ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทางการเงินอย่างสถาบัน CFA (Chartered Financial Analyst) จะมีวิธีประเมินมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซี อย่างไรวันนี้เรามีคำตอบ!
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง ได้เปิดเผยถึงขั้นตอนการวิเคราะห์ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญการลงทุน ซึ่งได้แบ่งประเภทการประเมินและลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะปลีกย่อยต่างๆออกมา ได้แก่
วิธีที่ 1 จะเป็นวิธีการประเมินมูลค่าคร่าวๆ โดยมีชื่อเรียกวิธีการประเมินนี้ว่าหลักการแทนที่ (Addressable Market) ซึ่งสมมติฐานของวิธีหลักการแทนที่ (Addressable Market) คือ การมีความเชื่อว่า Bitcoin คริปโทเคอร์เรนซี อันดับที่หนึ่ง และคริปโทเคอร์เรนซีแรกของโลกจะเข้ามาทำหน้าที่รักษามูลค่า (Store-of-value) แทนสินทรัพย์ลงทุนที่มีมายาวนาน หรือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในการจัดพอร์ตโฟลิโอของนักลงทุน โดยจะมาแทนทรัพย์สิน ตัวอย่างเช่นทองคำ หรือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ตัวอย่างในการคำนวณด้วยวิธีนี้ คือ หากนักลงทุนมีความเชื่อว่า Bitcoin จะเข้ามามีสัดส่วน 5% ถึง 10% ของมูลค่าตลาดทองคำทั่วโลก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมูลค่าการซื้อขายทองคำทั่วโลกเฉลี่ยในแต่ละวันจะต่ำกว่า 10% ของมูลค่าทองคำทั้งโลก ซึ่งในปี 2023 นี้ตลาดทองคำทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 13 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น 10% ของมูลค่าตลาดทองคำเท่ากับ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และหากเทียบกับจำนวนอุปทาน (Supply) ของ Bitcoin ที่มีอยู่ประมาณ 19 ล้านเหรียญ ณ ปัจจุบัน (จำนวน Bitcoin จะถูกขุดจนครบ 21 ล้านเหรียญในปี ค.ศ. 2140) นั้นหมายความว่ามูลค่าคาดหวัง Bitcoin ต่อเหรียญจะเป็น 68,400 เหรียญต่อ 1 Bitcoin นั้นเอง
อย่างไรก็ตามข้อควรระวังของการประเมินมูลค่าด้วยวิธีดังกล่าวเป็นเพียงการประเมินอย่างคร่าว และสมมติฐานที่เปรียบเทียบเชิงสัดส่วนอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป
วิธีที่ 2 คือการประยุกต์ทฤษฎีสภาพคล่องของตลาดเงินโดย คุณ Chris Burniske ซึ่งทฤษฎีเดิมพูดถึงมูลค่าของสินทรัพย์ (ราคา x จำนวน) จะแปรผันตามเงินทุนที่หมุนเวียนในระบบ (ปริมาณเงินในระบบทั้งหมด x ความเร็วในการหมุนเวียนของเงินนั้น) หรือ M x V = P x Q (ทฤษฎีทางการเงินที่คิดค้นขึ้นโดย เออร์วิง ฟิชเชอร์: Irving Fisher)
ตัวอย่างเช่น:
M: มูลค่าหลักทรัพย์ตามตลาดหรือ Market Capitalization ของคริปโทเคอร์เรนซี
V: จำนวนรอบหรือความถี่เฉลี่ยการเปลี่ยนมือของคริปโทเคอร์เรนซี
P: ราคาซื้อ-ขายของคริปโทเคอร์เรนซีเฉลี่ยต่อธุรกรรม
Q: จำนวนธุรกรรมคริปโทเคอร์เรนซีในปี
จากสมการดังกล่าวเราสามารถตั้งสมมติฐานได้ว่า Bitcoin มีราคาเฉลี่ย (P) ทั้งปีอยู่ที่ 30,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยมีจำนวนธุรกรรมเฉลี่ยทั้งปี (Q) อยู่ที่ 100 ล้านธุรกรรมเทียบต่อ 1 Bitcoin และใน 1 ปี ทุก 1 Bitcoin จะมีการเปลี่ยนมือเฉลี่ย 5 ครั้ง (V) ดังนั้น มูลค่าหลักทรัพย์ตามตลาดของ Bitcoin (M) จึงควรจะเท่ากับ 600,000 ล้านเหรียญ ($30,000 x 100 Million / 5 times) ซึ่งหากหารด้วยจำนวน Bitcoin ที่มีอยู่ในตลาด ณ ปัจจุบันที่ประมาณ 19 ล้าน Bitcoin จะได้ราคา Bitcoin เฉลี่ยอยู่ที่ 31,578 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 1 Bitcoin ($600,000 ล้าน/ 19 ล้านยูนิต )
วิธีที่ 3 คือการประเมินมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซี โดยเปรียบเสมือนว่าเป็นระบบเครือข่ายหรือ Networking effect เนื่องจากคริปโทเคอร์เรนซีส่วนใหญ่มักจะปฏิบัติการบนเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นระบบการสื่อสารแบบกระจายศูนย์ หรือระบบเครือข่าย เมื่อมีจำนวนผู้ต้องการใช้งานในระบบมากขึ้น ความต้องการของคริปโทเคอร์เรนซีก็จะสูงขึ้นตาม
โดยส่วนมากเมื่ออุปสงค์ (Demand) เพิ่มขึ้นราคาของคริปโทเคอร์เรนซีนั้นๆ ก็มักปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม เพียงแต่การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้งาน และมูลค่าของระบบเครือข่ายจะเป็นการเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ หรือยกกำลังสองนั่นเอง
วิธีที่ 4 คือการประเมินมูลค่าด้วยต้นทุนการผลิต ในที่นี้คือค่าใช้จ่ายสำหรับการขุดไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟ ค่าการด์จอ และอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งคริปโตเคอร์เรนซีมา หรือหากเปรียบเทียบกับทองคำที่จับต้องได้ และคุ้นเคยแล้วนั้นก็คือราคาต้นทุนของการขุดเหมืองทอง เช่นหากต้นทุนหน้าเหมืองทองอยู่ที่ 1,200 เหรียญ ราคาทองคำก็ไม่ควรต่ำกว่าราคาดังกล่าว
วิธีสุดท้ายคือการประเมินมูลค่าผ่านโมเดล S2F (Stock-to-flow) ซึ่งถูกคิดค้นโดย ผู้ใช้นามแฝงว่า Plan B หนึ่งในผู้ใช้งาน Bitcoin ชุมชนนักลงทุน Bitcoin วิธี S2F นั้นตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า Bitcoin เปรียบเสมือนสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความต้องการในตลาดขึ้นอยู่กับสภาวะอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) โดยมูลค่าในแต่ละปีมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามสัดส่วนของสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมหารด้วยผลผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี
ดังนั้นด้วยสมติฐานดังกล่าวบวกกับการที่จำนวน Bitcoin ใหม่เข้าผ่านมาในระบบน้อยลงเรื่อยๆ แต่จำนวนเก่าไม่ได้ถูกทำให้หมดไปจากระบบ เพียงแค่เปลี่ยนมือเท่านั้น การคำนวณด้วยการหลักการ Stock-to-Flow นั้นจึงต้องตั้งต้น มูลค่า Bitcoin เดิมที่มีอยู่ในระบบหารด้วย Bitcoin ใหม่ที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลง (Bitcoin Halving) หรืออีกนัยหนึ่งคือเมื่อตัวหารน้อยลงแต่ตัวตั้งต้นเท่าเดิมหรือมากขึ้นย่อมส่งผลให้มูลค่า Bitcoin มีแต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางสมาคม CFA เองนั้นก็ยังไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับการประเมินมูลค่าด้วยวิธีนี้เท่าไหร่นัก
ทั้งนี้ วิธีการประเมินมูลค่า 5 วิธีที่ได้กล่าวไปนั้นเป็นเพียงแนวทางการประเมินมูลค่าบนสมมติฐานที่ต่างกันเท่านั้น และนักลงทุนควรแยกให้ออกระหว่างการประเมินมูลค่าเพื่อการลงทุน หรือการเก็งกำไร เนื่องจาก กลุ่มผู้ซื้อ-ขาย คริปโตเคอร์เรนซีในปัจจุบันนั้น ยังคงมีลักษณะการเก็งกำไรเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะการเก็งกำไรในระยะสั้น ถึงสั้นมาก จึงส่งผลให้การประเมินมูลค่าเพื่อการลงทุนอาจจะไม่ใช่หลักการที่เหมาะสมเท่าไหร่ เนื่องจากสภาพตลาดในปัจจุบันมีความผันผวน และมีผู้ลงทุนเข้าซื้อ-ขายเพื่อการเก็งกำไร เป็นส่วนใหญ่
สุดท้ายนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรลงทุนการกระจายการลงทุน หรือการจัดพอร์ตการลงทุนแบ่งเป็นสัดส่วนเงินลงทุนในแต่ละประเภททรัพย์สินตามความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของสินทรัพย์อย่างคริปโตเคอร์เรนซี
บทความโดย : ธนทัต มัตยะสุวรรณ สายงานวิจัยและกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง
ข้อมูลอ้างอิงจาก: cfainstitute