กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.15-34.70 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.38 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.22-34.50 โดยการเคลื่อนไหวยังเป็นลักษณะย่ำฐาน sideways โดยเงินดอลลาร์ทรงตัวเทียบกับยูโรและเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตลาดมั่นใจมากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินซึ่งมีความเชื่อมโยงสูงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลังตัวเลขส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย และทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยได้อีกเพียง 1 ครั้งก่อนจะหยุดพัก แม้เจ้าหน้าที่เฟดให้ความเห็นว่าจะยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ นักลงทุนในตลาดสัญญาล่วงหน้าคาดว่ามีโอกาสเกือบ 90% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 25bp สู่ 5.00-5.25% ในวันที่ 3 พ.ค. ทางด้านเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 4 พ.ค. ซึ่งมีโอกาสที่จะปรับขึ้น 50bp ในรอบประชุมนี้ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติมียอดขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 3,827 ล้านบาท และ 23,108 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะติดตามการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งคาดว่าจะคงนโยบายตามเดิมในครั้งนี้ แต่นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการสื่อสารและสัญญาณการปรับเปลี่ยนนโยบายที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษในระยะถัดไปภายใต้ผู้ว่าการคนใหม่ นอกจากนี้ ตัวเลขจีดีพีและดัชนีต้นทุนการจ้างงานไตรมาส 1 ของสหรัฐฯรวมถึงค่าใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลเดือน มี.ค.จะอยู่ในความสนใจของตลาดเช่นกัน โดยเราประเมินว่าความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปัญหาภาคธนาคารซึ่งแม้จะคลี่คลายลงแต่ได้ฉุดรั้งความเชื่อมั่น รวมถึงประเด็นเพดานหนี้ช่วงปลายไตรมาสนี้จะช่วยจำกัดขาขึ้นของเงินดอลลาร์ ในทางตรงกันข้าม โมเมนตัมเศรษฐกิจนอกสหรัฐฯ นำโดยจีน กำลังอยู่ในวัฆจักรการฟื้นตัวโดยเปรียบเทียบ
สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มี.ค. ส่วนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอาจรอความชัดเจนทางการเมืองต่อไป ทางด้าน ธปท.ระบุในจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลังว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์สะท้อนความเชื่อมั่นว่านโยบายการเงินจะสามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางได้