ทีเอชเอส รับเบอร์ ถูกฮุบสิทธิคะแนนโหวตประชุมผู้ถือหุ้น "ไดเมท (สยาม)" เผยเส้นทางทุนจีนเทาส่อเค้าไม่โปร่งใส เร่งใช้กฎหมายตรวจสอบ
กรรมการบริษัท ที.เอช.เอส. รับเบอร์ อินดัสทรี จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งใน ผู้ถือหุ้นของ บริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด (มหาชน) หรือ DIMET เปิดเผยว่า ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 บริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด (มหาชน) ได้นำคะแนนเสียงจำนวน 56,250,000 หุ้น ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัท ที.เอช.เอส. รับเบอร์ อินดัสทรี จำกัด ไปรวมคำนวณในการใช้สิทธิออกเสียงของนายเหอ จือ หวง ที่ได้ใช้ออกเสียงในการลงคะแนนอนุมัติในวาระที่ 1 วาระที่ 3 วาระที่ 4 และวาระที่ 7 และการลงคะแนนไม่อนุมัติในวาระที่ 5 และวาระที่ 6 ในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566
โดยไม่อนุญาตให้บริษัท ที.เอช.เอส. รับเบอร์ อินดัสทรี จำกัด ได้ใช้สิทธิออกเสียงตามใบหุ้นเลขที่ 09660100000078 จำนวน 56,250,000 หุ้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนและขัดต่อข้อบังคับ ข้อที่ 38 ที่กำหนดให้ในการออกเสียงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้ถือว่าหุ้นหนึ่งมีหนึ่งเสียงอันส่งผลให้มติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 เป็นมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้บริษัท ที.เอช.เอส. รับเบอร์ อินดัสทรี จำกัด และผู้ถือหุ้นรายย่อยได้รับความเสียหาย เนื่องจากหากไม่นำหุ้นจำนวนมารวมคำนวณเป็นคะแนนแล้ว มติในวาระที่ 1 วาระที่ 3 วาระที่ 4 วาระที่ 5 และวาระที่ 7 แล้วจะเป็นมติที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นทั้งหมด ซึ่งบริษัท ที.เอช.เอส. รับเบอร์ อินดัสทรี จำกัด และผู้ถือหุ้นอีก 5 ราย ได้ทำการยื่นฟ้องบริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด (มหาชน) ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.947/2566 เพื่อขอให้ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ในทุกวาระการประชุม โดยศาลจังหวัดสมุทรปราการได้กำหนดนัดชี้สองสถาน หรือสืบพยานโจทก์ในวันที่ 26 มิถุนายน 2566 เวลา 13.30 น.
อนึ่ง ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวอีกท่านหนึ่งว่า เดิม นายเหอ จือ หวง เป็นบุคคลสัญชาติไต้หวัน ต่อมาได้ขอโอนสัญชาติเป็นคนไทย เริ่มทำธุรกิจโดยการเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 6,150,000 หุ้นในบริษัท เอสจีเอ็มพี จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตถุงมือยางทางการแพทย์โดยการเข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 80,000,000 บาท ต่อมา นายเหอ จือ หวง ได้ทำการโอนหุ้นดังกล่าวให้แก่บริษัท ไวด์ ริเวอร์ แคปปิตอล จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศบริติช เวอร์จิน ไอร์แลนด์ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564
หลังจากนั้นอีกเพียง 1 วัน ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 บริษัท ไวด์ ริเวอร์ แคปปิตอล จำกัด ได้ทำการโอนหุ้นให้แก่บริษัท โกลด์ ไดนามิก โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ต่อมาบริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด (มหาชน) ได้รับมติอนุมัติจากผู้ถือหุ้นให้เข้าร่วมลงทุนซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เอสจีเอ็มพี จำกัด จากบริษัท โกลด์ ไดนามิก โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลสัญชาติฮ่องกงในราคา 371,700,000 บาท โดยบริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด (มหาชน) ได้ชำระค่าหุ้นโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) แทนการชำระด้วยเงินสด (Payment in kind) จำนวน 423,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ในราคาเสนอขาย 0.59 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่า 249,570,000 บาท และชำระด้วยเงินสดจำนวน 122,130,000 บาท แล้ว
ต่อมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับแบบรายงานการได้มาหุ้นซึ่งของบริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด (มหาชน) ของนายเหอ จือ หวง ที่ได้รับการโอนหุ้นเป็นจํานวน 394,650,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 16.1866 ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ โดยเป็นการซื้อขายโดยตรงกับบริษัท โกลด์ ไดนามิก โฮลดิ้ง จำกัด เท่ากับว่า นายเหอ จือ หวง ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ทอดสุดท้ายของธุรกรรมดังกล่าวไม่ได้ชำระภาษีที่เกิดขึ้นจากผลกำไรจำนวน 291,700,000 บาท ที่เกิดจากการขายหุ้นในบริษัท เอสจีเอ็มพี จำกัด แม้แต่บาทเดียว
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับธุรกรรมที่ต้องสงสัยดังกล่าวว่า นายเหอ จือ หวง ได้นำเงินเข้าลงทุนในประเทศไทยอย่างถูกต้องหรือไม่ การกระทำดังกล่าวของนายเหอ จือ หวง กับพวกเข้าข่ายการกระทำอันเป็นการฟอกเงินหรือไม่ และนายเหอ จือ หวง มีความผิดฐานเลี่ยงภาษีที่ต้องชำระจากผลกำไรของการขายหุ้นในบริษัท เอสจีเอ็มพี จำกัด หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยต่อไปอีกว่า นายเหอ จือ หวง ได้รับสัญชาติไทยมาโดยชอบด้วยหรือไม่ อย่างไร