xs
xsm
sm
md
lg

ขุนคลังร่วมประชุม ADB แนะให้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียวมาใช้กับประเทศสมาชิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ในฐานะผู้ว่าการของประเทศไทยใน ADB ในระหว่างวันที่ 2-5 พฤษภาคม 2566 ณ เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี โดยในวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมต่างๆ โดยมีผลการประชุม ดังนี้

1.การประชุม Business Session ประธาน ADB รายงานผลการดำเนินงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เช่น ผลกระทบจากปัญหารัฐภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้า ความมั่นคงด้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งผู้ว่าการ ADB ของประเทศสมาชิกได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและแนวนโยบายการดำเนินงานของ ADB ภายใต้แนวคิด “Rebounding Asia : Recover, Reconnect, and Reform” โดยได้มีการเรียกร้องให้ ADB ให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งให้ ADB สนับสนุนประเทศสมาชิกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถ้อยแถลงว่าประเทศไทยสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของ ADB และเสนอแนะADB ให้ความสำคัญการแก้ไขปัญหาความยากจนและการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีความเปราะบางและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง และเพื่อให้บรรลุถึงผลดังกล่าวจึงแนะนำให้ ADB พิจารณานำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทยประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนประเทศสมาชิกอื่นต่อไป

2.การประชุมเต็มคณะของสภาผู้ว่าการ ADB (Plenary Session) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ “Boosting ADB’s Lending Capacity” เพื่อหารือถึงแนวทางที่ ADB จะเพิ่มศักยภาพในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้นภายหลังจากวิกฤตต่างๆ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แสดงความคิดเห็นว่าประเทศไทยเห็นด้วยกับ ADB ในการขยายความช่วยเหลือทางการเงินให้แก่ประเทศสมาชิก และแนะนำให้ ADB พัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่มีประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกมากยิ่งขึ้น รวมถึงแสวงหาความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาอื่นโดยคำนึงถึงความมั่นคงทางการเงิน

นอกจากนี้ ในห้วงการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับ Mr.Hayashi Nobumitsu, Governor, Japan Bank for International Cooperation (JBIC) เพื่อหารือเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลก และนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย และได้แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในโครงการที่มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ทั้งนี้ การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB ครั้งต่อไปมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2567 ณ กรุงทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย

กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร.0-2273-9020 ต่อ 3607








กำลังโหลดความคิดเห็น