ทุกฝ่ายกำลังรอคอยงบการเงินประจำปี 2566 ของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ด้วยใจระทึก เพราะไส้ในของงบน่าจะมีปัญหาใหญ่ และอาจเป็นจุดสะท้อนล่มสลายของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าฐานะการเงินที่แท้จริงของ STARK เป็นอย่างไร การบริหารภายในมีปัญหาอะไรบ้าง มีการทุจริตผ่องถ่ายทรัพย์สินออกจากบริษัทหรือไม่
เพราะการเลื่อนส่งงบปี 2566 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้ส่งสัญญาณเชิงลบถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
STARK เดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ผู้ถือหุ้นกู้ ทำไมจึงพลาดท่าเสียที ขนเงินมาทิ้ง เป็นคำถามใหญ่ที่ต้องค้นหาคำตอบ
STARK เปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM ซึ่งเป็นหุ้นในตลาด MAI และเคยเป็นหุ้นร้อน แต่สุดท้ายตกอยู่ในสภาพย่ำแย่
กลุ่มนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน SMM ที่ขายนักลงทุนเฉพาะเจาะจง ในราคาหุ้นละ 60 สตางค์ เมื่อปลายปี 2561 ทำให้เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 94% ของทุนจดทะเบียน ก่อนทยอยขายหุ้นออก เพื่อแก้ปัญหาสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย จนจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยเพิ่มเป็น 9,613 ราย
นายวนรัชต์ ล่าสุดถือหุ้นเหลือ 26.85% ของทุนจดทะเบียน และน่าจะถอนเงินลงทุนพร้อมกำไรออกไปหมดแล้ว
มีการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่หลังกลุ่มนายวนรัชต์ เข้าไปบริหาร โดยหันไปผลิตสายไฟฟ้า ขณะที่ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง กระตุ้นให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น และประมาณกลางปีก่อนถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 5.10 บาท
ภาพของ STARK ถูกสร้างไว้อย่างสวยหรู เป็นหุ้นที่มีอนาคตสดใส แม้ไม่ยอมจ่ายเงินปันผลทั้งที่มีกำไรมากมายก็ตาม แต่ไม่มีนักลงทุนกลุ่มใดติดใจ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ เช่นเครดิตสวิสฯ สิงคโปร์ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว ซึ่งแห่ขนเงินเข้าไปลงทุน ช่วยเสริมแต่งภาพลักษณ์ STARK กระตุ้นให้นักลงทุนรายย่อยตามแห่เช้าไปซื้อหุ้น
หุ้นกู้ 5 รุ่น วงเงินกว่า 9.1 พันล้านบาท สามารถขายเกลี้ยง มีผู้ถือหุ้นกู้ประมาณ 5 พันราย นอกจากนั้น การออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,500 ล้านหุ้น ขายนักลงทุนสถาบัน 11 ราย ในราคาหุ้นละ 3.72 บาท รวมเป็นเงิน 5,580 ล้านบาท เพื่อระดมเงินซื้อหุ้นบริษัทผลิตสายสายไฟฟ้ายานยนต์ในเยอรมนี ทุกกลุ่มใส่เงิน STARK หมด
แต่หลังจากนักลงทุนสถาบัน 11 รายใส่เงินครบ เกมระดมทุนก็จบ โดยบริษัทอ้างว่ามีข้อมูลบางประการที่เป็นลบ และยกเลิกการซื้อหุ้นบริษัทในเยอรมนี แต่ไม่ยอมคืนเงินเพิ่มทุนกลับนักลงทุนสถาบัน โดยอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนโครงการอื่นต่อ
ปัญหาคือ เงินเพิ่มทุน 5,580 ล้านบาท ยังอยู่ดีหรือไม่ เงินจากหุ้นกู้จำนวนกว่า 9.1 พันล้านบาท เงินกู้แบงก์กว่า 8 พันล้านบาท ถูกย่อยสลายไปทางไหนบ้าง และกำไรสะสมจำนวน 7,849 ล้านบาทยังมีอยู่จริงหรือไม่
เงินจำนวนกว่า 3 หมื่นล้านบาทที่ STARK สูบเข้าไป จะมีหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบหรือไม่ว่ามีกรรมการคนไหนโยกเข้าสู่กระเป๋าตัวเอง
STARK ทำท่าจะปิดฉากเหมือนบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE 2 ซึ่งถูกสร้างภาพหลายปี จนดูเป็นหุ้นอนาคตดี แต่สุดท้ายกลายเป็นหุ้นตัวร้าย สร้างความเสียหายให้นักลงทุนและโบรกเกอร์ เพียงแต่รูปแบบของวิธีการสูบเงินแตกตางกันเท่านั้น
หุ้น MORE ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสูบเงินเกือบ 5 พันล้านบาทบริษัทโบรกเกอร์นับสิบแห่ง โดยอำพรางคำสั่งซื้อขายหุ้น
แต่ STARK ยังไม่มีใครรู้รูปแบบและวิธีการ ที่ทำให้แบงก์ นักลงทุนสถาบัน กองทุนทั้งในและต่างประเทศ นักลงทุนหุ้นและนักลงทุนหุ้นกู้เดินเข้าไปติด “กับดัก”
ยังไม่มีข้อกล่าวหาความผิดใดอย่างเป็นทางการสำหรับผู้บริหาร STARK แต่ถ้าบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้เกิดหายนะ น่าจะต้องมีคนที่ต้องรับผิดชอบถึงขั้นติดคุกตะราง
คดียักยอกทรัพย์ คดีไซฟ่อนผ่องถ่ายเงิน คดีสร้างหนี้เทียม คดีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทุจริตนับสิบคดี คนโกงมักลอยนวล หอบเงินนับพันนับหมื่นล้านเสวยสุขตลอดชาติ
และยังไม่มีใครต้องติดคุกจากการปล้นเงินประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้น
(พรุ่งนี้อ่านต่อ บทเรียนความผิดพลาดของแบงก์ กองทุนต่างชาติกับหุ้น STARK )