นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันระดับดัชนี S&P500 ที่เกิน 4,000 จุด และอัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ (P/E) สูงกว่า 18 เท่านั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ มองว่า เป็นระดับที่มีโอกาสปรับขึ้นต่อได้จำกัด และเป็นระดับที่ควรลดน้ำหนักการลงทุน โดยมีความเสี่ยงขาลงประมาณ 10-15% จากระดับปัจจุบัน
โดยความเสี่ยงขาลงดังกล่าวเป็นไปตามการปรับลดของคาดการณ์ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนที่กำลังเผชิญแรงกดดันจากหลายด้าน ได้แก่ 1) ต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อแก้ปัญหาเงินฝากไหลออกจากภาคธนาคารในช่วงที่ผ่านมา 2) ปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องในภาคธนาคาร ซึ่งทำให้การปล่อยกู้มีความระมัดระวังมากขึ้นจนอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง และ 3) การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจที่สะท้อนผ่านดัชนีภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ที่ล่าสุดอยู่ที่ 46 จุด ในขณะที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์ยังคาดว่าผลกำไรจะยังทรงตัวได้เท่ากับปีที่แล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่าคาดการณ์ผลกำไรอาจต้องมีการปรับลดลงอีกในอนาคต
นอกจากนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้คาดว่าสภาพคล่องจะกลับมาลดลงอย่างต่อเนื่อง และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันตลาดหุ้นโลก เนื่องจาก 1) Fed จะยังคงเดินหน้าดึงสภาพคล่องออก (QT) ในอัตรา 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนตามแผนเดิม 2) ปัญหาสภาพคล่องในภาคธนาคารสหรัฐฯ ที่ผ่อนคลายลงจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่ใช้วงเงินกู้ฉุกเฉินจากเฟดเพื่อเสริมสภาพคล่อง เริ่มทยอยคืนเงินกู้ดังกล่าว และ 3) การตกลงเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ กลับมาออกขายพันธบัตรเพื่อกู้เงินจากตลาดเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งอุปทานของพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นจะเป็นการดูดซับสภาพคล่องออกจากตลาด และทำให้บอนด์ยิลด์กลับมาเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ในขณะที่ตลาดหุ้นอาจมีปัจจัยหนุนจากประเด็นที่ Fed มีโอกาสกลับมาลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ประเมินว่าปัจจัยบวกดังกล่าวได้ถูกสะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นมากแล้ว โดยจากสถิติในช่วง 12 เดือนหลังจากที่ Fed ลดดอกเบี้ย ค่า P/E ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 10% ซึ่งหากดูความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมซึ่งตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า Fed จะกลับมาลดดอกเบี้ย จะพบกว่าค่า P/E ของตลาดเพิ่มขึ้นมาแล้วราว 8% ซึ่งสะท้อนว่าตลาดได้ซึมซับปัจจัยบวกดังกล่าวไปมากแล้ว