีแรกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทสามารถสร้างรายได้จากค่าเช่าและบริการได้ถึง 1,350 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาส 2 ธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่ามีจำนวนลูกค้าใช้บริการอย่างหนาแน่น สามารถสร้างอัตราการเช่าได้สูงถึง 86%
ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยบวกจากดีมานด์พื้นที่เช่าเพิ่มขึ้นของลูกค้ากลุ่มยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่ธุรกิจขยายตัว และนักลงทุนต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตมาไทย รวมถึงมีรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศทั้งโครงการโลจิสติกส์พาร์ค ในประเทศอินโดนีเซียและประเทศเวียดนาม ที่สามารถรักษาอัตราการเช่าไว้ในระดับสูงเช่นกัน ทั้งนี้ เตรียมส่งมอบอาคารคลังสินค้าแบบสร้างตามความต้องการ (Built-to-Suit) แห่งใหม่ในไตรมาส 3 ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยรวม 19,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในโครงการเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โลจิสติกส์ พาร์ค (วังน้อย 2) จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่เพิ่งแล้วเสร็จ
ขณะที่กลุ่มอสังหาฯ เพื่อพาณิชยกรรมในส่วนของอาคารสำนักงานให้เช่าเกรดเอ สามารถรักษาอัตราการเช่าไว้สูงถึง 92% และมีรายได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้นจากโครงการมิกซ์ยูสสีลมเอจที่เติมเข้ามาในพอร์ต อีกทั้งยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เช่า ขณะที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์มีการจัดกิจกรรมการตลาดและอีเวนต์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยเพิ่มทราฟฟิกได้เป็นอย่างดี
แนวโน้มการลงทุนอุตสาหกรรมปี 66
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์เศรษฐกิจ และแนวโน้มสำคัญสำหรับการลงทุน ว่า แม้ว่าความผันผวนจะต่อเนื่องไปในปี 2566 แต่จะเป็นปีที่เป็นโอกาสในการลงทุน เป็นปีที่สำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ควรพลาด โดยแนวโน้มสำคัญสำหรับการลงทุนในปี 2566 ได้แก่
· การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคธุรกิจที่ดีเด่นเป็นพิเศษ เพราะคิดเป็น 15% ของ GDP ไทย และเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ดังนั้น ภาคท่องเที่ยวจึงเป็นธีมสำคัญในการลงทุน และในภาคต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร การเดินทาง รวมถึงของฝากจะได้รับอานิสงส์ด้วย
· การกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติหลังจากที่เปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ นักธุรกิจเริ่มกลับมาเดินทางอีกครั้ง เช่น บริษัท BYD บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน ตัดสินใจซื้อที่ดิน 600 ไร่จากบริษัท WHA เพื่อมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และส่งออก 150,000 คันต่อปี หรือบริษัท AWS (Amazon Web Services) ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ในเครือ Amazon ตัดสินใจลงทุนครั้งสำคัญในไทย ตั้ง Cloud Region และเตรียมต่อยอดลงทุนระยะยาวอีกเกือบ 2 แสนล้านบาท และบริษัท Google อาจจะตามมาด้วยเช่นกัน
· อาเซียนกำลังกลายเป็น Key Gateway ในการเข้าสู่เอเชีย เนื่องจากรัสเซียกำลังทำสงคราม นักลงทุนที่ไปลงทุนแล้วต้องถอนทุนกลับมา ขณะที่จีนกำลังมีปัญหากับสหรัฐฯ และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในช่วงต่อไป จีนจึงกลายเป็นประเทศที่หลายคนกำลังคิดว่าอาจจะไม่ใช่ที่เหมาะสมในการเอาเงินไปลงทุนช่วงนี้ ส่วนอินเดีย แม้จะเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจและกำลังเติบโตได้ดี แต่ในอินเดียแต่ละเมืองหรือแต่ละพื้นที่ล้วนมีกฎเกณฑ์ของตนเอง ขณะเดียวกัน การทำธุรกิจกับคนอินเดียก็ไม่ง่าย
จะเหลือแค่อาเซียนที่เป็นประตูเมืองที่เปิดกว้าง รับนักลงทุน อยู่ง่าย อยู่สบาย ต้นทุนกำลังดี มีกำลังซื้อที่เหมาะสม อาเซียนคือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญจึงทำให้การลงทุนต่างประเทศกำลังหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาค
· อุตสาหกรรมในช่วงต่อไป : Intermediate S-Curve การรพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่อนาคต เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปเครื่องฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างง่าย พลังงานเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิล หรือแม้กระทั่งอาหาร อุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังถูก Disrupt และทุกคนกำลังมุ่งหน้าลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
แนะส่งเสริมลงทุน 7 อุตสาหกรรม S-Curve
โดยประเทศไทยต้องก้าวขึ้นสู่การใช้เทคโนโลยีในขั้นถัดไป ซึ่งต้องล้ำสมัยเพื่อหา Value ที่สำคัญเพิ่มเติม โดยมีหลายอุตสาหกรรมที่เรียกว่า Intermediate S-Curve เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่น่าสนใจ ดังนี้
1.เกษตร อาหาร ชีวภาพ เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นความเข้มแข็งของประเทศไทย และในช่วงที่เกิดวิกฤตอาหารโลกอยู่ในขณะนี้ เป็นอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมาอย่างแน่นอน
2.ท่องเที่ยว สุขภาพ เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังกลับมาหลังเปิดประเทศและเป็นอุตสาหกรรมหลักของ GDP ไทย
3.ยานยนต์ไฟฟ้า ขณะนี้มีหลายบริษัทตั้งใจใช้ไทยเป็น Hub สำคัญในการสร้างยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นมา โดยอาศัย Supply Chain ที่มีอยู่แล้วเป็นพื้นฐานที่สำคัญ และเปลี่ยนบริษัทที่เคยผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปให้ผลิตรถยนต์ยุคใหม่
4.ปิโตรเคมีชั้นสูง การทำปิโตรเคมีแบบเดิมๆ เริ่มไม่ตอบโจทย์ ต้องสร้างลักษณะเฉพาะเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคา มี Margin มากขึ้น
5.Logistics ต่อไปประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า บริษัท FedEx หรือบริษัทอื่นๆ กำลังมาคุยกับประเทศไทยว่าจะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าได้อย่างไร
6.Digital & Startup เป็นอุตสาหกรรมที่เหมาะกับประเทศไทย เพราะมีความได้เปรียบทั้ง Location และทรัพยากรต่างๆ
7.International Hub เป็นอุตสาหกรรมที่เหมาะกับประเทศไทย เพราะมีความได้เปรียบทั้งLocation และทรัพยากรต่างๆ เช่นกัน
“การลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอื่นๆ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยมีหลายโครงการใน EEC ที่เริ่มไปแล้ว เช่น ท่าเรือน้ำลึกที่มาบตาพุด และแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่ค่อยๆ เปลี่ยนให้โครงการ EEC เหมาะสำหรับการเข้ามาของนักลงทุน รองรับอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต จึงอยากให้นักลงทุนจับตามองโครงการนี้ในอนาคตด้วยเช่นกัน” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว