เงินเยนเทียบบาทอ่อนค่าทุบสถิติ นักท่องเที่ยวไทยแห่เที่ยวญี่ปุ่น บริษัทรับแลกเงินรับยอดทะลักต่อวันถึง 100 ล้านเยน สูงขึ้นกว่าปกติค่อนข้างมาก “กสิกรไทย” ระบุความต้องการเงินเยนเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว
นับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่มีแผนเดินทางเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เพราะค่าเงินเยนเทียบเงินบาทในช่วงนี้อ่อนค่าทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2566 เงินเยนเทียบเงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดที่ระดับ 24.79 บาทต่อ 100 เยน ก่อนที่จะขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยมาปิดตลาดวานนี้ (3 พ.ค.) ที่ระดับ 25.08 บาทต่อ 100 เยน
โดยสาเหตุการอ่อนค่าของเงินเยน เป็นผลจากนักลงทุนผิดหวังกับผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ยังคงจุดยืนการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ
นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริษัท และพนักงาน บริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) จำกัด หรือซุปเปอร์ริส สีส้ม เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ที่เงินเยนอ่อนค่าลงเป็นพิเศษ ทำให้มีประชาชนรายย่อยเข้ามาจองซื้อเงินเยนจำนวนมาก ล่าสุด วานนี้ (3 พ.ค.) ยอดจองซื้อเงินเยนมีสูงถึง 100 ล้านเยนต่อวัน นับเป็นระดับที่สูงกว่าปกติค่อนข้างมาก
“ช่วงเปิดประเทศปลายปีก่อนมียอดจองซื้อเงินเยนราว 40 ล้านเยนต่อวัน ก่อนจะเบาบางลงจนถึงช่วงวันหยุดยาว วันแรงงาน ที่มีมูลค่าเฉลี่ยวันละ 20-30 ล้านเยน แต่ล่าสุดในช่วงนี้ดีมานด์เงินเยนพุ่งขึ้นมาสูงถึง 100 ล้านเยนต่อวัน ซึ่งเป็นผลจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงไปค่อนข้างมาก”
ทั้งนี้ แรงจองซื้อเงินเยนที่เข้ามารอบนี้เป็นกลุ่มรายย่อยทั้งหมด สะท้อนว่าความต้องการเงินเยนที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มคนที่แลกไว้ใช้จ่ายเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นในปีนี้อยู่แล้ว เพราะด้วยระดับเงินเยนที่ประมาณ 24-25 บาทต่อ 100 เยน ถือว่าถูกกว่าในช่วงก่อนหน้านี้ที่ประมาณ 26 บาทต่อ 100 เยน ทำให้มีความต้องการแลกเงินเยนเข้ามามาก
นายปิยะ กล่าวด้วยว่า แม้ดีมานด์การแลกเงินเยนจะมีเข้ามามาก แต่เนื่องจากเราใช้วิธีเปิดให้จองซื้อจึงยังสามารถบริหารจัดการได้ ปัญหาการขาดแคลนธนบัตรเงินเยนในช่วงนี้จึงไม่มี และปัจจุบันคนที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะใช้เงินในแทรเวลการ์ด ซึ่งในส่วนของการพัฒนาวอลเล็ตของเรา ขณะนี้ได้ยื่นให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาอยู่
ด้านนักบริหารเงินธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ยอดจองซื้อเงินเยนของกองทุนและนักลงทุนรายใหญ่ วานนี้ (3 พ.ค.) ยังอยู่ในระดับปกติ เพราะเป็นช่วงหยุดยาวในไทย ทำให้การซื้อขายของกองทุนไม่ได้มีความเคลื่อนไหวหวือหวา
ประกอบกับนักลงทุนรายใหญ่ที่ต้องการซื้อขายเก็งกำไรค่าเงินนั้นอาจจะรอความชัดเจนการประชุมเฟด ในวันที่ 2-3 พ.ค.นี้ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามมที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.25% หรือไม่ หากเป็นไปตามที่ตลาดคาด เงินดอลลาร์มีโอกาสปรับตัวลง และเงินเยนมีโอกาสถูกลงไปอีกในจุดที่มีนัยสำคัญเข้าสะสมมากกว่าระดับปัจจุบันหรือไม่ เพราะจะเห็นว่าเมื่อมีแรงซื้อเงินเยนเข้ามากราคาจะกลับขึ้นไปที่ 26 บาทต่อ 100 เยน
นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เงินเยนที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการแลกเงินจากนักท่องเที่ยวมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีแผนท่องเที่ยวญี่ปุ่นอยู่แล้ว หรือกำลังวางแผนไปท่องเที่ยว
นอกจากนี้ พบว่าการแลกเงินเยนสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ที่เป็นปัจจัยหนุนให้นักท่องเที่ยวต้องการแลกเงินเพิ่มขึ้นหากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบันความต้องการเงินเยนปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง มาใกล้เคียงที่ระดับ 80% หากเทียบกับก่อนโควิด-19 โดยสัดส่วนการแลกเงินเยนมีทั้งผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร และผ่านช่องทางออนไลน์หรือ YOU Trip โดยเฉพาะระยะหลังๆ ที่พบนักท่องเที่ยวนิยมแลกเงินผ่าน YOU Trip ของธนาคารเพิ่มขึ้น เพราะคล่องตัวในการซื้อและขายอัตราแลกเปลี่ยน
อีกทั้งเรตอัตราแลกเปลี่ยนถือว่าดีระดับต้นๆ หากเทียบกับซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสัดส่วนการซื้อผ่านช่องทาง YOU Trip ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 30% และช่องทางปกติที่ 70%
“ตั้งแต่โควิดเป็นต้นมาเงินเยนมักอยู่ในทิศทางอ่อนค่า ดังนั้นช่วงแรกๆ ที่เงินเยนอ่อนค่า ตอนนั้นคนซื้อเก็บไว้ค่อนข้างมาก แต่หลังๆ คนเริ่มเคยชินกับการอ่อนค่าของเงินเยนมากขึ้น ทำให้การซื้อเงินเยน แม้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เงินอ่อนค่า แต่หากเทียบกับช่วงเวลาปกติ ก่อนโควิดยังต่ำกว่า และส่วนใหญ่คนที่แลกเงินเยนมักเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เช่น กลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อน”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ความต้องการเงินเยนมีเพิ่มขึ้นในช่วงที่เงินเยนอ่อนค่า ซึ่งมาจาก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกนักท่องเที่ยว และอีกกลุ่มที่เห็นการทำธุรกรรมมากขึ้น คือภาคธุรกิจที่มีธุรกิจนำเข้าส่งออก ในการใช้จังหวะนี้ในการแลกเงินเยนเพิ่มขึ้น
รวมถึงบริษัทที่มีความเกี่ยวเนื่องกับญี่ปุ่น หรือกลุ่มนักลงทุนที่มีความต้องการแลกเงินเยนมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนที่ออกไปลงทุนซื้อตราสารหนี้ในญี่ปุ่น ที่มีโอกาสได้ยิลด์สูง หากเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศไทย อีกทั้งยังมีความได้เปรียบจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่า ดังนั้น จะเห็นเงินไหลออกไปสู่สินทรัพย์เหล่านี้เพิ่มขึ้น
“เราเห็นพฤติกรรมคนเปลี่ยน ใช้ Travel Card ของกรุงไทยมากขึ้นในการซื้ออัตราแลกเปลี่ยน ทั้งซื้อเก็บ หรือเพื่อท่องเที่ยว แต่ยังสัดส่วนไม่เท่ากับการแลกผ่านเคาน์เตอร์ แต่สัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินเยน พบว่า หลักๆ มาจากหลังการประชุม BOJ ที่ยังไม่เห็นการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ทำให้เป็นแรงกดดันทำให้เงินเยนอ่อนค่า อีกทั้งระยะนี้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด”