xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นกลุ่มการแพทย์คึกรับ มติ สปส. “ประกันสังคม”จ่ายเงินเพิ่ม-โควิดพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นโรงพยาบาลประกันสังคมคึก รับ สปส. จ่ายค่าบริการทางการแพทย์แบบเหมาจ่ายให้สถานพยาบาลคู่สัญญาเพิ่ม10.2% หรืออัตรา 1,808 บาทต่อผู้ประกันตนหนึ่งคนต่อปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2566 เป็นต้นไป อีกทั้งตัวเลขยอดติดโควิดพุ่ง หนุนทั้งกลุ่มสดใส โบรกฯประสานเสียงให้ BCH รับผลดีมากสุดจากฐานผู้ประกันตนปัจจุบันที่มีกว่า 1 ล้านราย ขณะจำนวนโควตาสูงสุด 1.55 ล้านราย มีโอกาสเติบโตมากกว่า ส่วน CHG สดใสจากการเติบโตของอุปสงค์ใน EEC ให้คำแนะนำกลุ่มนี้ "Neutral"

หลังจากหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์หรือโรงพยาบาลแผ่วตั้งแต่โควิด –19 คลี่คลายมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้เกี่ยวกับโควิดลดลง อีกทั้งเงินเฟ้อกระทบต้นทุนยาและอุปกรณ์การแพทย์ มีผลเชิงลบต่อธุรกิจโรงพยาบาล แม้ว่าปีนี้หลายอย่างเริ่มฟื้นและฟันเฟืองทางเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้แต่ยังไม่กลับคืนสู่ปกตินัก

ล่าสุด หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลกลับมามีสีสันอีกครั้ง หลังเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้น พบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นโควิด-19 ส่งผลให้ตัวเลขการระบาดของโควิด-19 พุ่ง แถมยังพบโควิดสายพันธุ์ใหม่ อย่าง XBB.1.16 เพราะหลังจากเปิดประเทศทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก ตลอดจนพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวัน และการถดถอยของภูมิคุ้มกัน เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลง เหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้ตัวเลขการระบาดเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ จากการที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งมีมติเห็นชอบจ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีเหมาจ่ายให้แก่ สถานพยาบาลคู่สัญญาในอัตรา 1,808 บาท ต่อผู้ประกันตนหนึ่งคนต่อปี เพิ่ม 10.2% จาก 1,640 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2566 เป็นต้นไป ซึ่งการปรับค่าเหมาจ่ายรายหัวประกันสังคมรอบนี้ที่ 10.2% สูงกว่าปกติที่ขึ้นเพียง 3-5% และไม่มีการปรับขึ้นมากว่า 4 ปี

ปัจจัยดังกล่าวถือว่าเป็น แรงหนุน ให้กับหุ้นโรงพยาบาลรายตัวและ ทำให้นักลงทุนหลายรายเริ่มหันมาพิจารณาการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลอีกครั้ง ซึ่งเมื่อตลาดหุ้นเปิดเทรดหลังเทศกาลสงกรานต์พบว่าหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเขียวยกแผงเรื่อยมาก กระทั่งสัปดาห์นี้ที่แม้ว่าส่วนจะแผ่วลงแล้ว แต่โรงพยาบาลที่รับประกันสังคมนั้น ยังเทรดในแดนบวกได้อย่างคึกคัก 

ขณะ โบรกเกอร์หลายสำนัก ให้คำแนะนำ "Neutral" หุ้นกลุ่ม HEALTHCARE และมอง โรงพยาบาลที่รับประกันสังคมนั้น จะได้รับอานิสงส์จากนโยบายถ้วนหน้า ทั้ง BCH บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ,CHG หรือ บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน),RJH หรือ บริษัท โรงพยาบาลราชธานี จำกัด (มหาชน) ,LPH หรือ บริษัท โรงพยาบาล ลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) และ VIBHA หรือ บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) ส่วน BDMS หรือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) รับผลดีเล็กน้อยเพราะสัดส่วนประกันสังคมเพียง 7-8% ของรายได้รวม

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) หรือ บล.หยวนต้าฯ ประเมินหุ้นกลุ่ม HEALTHCARE ด้วยคำแนะนำ "Neutral" หลังจากทาง สปส. หรือ สำนักงานประกันสังคม ประกาศปรับขึ้นอัตราค่าบริการเหมาจ่ายรายหัวประกันสังคม 10% เป็น 1,808 บาทต่อคนต่อปี บล.หยวนต้าฯ มองว่าส่งผลบวกต่อ รพ.ที่รับประกันสังคม ได้แก่ BCH ,CHG ,RJH ,LPH และ VIBHA

โดย ปี 2566 เดิม บล.หยวนต้าฯ คาดกำไร กลุ่ม รพ.ภายใต้ Coverage ของ บล.หยวนต้าฯ ลดลง 4% เทียบปีก่อน แต่หากรวมผลบวกจากการปรับขึ้นค่าหัวประกันสังคม นั่นคือทำให้กำไรสุทธิจะปรับเพิ่มเป็น 19,356 ล้านบาท หรือลดลง 2% เทียบปีก่อน

บล.หยวนต้าฯ คงน้ำหนักการลงทุนกลุ่ม รพ. “เท่ากับตลาด” เนื่องจากมองว่าผลประกอบการผ่านช่วงพีคไปแล้ว กำไรปีนี้จะชะลอจากฐานที่สูง เนื่องจากรายได้โควิด-19 ที่หายไป ระยะสั้นมีประเด็นบวกจากการปรับขึ้นค่าหัวของกลุ่ม รพ.ที่รับประกันสังคม

โดย บล.หยวนต้าฯ ชอบ BCH มากสุดในกลุ่ม รพ.ที่รับประกันสังคม ด้วยฐาน ผู้ประกันตนปัจจุบันที่มีกว่า 1 ล้านราย และจำนวนโควตา ที่สูงสุด 1.55 ล้านราย จึงมีโอกาสเติบโตมากกว่า รพ.อื่นๆ เบื้องต้นประเมินมูลค่าพื้นฐาน ณ สิ้นปี2566 ยังไม่รวมผลบวกจากการ ปรับขึ้นค่าหัวประกันสังคมที่ 23.70 บาท

บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือบล.กรุงศรีฯ มองหุ้นกลุ่ม HEALTHCARE SECTOR แนะนำ "POSITIVE" หลังสำนักงานประกันสังคมปรับอัตราเหมาจ่ายรายปีขึ้น 10.2% เป็น 1,808 บาทต่อราย ตั้งแต่ 1 พ.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นมากกว่าคาดและเป็นประโยชน์ต่อ BCH และ CHG มากที่สุด ส่งผลให้ บล.กรุงศรีฯ ปรับประมาณการกำไรปี 2566-2568 ขึ้น 2% ส่วน BDMS จะได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อยและไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อ BH หลังปรับประมาณการกำไร บล.กรุงศรีฯ จึงปรับราคาเป้าหมายของ BCH ขึ้น 2% เป็น 26.5 บาท และ CHG เป็น 4.1 บาท คงคำแนะนำ ซื้อ สำหรับ BCH และคำแนะนำ ถือสำหรับ CHG

โดย เมื่อ 10 เม.ย. คณะกรรมการสำนักงานประกันสังคมมีมติปรับอัตราเหมาจ่ายรายปีขึ้นจาก 1,640 บาทต่อคนเป็น 1,808 บาท สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ มีผลบังคับตั้งแต่ 1 พ.ค. 2566 เป็นต้นไป เป็นผลบวกต่อ BCH และCHG ซึ่ง BCH และ CHG จะได้รับประโยชน์มากที่สุดเนื่องจาก BCH มีผู้ประกันตน 1.01 ล้านคน และ CHG มี 0.53 ล้านคน (ณ สิ้นปี 2565 ) หลังปรับอัตราเหมาจ่ายขึ้น บล.กรุงศรีฯ ปรับประมาณการกำไร BCH ขึ้นปีละ 2% เป็น 2.3 พันล้านบาท สำหรับปี 2566 , 2.5 พันล้านบาท สำหรับปี 2567 และ 2.7 พันล้านบาท สำหรับปี 2568 และปรับประมาณการกำไร CHG ขึ้นปีละ 2% เป็น 1.5 พันล้านบาท สำหรับปี 2566 และ 1.6 พันล้านบาท สำหรับปี 2567 เพราะBCH และ CHG มีโครงสร้างรายได้ที่คล้ายกัน โดยมีรายได้จากประกันสังคม 31% และ 30% ของรายได้รวมของกลุ่มตามลำดับ ซึ่งประเด็นนี้มีผลต่อ BDMS เล็กน้อยเนื่องจากรายได้ประกันสังคมคิดเป็นเพียง 7-8% ของรายได้รวมของ กลุ่ม ส่วน BH ไม่มีรายได้จากสำนักงานประกันสังคม

ดังนั้น บล.กรุงศรีฯ จึงปรับราคาเป้าหมายขึ้นหลังปรับคาดการณ์กำไร ด้วยการใช้สมมติฐานว่าประกันสังคมคงอัตราเหมาจ่ายรายปีที่ 1,808 บาทต่อคน และงบประมาณสำหรับการรักษาโรคที่ค่าใช้จ่ายสูงที่ 746 บาทต่อคน และโรคภาระเสียง 453 บาทต่อคน บล.กรุงศรีฯ ปรับราคาเป้าหมาย BCH ขึ้น 2% เป็น 26.5 บาทและ CHG 2% เป็น 4.1 บาท คงคำแนะนำ ซื้อ สำหรับ BCH และคำแนะนำ ถือ สำหรับสำหรับ CHG

บล.กสิกรไทย ประเมิน RJH เด่นสุด โดยมีมุมมองต่อประเด็นประกันสังคมแตกต่าง ตรงข้ามกับ โรงพยาบาลประกันสังคมอื่น ๆ RJH คาดว่าการปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลของประกันสังคมมีโอกาสล่าช้าจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นอกจากนี้ RJH เป็นโรงพยาบาลประกันสังคมเพียงแห่งเดียวที่ฝ่ายวิเคราะห์พบว่าไม่ได้อยู่ในรายชื่อ รพ.ที่เซ็นสัญญา MOU กับสำนักงานประกันสังคมเพื่อให้บริการผ่าตัดโรคเฉพาะทางในเดือน ธ.ค.2565 แต่ล่าสุด RJH ได้เซ็นสัญญากับสำนักงานประกันสังคมเพื่อให้บริการดังกล่าวแล้ว

ดังนั้น จึงแนะนำ "ถือ" เป้า 27.20บ. แม้ RJH ดูเหมือนมี upside มากที่สุดที่ 8-10% จากการขึ้นค่ารักษาประกันสังคม ในกลุ่มโรงพยาบาลประกันสังคมและให้แนวโน้มอัตราตอบแทนเงินปันผลมากกว่า 3% แต่บริษัทฯ กำลังเข้าสู่วัฎจักรการลงทุนรอบใหม่ ซึ่งคาดว่าจะกดดันการเติบโตของกำไรปกติตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป แม้ราคาหุ้นลดลง 5% หลังประกาศผลประกอบการไตรมา ส 4 ปี 2565 แต่ราคาหุ้นปัจจุบันมีแนวโน้มอัตราผลตอบแทนติดลบที่ 5% ส่วน upside risk คาดจะมาจากการลงทุนใหม่ การขึ้นค่ารักษาประกันสังคม และอุปสงค์ที่มากกว่าคาดจากคนไข้กลุ่มข้าราชการ ขณะที่ downside risk คาดมาจากกำลังซื้อที่อ่อนแอกว่าคาดในจังหวัดอยุธยา การควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าคาด และการแข่งขันที่รุนแรงกว่าคาด

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มีมุมมองต่อหุ้น BCH และ แนะนำ "Outperform" ราคาเป้าหมาย 26 บาท เพราะมองบวกกับประเด็นการฟื้นตัวของ BCH จาก การที่ผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างชาติกลับมาใช้บริการที่ WMC ในอีกสองสามปีข้างหน้าอีกทั้งความพร้อมของ platform โรงพยาบาลเพื่อจับกลุ่มผู้ป่วยที่หลากหลาย (กลุ่มที่มีรายได้สูงไปจนถึงกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ) และแผนการขยายกิจการโดยมีฐานผู้ป่วยที่แข็งแกร่ง (ประกันสังคม, ต่างชาติ) คาดว่ากำไรสุทธิของ BCH ในปี 2566-2567F จะอยู่ที่ 2.18 พันล้านบาท หรือลดลง28.3% จากปีก่อนและ 2.33 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.2% เทียบปีก่อนตามลำดับ

โดยมองเห็นสัญญาณว่าผู้ป่วยประเภท non-COVID จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการเปรียบเทียบข้อมูลในไตรมาส 4 ปี 65(หลัง โควิด-19)กับ ไตรมาส 2 ปี 62 (ก่อน โควิด-19) พบว่ารายได้เพิ่มขึ้น 25.9%, EBITDA เพิ่มขึ้น 20.7% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 12% และโอกาสที่ โควิด-19 อาจจะกลับมาระบาดอีกครั้งจากสายพันธุ์ย่อย XBB จำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ๆ แต่จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงน่าจะน้อยกว่าในปีที่ผ่าน ๆ มา เพราะในประเทศไทยได้มีการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในวงกว้างแล้ว

บล.เมย์แบงก์(ประเทศไทย) หรือ บล.เมย์แบงก์ฯ คงคำแนะนำ “ซื้อ” CHG และเพิ่มราคาเป้าหมาย 2% เป็น 4.50 บาท เพื่อสะท้อนการขึ้นอัตราจ่ายของประกันสังคมในส่วนของการจ่ายแบบคงที่ต่อหัว ที่จะเพิ่ม 10.2% เป็น 1,808 บาทต่อหัวต่อปี เริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2566 ทำให้ บล.เมย์แบงก์ฯ ปรับประมาณการรายได้ขึ้น 1.2-1.3% ในปี 2566-2567 และกำไรขึ้น 1.1-1.5% ในช่วงสองปีเดียวกัน และปรับราคาเป้าหมายขึ้น 2% เป็น 4.50 บาท จึงเลือก CHG เป็นหุ้นเด่นในอุตสาหกรรมโรงพยาบาล เนื่องจากอนาคตอันสดใสจากการเติบโตของอุปสงค์ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นศูนย์กลางทางด้าอุตสาหกรรมของประเทศไทย เนื่องจาก สำนักงานประกันสังคม (สปสช) เพิ่มอัตราจ่ายในทุก 2-3 ปี เพื่อสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ในปี 2566 คาดว่าจำนวนผู้ป่วยประกันตนของ CHG จะเพิ่มขึ้น 4% เป็น 524,926 คน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยและการจ้างงานฟื้นตัวหลังโควิด ในไตรมาส 2/66 CHG วางแผนที่จะเปิดโรงพยาบาลใหม่ 2 แห่ง คือ ศูนย์การแพทย์จุฬารัตน์ ซึ่งมีความชำนาญในด้านมะเร็งและการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (stroke) ที่เน้นผู้ป่วยประกันสังคมเป็นหลัก และ โรงพยาบาลจุฬารัตน์แม่สอดที่เน้นรักษาผู้ป่วยไทยและเมียนมาร์ คาดว่าเงินลงทุนในปีนี้คือ 817 ล้านบาท และแหล่งเงินทุนมาจากกระแสเงินสดภายในบริษัท 

ขณะที่ โรงพยาบาล 9 แห่งของ CHG อยู่ในเขต EEC ทั้งหมด ความหนาแน่นของประชากรและรายได้สูงในเขต EEC ทำให้โรงพยาบาลเอกชนในเขตนี้มีอุปสงค์ที่ดีเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยประกันสังคมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักและเติบโตตามการจ้างงาน โดยปัจจุบันรายได้จากผู้ป่วยประกันสังคมมีสัดส่วน 31 %ของรายได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังชอบการขยายตัวของธุรกิจที่ต่อเนื่อง โดยมีจำนวนเตียง 66% เพิ่มขึ้นในปี 66-69 และการขยายตัวนี้อยู่ในโรงพยาบาลปัจจุบันเป็นหลัก ดังนั้นจึงมีค่าเสื่อมราคาไม่มาก

บล.ดาโอ แนะนำ "ซื้อ" หุ้น BDMS ที่ 36.00 บาท อิง 2023E PER ที่ 44 เท่า โดยประมาณกำไรไตรมาสแรกปีนี้ 3,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 2% เทียบปีก่อน จากรายได้ที่เติบโตต่อเนื่อง คาดรายได้อยู่ที่ 24,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากทั้งไตรมาสก่อนและปีก่อน จากรายได้ผู้ป่วยต่างชาติของกลุ่มผู้ป่วยประเทศ CLMV ที่เติบโตมากกว่าช่วงระดับก่อนโควิด ขณะผู้ป่วยในประเทศมีต่อเนื่อง จึงยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 66 ที่ 13,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากฐานที่สูง ผลจากการขยายฐานลูกค้าต่างประเทศเพิ่มจากบังกาลเทศ และซาอุฯ ส่วนลูกค้าในประเทศมาจากการขยายตลาดประกันสังคม และผู้สูงอายุ โดยตลาดทั้งสองนี้จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการให้กับโรงพยาบาล ทำให้สามารถรักษาอัตราการครองเตียงไว้ในระดับสูงได้

ราคาหุ้น outperform SET +19% ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จากอานิสงส์การเปิดประเทศ และยังคงมองว่าบริษัทจะเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลประโยชน์จาก medical tourism อย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนของชาวต่างชาติอยู่ที่ 27% ซึ่งกำลังกลับเข้าสู่ระดับช่วงก่อนโควิดที่ 30% ในปัจจุบันมีผู้ป่วยต่างชาติที่สนใจมารักษาอยู่เป็นจำนวนมาก ในด้านของ valuation มองว่าน่าสนใจ เนื่องจากรายได้ organic เติบโตดีมากกว่าช่วงก่อนโควิด แม้จะมีการเติบโตของกำไรไม่สูงมากหนักเพราะฐานที่สูง










กำลังโหลดความคิดเห็น