xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ ปลดล็อกแบงก์ปฏิเสธสินเชื่อ ดึง Non-bank แก้หนี้บูโร-ปล่อยกู้เช่าซื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



SENA จับมือธุรกิจน้องใหม่ “เงินสดใจดี” แก้โจทย์คนอยากมีบ้าน หลังลูกค้าเจอพิษวิกฤตโควิด เศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ค่าครองชีพสูง ฉุดกำลังซื้อทำคนชะลอซื้อบ้าน ส่งผลกู้ยาก ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง ด้านเรียลแอสเสทฯ ดึง Non-bank อุ้มคนซื้อบ้าน เคลียร์หนี้บางประเภทสร้างประวัติทางการเงินที่ดี ลดโอกาสแบงก์ปฏิเสธสินเชื่อ
 
ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
กล่าวว่า วิกฤตโควิดที่ลากยาวมากว่าปีที่ 4 ส่งผลทำให้คนไทยต้องประสบปัญหาทางการเงินและภาระสินเชื่อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้า ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น เงินเก็บเงินออมลดลง ล้วนทำให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากเดิม 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยลบที่มีผลต่อภาคอสังหาฯ ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ขณะที่ราคาบ้านเพิ่มสวนทางกันระหว่างดอกเบี้ยขึ้นกับความสามารถในการซื้อ ทำให้ผู้บริโภคขอสินเชื่อยากขึ้น ดังนั้น ยอดปฏิเสธสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับหนี้ครัวเรือนอยู่ในเกณฑ์ที่สูง สะท้อนให้เห็นว่าตลาดอสังหาฯ ปีนี้แนวโน้มไม่สดใสอย่างที่คาดการณ์

 
ด้านสถาบันการเงินเองต่างมีมาตรการที่คุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อทำให้การขอสินเชื่อยากขึ้น กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาบางพื้นที่อัตราปฏิเสธสินเชื่อสูงถึงกว่า 50% การซื้อที่อยู่อาศัยระดับราคา 1-2 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท กลุ่มคนที่มีรายได้จากเงินเดือนประจำ โดยคนกลุ่มนี้จะมีภาระหนี้สินอื่นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาการกู้ซื้อบ้านไม่ผ่านไม่ใช่แค่ปัญหาการไม่เตรียมเงินเก็บเงินออมของบุคคล ไม่ใช่แค่ปัญหาวินัยทางการเงินของบุคคล แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่สะสมมาก่อนหน้านี้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา SENA เดินหน้ารุกตลาดคอนโดมิเนียมเซกเมนต์ต่ำล้าน ผ่านแบรนด์ “เสนาคิทท์” โดย “กลุ่มลูกค้า” พบว่าผู้มีรายได้จำกัด มีกำลังผ่อนเดือนละ 3-4 พันบาท มีหนี้อยู่ก่อนแล้วเกือบทุกคน อัตราปฏิเสธสินเชื่อจะสูงมาก โดยเสนาฯ มองเห็นปัญหาของลูกค้ากลุ่มนี้คือ ลูกค้าอยากได้บ้านแต่ไม่มีเงินเก็บออม ไม่มีการวางแผนการเงิน บางคนเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเพื่อกู้ โดยเฉพาะ Gen Z เสนาจึงได้หาแนวทางแก้ปัญหาลูกค้าที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย

ล่าสุด เสนาเปิดธุรกิจใหม่ในเครือภายใต้ชื่อ “เงินสดใจดี” เป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเองแต่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน หรือติดปัญหาต่างๆ โดยมีทางเลือกให้แก่ลูกค้าที่มีแนวโน้มอาจกู้สินเชื่อบ้านไม่ผ่าน มาใช้บริการทางเลือกได้ คือ 1.บริการสินเชื่อเช่าซื้อ เพื่อสามารถเข้าอยู่ในบ้าน/คอนโดฯ ได้ทันที จากนั้นทยอยผ่อนชำระเงินกู้ซึ่งจะหักเงินต้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดที่เงินต้นลดมาอยู่ในระดับที่ลูกค้าน่าจะสามารถกู้สินเชื่อบ้านได้ จะมีการส่งต่อลูกค้าให้กู้สินเชื่อบ้านจากธนาคาร 2.สินเชื่อเพื่อชำระค่าทำสัญญา 3.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดภาระดอกเบี้ย นอกจากนี้ เสนาฯ ได้เตรียมจัดแคมเปญพิเศษ สำหรับแบรนด์เสนาคิทท์ 12 โครงการนำร่อง ราคาเริ่มต้นไม่ถึงล้านบาท
 
เรียลแอสเสทฯ เจรจา Non-bank อุ้มคนซื้อบ้าน

นายณัฏฐพร กลั่นเรืองแสง กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ REAL ASSET กล่าวถึงสถานการณ์ในเรื่องของความสามารถของลูกค้าในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยว่า เนื่องจากในช่วงที่เกิดโควิด-19 ลูกค้าหลายรายประสบปัญหาในเรื่องภาระหนี้สิน ทำให้เมื่อพิจารณาขอสินเชื่อจะไม่ผ่านเกณฑ์เครดิตสกอริ่งของธนาคาร ดังนั้น ทาง REAL ASSET กำลังเจรจากับพันธมิตรผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) เพื่อเข้ามาช่วยเหลือเรื่องเคลียร์หนี้ส่วนบางประเภท หรือ การสร้างประวัติทางการเงินที่ดีขึ้น เช่น การแก้ไขเรื่องหนี้บัตรเครดิต โดยที่บริษัทอาจจะเข้าไปค้ำประกันให้ เมื่อผ่านระยะ 4-6 เดือนแล้ว ลูกค้ารายนี้มีฐานะการเงินที่ดีขึ้น สามารถยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารและโอนกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยได้ โดยในหลักเกณฑ์การดูแลเรื่องหนี้สินจะไม่เกิน 10% ของราคาบ้าน ทั้งนี้ ลูกค้ารายนั้นๆ อาจจะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติในการชำระหลังจากโอนบ้านแล้ว

"วิธีการนี้จะทำให้เราไม่มีเรื่องต้นทุนค่าการตลาดมาก แทนที่จะเพิ่มเป้าต้องสร้างยอดขายจากเดิม 10 ราย เพิ่มเป็น 15 ราย แต่หากเรารอได้ แล้วลูกค้ามีความตั้งใจในการซื้อและโอน เราอาจจะไม่หาซัปพลายของลูกค้ามากเกินไป" นายณัฏฐพร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น