xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้น ค้านประชานิยมใช้เงินเกินตัวทำลายเสถียรภาพประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเผยไม่อยากเห็นนโยบายพรรคการเมืองเน้นประชานิยม ใช้เงินเกินตัวจนเสียวินัยการคลัง กระทบเสถียรภาพราคา สร้างเงินเฟ้อ ห่วงหนี้ครัวเรือน เตรียมออกมาตรการแก้ มิ.ย.นี้ เผยเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องใกล้ระดับก่อนโควิด ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ว่า หลังจากที่เศรษฐกิจไทยผ่าน 4 วิกฤตทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 วิกฤตราคาน้ำมันแพง ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามยูเครนและรัสเซีย ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก ส่งผลให้เกิดปัญหาวิกฤตเงินเฟ้อและการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก กระทบต่อต้นทุนการทำธุรกิจ และล่าสุด วิกฤตความอ่อนแอของสถาบันการเงินในต่างประเทศ ในปี 2566 นี้ ธปท.เห็นภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจน และคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการปรับเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของประชาชนเป็นตัวหนุน

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในทุกด้าน โดยมูลค่าเศรษฐกิจไทยจะได้กลับเข้าสู่ช่วงก่อนโควิดแล้วในไตรมาสแรก และฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าในครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวได้ดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยประมาณการว่า GDP ในช่วงครึ่งปีแรกจะขยายตัว 2.9% ขณะที่ครึ่งปีหลังขยายตัว 4.3% ส่งผลให้ทั้งปีขยายตัว 3.6% อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกจะหดตัว 7.1% ในครึ่งปีแรกก่อนจะพลิกมาบวกในครึ่งหลังของปี


สำหรับปัจจัยเสี่ยงของปีนี้ ธปท.ยังต้องจับตาผลกระทบจากเศรษฐกิจต่างประเทศซึ่งมีความชัดเจนว่าจะชะลอตัวลงในอนาคต แต่ปัจจัยที่จะต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเศรษฐกิจไทยมีความพึ่งพิงสูง ทั้งในด้านการส่งออก และการท่องเที่ยว ว่าจะฟื้นตัวได้ดีมากแค่ไหน และจะช่วยให้ไทยส่งออกได้มากขึ้นหรือไม่อย่างไร นอกจากนั้น ยังต้องจับตาผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุน เงินทุนเคลื่อนย้ายของโลก และโดยส่วนตัวไม่แน่ใจว่าวิกฤตสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในโลกขณะนี้จบลงหรือยัง เพราะแม้ว่าขณะนี้จะคลี่คลาย แต่อาจจะมีสถาบันการเงินในบางประเทศ หรือบริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงินสะสมความเปราะบางไว้ เมื่อดอกเบี้ยสูง สภาพคล่องน้อย เหมือนน้ำลดตอก็ผุดขึ้นมา


นอกจากนั้น อีกปัญหาที่ ธปท.กังวลคือ หนี้ครัวเรือนไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยล่าสุดแม้ลดลงมาอยู่ที่ 86.9% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมา แต่สูงกว่าเกณฑ์สากลที่ 80% โดยนอกเหนือจากเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ที่ทำมาต่อเนื่อง ในขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับสถาบันการเงินเพื่อที่จะหาชุดมาตรการที่จะช่วยลดการเกิดหนี้ครัวเรือนอยู่ โดยคาดว่าจะออกได้ในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม การแก้หนี้ครัวเรือน ธปท.จะดูในจุดเสี่ยง เช่น กลุ่มที่หนี้โตเร็ว หรือกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง อยู่ในกับดักหนี้ส่งเท่าไรไม่หมดสักที แต่ทั้งนี้ การแก้หนี้ไม่ควรจะทำในลักษณะของการเพิ่มภาระอนาคตให้ประชาชน เช่น การพักหนี้ หรือการสร้างมาตรการที่สร้างแรงจูงใจผิดๆ เช่น คนทำผิดได้ประโยชน์ ซึ่งจะทำให้คนที่ผ่อนส่งหนี้ปกติ อยากจะทำผิดด้วย หรือใช้มาตรการที่ไปล้างข้อมูลทางการเงินของลูกหนี้ในอดีต ทำให้ลูกหนี้เกิดปัญหาการขอสินเชื่อหรือทำธุรกรรมทางการเงินในอนาคต

ส่วนกรณีผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อหนี้ครัวเรือนนั้น ธปท.เป็นห่วงเรื่องนี้มาตลอด และที่ผ่านมาพยายามที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปและข้อที่ดีคือ ส่วนใหญ่ของหนี้ครัวเรือนไทยจะเป็นการผ่อนแบบค่าผ่อนคงที่ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบทันที่จากการขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงลดการผ่อนคลายเพื่อเข้าสู่่ภาวะปกติ โดยแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนล่าสุดจะกลับเข้าอยู่ในกรอบเงินเฟ้อแล้ว แต่ผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยต้องใช้เวลาดูให้แน่ใจอีกระยะ ซึ่งในขณะนี้เราติดตามอัตราเงินเฟ้อในภาคบริการที่ยังมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นได้อยู่จากการท่องเที่ยวที่ดีกว่าคาด


ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขณะนี้เป็นการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในระยะต่อไป โดยไม่ต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ทำให้ทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังเริ่มถอนคันเร่งเข้าสู่การดูแลด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่การให้สวัสดิการเพิ่มขึ้น ดูแลตั้งแต่เกิดจนถึงตายถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่เกินไป รวมทั้งการช่วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ควรลงไปในจุดที่ได้ผลจริง เช่น ผ่านบัตรคนจน เพื่อไม่ให้กลายเป็นนโยบายประชานิยมที่มากเกินไป

"ในฐานะที่ดูแลเสถียรภาพของประเทศ นโยบายที่ไม่อยากเห็นคือ นโยบายที่มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศ ทั้งเสถียรภาพด้านราคา เสถียรภาพการเงินการคลัง เสถียรภาพด้านต่างประเทศ และเสถียรภาพที่กระทบต่อสถาบันการเงิน" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

นโยบายที่ใช้เงินเกินตัวมากๆ ซึ่งในช่วงโควิดเราอาจต้องกู้เงิน ต้องใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เมื่อเราผ่านมาแล้วการใช้เงินต้องดูให้สมเหตุสมผล ไม่สร้างเงินใหม่ออกมาจำนวนมาก ซึ่งจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้ และสิ่งหนึ่งที่สถาบันจัดอันดับต่างประเทศจะดูคือ อัตราการผ่อนส่งดอกเบี้ยต่องบประมาณ ซึ่งขณะนี้เราอยู่ที่ 8.5% ถ้าขึ้นไปสูงมากเช่น 10-12% จะมีผลต่ออันดับเครดิตของประเทศ หรือในอังกฤษ ซึ่งมีนโยบายที่จะลดภาษีมากๆ โดยไม่มีแผนและรายได้ที่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนจำนวนมาก

นอกจากนั้น นโยบายที่ไปทำลายวินัยการเงินการคลังเป็นสิ่งที่ไม่อยากเห็นเช่นกัน โดยนโยบายที่อยากเห็นควรเป็นนโยบายที่เพิ่มโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มการลงทุนระยะยาว ช่วยเสริมศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวมากกว่า ซึ่งมีอีกมากมายที่สามารถทำได้ในขณะนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น