ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในการประชุม FOMC วันที่ 2-3 พ.ค. นี้ คาดว่าเฟดน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ 5.00-5.25% ซึ่งคาดว่าจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ ท่ามกลางภาวะสินเชื่อตึงตัว (Credit tightening) อันเป็นผลมาจากปัญหาภาคธนาคารและการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่แม้จะลดลงอย่างต่อเนื่องแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงประกอบกับตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งในปัจจุบันยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC วันที่ 2-3 พ.ค. นี้ แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงหลัง GDP ในไตรมาส 1/2566 ขยายตัว 1.1% (Annualized QoQ) ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 2.0% (Annualized QoQ)
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. นี้ อาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายไปแตะระดับสูงสุดที่ 5.00-5.25% สอดคล้องกับ Fed Dot Plot ที่ออกมาในการประชุมรอบก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะยังอยู่ในระดับสูง แต่การชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ประกอบทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแรงลง เนื่องจากผลกระทบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของเฟดในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มสินเชื่อตึงตัว (Credit tightening) ท่ามกลางความเสี่ยงจากปัญหาในภาคธนาคารสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลให้เฟดให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้นและพิจารณาหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหลังการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ โดยเฟดคงมีมุมมองว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00-5.25% น่าจะเพียงพอที่จะทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาสู่ระดับเป้าหมายที่ 2.0%
ในระยะข้างหน้า ในขณะที่คงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจมากเกินควร เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Hard landing อย่างไรก็ดี ทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าคงขึ้นอยู่กับตัวเลขเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่ออกมาเป็นสำคัญ โดยจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลง จึงมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในปีนี้