xs
xsm
sm
md
lg

กรุงศรีมั่นใจระบบแบงก์ไทยแกร่ง ยันตัดหนี้สูญลงทุนซิปเม็กซ์แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรุงศรีย้ำกรณีกรุงศรี ฟินโนเวตลงทุนในซิปเม็กซ์ตัดเป็นหนี้สูญแล้ว ระบุวงเงินลงทุน 66 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.028% ของสินทรัพย์ลงทุนของธนาคาร มั่นใจระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังแข็งแกร่งมีเงินกองทุนแน่น

น.ส.ดวงดาว วงค์พนิตกฤต ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY)
เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัทกรุงศรี ฟินโนเวต ซึ่งดำเนินธุรกิจเงินร่วมลงทุนที่เน้นลงทุนในสตาร์ทอัป เพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินให้เครือกรุงศรีฯ และมีธนาคารกรุงศรีอยุธยาถือหุ้น 100% ว่า จากที่กรุงศรี ฟินโนเวตได้มีการลงทุนในสตาร์ทอัปอย่างบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเข้าไปศึกษาระบบเทคโนโลยีด้านต่างๆ เป็นหลัก โดยกรุงศรี ฟินโนเวตลงทุนในซิปเม็กซ์ประมาณ 1% คิดเป็นเงินลงทุน 66 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.028% ของสินทรัพย์ลงทุนของธนาคาร และด้วยซิปเม็กซ์ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจดังที่เป็นข่าวในสื่อ ทำให้กรุงศรี ฟินโนเวต ได้ดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ (Write off) เงินที่ลงทุนทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค.2565 ที่ผ่านมา

"พอร์ตลงทุนของธนาคารช่วงที่ผ่านมามีการลงทุนอย่างระมัดระวัง และไม่มีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เว้นแต่กรณีกรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ที่เน้นลงทุนในสตาร์ทอัป เพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินให้เครือกรุงศรีฯ ซึ่งการลงทุนในซิปเม็กซ์ได้ดำเนินการตัดเป็นหนี้สูญไปแล้วตั้งแต่เริ่มมีปัญหา"

สำหรับสถานการณ์วิกฤตธนคารพาณิชย์ในต่างประเทศที่ประสบปัญหา เช่น Silicon Valley Bank (SVB BANK) เกิดจากนโยบายการลงทุนของธนาคารที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาวประมาณ 1 ปีเป็นหลัก ในช่วงที่ดอกเบี้ยขาขึ้นส่งผลกระทบต่อพอร์ตลงทุน ทำให้ผู้ฝากเงินและนักลงทุนพากันถอนเงินออกจากธนาคาร ซึ่งขณะนี้ถือเป็นปัญหาเฉพาะของแต่ละประเทศ

ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีนโยบายด้านการลงทุนอย่างระมัดระวังมาโดยตลอด ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับสูง และยังตั้งเป้าหมายให้อยู่ในระดับสูงเกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนอยู่ที่ 20.23% และมองว่าระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยยังมีความแข็งแกร่งด้วยมาตรการดูแลจาก ธปท.ที่มีความเข้มงวด ทำให้การลงทุนต่างๆ ของสถาบันการเงินเป็นไปด้วยความรอบคอบ และระมัดระวัง
กำลังโหลดความคิดเห็น