xs
xsm
sm
md
lg

THBA ชี้รับสร้างบ้าน Q2 แบกต้นทุนอ่วม ส่องกำลังซื้อบ้าน 10 ล้านอัปลดฮวบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นิรัญ โพธิ์ศรี
สมาคมไทยรับสร้างบ้าน เผยต้น Q2 ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนวัสดุปรับตัวสูงขึ้น หลังผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างพาเหรดอัปราคา 20% กระทบรับสร้างบ้านเต็มๆ บ้านหรู 10-20 ล้านชะลอตัว หลังผู้บริโภครอความชัดเจนหลังเลือกตั้ง

นายนิรัญ โพธิ์ศรี นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน Thai Home Builders Association (THBA) กล่าวว่า “ในช่วงไตรมาส 2 นี้ ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างชั้นนำรายหลักๆ ประกาศปรับราคาขายอีกรอบ อ้างเหตุต้นทุนวัตถุดิบราคาพุ่งสูง ซึ่งก่อนหน้านี้มีการปรับขึ้นราคาในช่วงกลางปีและปลายปี 2565 มาก่อนแล้ว ท้ังนี้วัสดุและบริการที่มีการปรับขึ้นราคาเริ่ม 7-20% อย่างเช่น อิฐมวลเบา โครงหลังคาเหล็กสำเร็จรูป กระเบื้องหลังคาคอนกรีต ปูนซีเมนต์ กระเบื้องตกแต่งผนัง

นอกจากนี้ ผู้ผลิตและจำหน่ายยังขยายระยะเวลาส่งมอบสินค้านานขึ้นเมื่อมีคำสั่งซื้อ จากเดิมระยะเวลาส่งมอบสินค้า 15-45 วัน แต่ปัจจุบันขยายระยะเวลาออกไปเป็น 30-90 วัน หรือส่งมอบสินค้าช้ากว่าเดิมเท่าตัว โดยเฉพาะอิฐมวลเบาที่มีการปรับราคาขึ้นทุกเดือนมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการรับสร้างบ้านได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า ทั้งต้นทุนวัสดุที่ปรับสูงขึ้น และระยะเวลาก่อสร้างที่ต้องล่าช้าออกไป ในขณะที่บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นบ้านทำสัญญาในราคาต้นทุนเดิมช่วงปลายปีที่แล้วหรือก่อนหน้านี้

“อาจกล่าวได้ว่าเป็น “ทุกขลาภ” สำหรับผู้ประกอบการที่มีสต๊อกสร้างบ้านในมือจำนวนมาก แต่มาเริ่มงานก่อสร้างบ้านในช่วงต้นปี 2566 โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายที่เน้นตัดราคาคู่แข่งหรือหั่นราคาไว้ต่ำมากๆ โดยหวังว่ากำไรที่ลดลงจะชดเชยด้วยปริมาณสร้างบ้านที่ได้มาเพิ่มขึ้น แต่เมื่อต้องแบกรับต้นทุนใหม่ที่พุ่งสูงเกินคาดและปัญหาวัสดุขาดตลาดหรือผู้จำหน่ายส่งมอบล่าช้า จึงไม่อาจเร่งระยะเวลาการก่อสร้างให้เร็วขึ้นหรือต้องล่าช้าออกไปกว่าเดิม เท่ากับต้นทุนค่าบริหารจัดการสูงขึ้นเป็นเงาตามกัน บอกได้เลยว่างานนี้หนาวๆ ร้อนๆ กันทีเดียว ซึ่งปีนี้กำรี้กำไรคงไม่ต้องคาดหวังกัน เอาเป็นว่าทำอย่างไรไม่ให้บาดเจ็บและปลอดภัยพอ อย่างไรก็ตามรายใดจะบาดเจ็บหรือรายใดจะอยู่รอดปลอดภัย เชื่อว่าผู้ประกอบการที่มีความเป็นมืออาชีพและมีประสบการณ์มานาน เคยผ่านสถานการณ์ลักษณะนี้มาแล้วจะมีวิธีรับมือได้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย”

นายกสมาคมกล่าวว่า ลักษณะของการดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านนั้น ผู้ประกอบการกับผู้บริโภคในฐานะผู้ว่าจ้างจะตกลงราคาและทำสัญญากันก่อน จากนั้นจึงจะเริ่มกระบวนการก่อสร้างตามสัญญาที่ตกลงกัน โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะคำนวณราคาค่าก่อสร้างจากต้นทุน ณ ขณะที่ตกลงทำสัญญากัน ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นกังวลและจะต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ เพื่อรับมือกับปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนในอนาคตที่สูงขึ้นคือ “ต้นทุนค่าแรงงาน” ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกหลังผ่านพ้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ เพราะหากฟังจากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลและพรรคที่จะร่วมรัฐบาลแล้ว มีแนวโน้มสูงว่านโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะถูกหยิบยกนำมาประกาศใช้แน่นอน ฉะนั้นหากผู้ประกอบการไม่ระมัดระวังในการคำนวณราคาต้นทุน และราคาขายที่แม่นยำหรือใกล้เคียงที่สุด คงหนีไม่พ้นผลกระทบอีกหนึ่งเด้ง อย่างเช่น คำนวณราคาต้นทุนต่ำเกินไปจะยิ่งขาดทุนหนัก แต่หากคำนวณราคาเผื่อไว้สูงเกินไป ผู้บริโภคหรือผู้ว่าจ้างอาจหนีไปใช้บริการคู่แข่ง เป็นต้น

สำหรับ ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 2 นี้ สมาคมฯ ประเมินว่าความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่แล้ว โดยกำลังซื้อผู้บริโภคกลุ่มราคาบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาทขยายตัวดีขึ้น สวนทางกับผู้บริโภคกลุ่มบ้านราคา 10-20 ล้านบาทขึ้นไป พบว่าขยายตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันเมื่อปีก่อน คาดว่าประการแรกเกิดจากผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจเอาไว้ ประการถัดมาเป็นเพราะความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคกลุ่มนี้ลดลง ซึ่งหมายถึงว่ามีการซื้อหรือสร้างบ้านกันก่อนหน้านี้จำนวนมากแล้ว หรืออาจได้รับผลกระทบจากการค้าและธุรกิจที่ซบเซา อย่างไรก็ดี สมาคมฯ ประเมินว่ากำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภคที่ยังไม่ตัดสินใจซื้อหรือสร้างบ้านในช่วงนี้ อาจเพราะจะรอดูความชัดเจนผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน

“โอกาสที่กำลังซื้อของผู้บริโภคและตลาดรับสร้างบ้านจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง สมาคมฯ ประเมินว่ามีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะหากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามที่ผู้บริโภคและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศคาดหวัง” นายนิรัญ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น