xs
xsm
sm
md
lg

วัดใจเลขาธิการ ก.ล.ต.ใหม่ กล้าไม่กล้า! ฟัน 3 ปัญหาใหญ่ บล.เอเชีย เวลท์-เหรียญ KUB-Zipmex

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตา 3 กรณีปัญหาที่รอการสะสางจากเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ “บล.เอเชีย เวลท์ ไปต่อหรือยุติ?” “คุณสมบัติเหรียญKUBว่างอย่างไรหลังยืดเยื้อร่วม 1 ปี ?” และ “Zipmex บทลงโทษที่มีอยู่สาสม?” ท้ายที่สุดต้องลุ้นว่าจะออกมาตรงใจฝ่ายบริหาร หรือถูกใจนักลงทุน หลังล่าสุด 2 รายชื่อเสนอรมว.คลังมีทั้งคนในที่รู้ปัญหา และคนนอกที่เป็นที่ถูกใจ รอการฟันธง!

เป็นที่แน่ชัดประการหนึ่งว่า ตลาดทุนไทย จะได้เลขาธิการคณะะกรรมการกำกับหลกทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คนใหม่คนที่ 13 อย่างแน่ชัด เมื่อ 2 รายชื่อที่เตรียมยื่นเสนอให้รัฐมนตรีว่าารกระทรวงการคลัง นั้นไม่ปรากฏชื่อ "รื่นวดี สุวรรณมงคล" ร่วมอยู่ด้วย ทำให้ข้อถกเถียงเรื่องการพิจารณาต่อวาระ หรือการสร้างประวัติศาสตร์เป็นเลขาธิการก.ล.ต.คนแรกที่ได้รับการต่อวาระเป็นอันยุติลงไป

มีรายงานข่าวว่า รายชื่อ 2 แคนดิเดตที่จะขึ้นมานั่งบนเก้าอี้ดังกล่าว ได้แก่ นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ และ รศ. ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เพื่อนำเสนอต่อ รมว.คลังรัฐพิจารณาตัดสินให้เหลือเพียง 1 ชื่อ ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาแต่งตั้งต่อไป

โดย “วรัชญา ศรีมาจันทร์” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.มีประสบการณ์การทำงานกับ ก.ล.ต. มาอย่างยาวนาน โดยก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส ขณะที่ “รศ.ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล” ปัจจุบันเป็นหัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน, ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการกำกับดูแลกิจการ, อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินและการธนาคาร นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ด้านการบริหารทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบภายใน ให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขณะที่เคยดำรงดำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนสองวาระ คือ 8 เม.ย.57 - 24 ก.ค. 2561 และ 25 ก.ค. 61 - 19 ก.ค.64

คนในมีโอกาสพ่ายคนนอก

ต้องยอมรับว่าทั้งสองท่าน เป็นผู้มีประสบการณ์ในแวดวงตลาดทุนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อย่างไรก็ตามการคัดเลือกเลขาธิการ ก.ล.ต.รอบนี้ก็หนีไม่พ้นคำครหาจากภายนอก เหมือนกับครั้ง "รื่นวดี"ถูกเสนอชื่อเข้ามาดำรงตำแหน่ง ว่าถูกแทรกแซงจากฐานอิทธิพลต่าง ๆ เช่นกลุ่มการเมือง ซึ่งถูกกล่าวอ้างอยู่บ่อยครั้ง แต่รอบนี้จะเป็นเช่นนั้นอีกหรือเปล่า? ยังไม่เป็นที่แน่ชัด

นั่นเพราะในช่วงการเปิดรับสมัครผู้เข้าชิงเก้าอี้ "หัวเรือReguatorตลาดทุน" ก็มีการปั่นกระแสออกมาเตะตัดขาการขอต่อวาระรอบสองของท่านเลขาธิการ ก.ล.ต.คนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ผ่านสื่อโซลเชี่ยลเน็ตเวิร์คพร้อมส่งเสียงเรียกร้องคณะกรรมการบอร์ดในการสรรหาว่า ต้องการเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ที่มาจากบุคคลภายใน โดยให้เหตุผลว่ามีประสบการณ์และเข้าใจองค์กร รวมถึงเข้าใจบุคลากรได้ดีกว่า เข้าใจปัญหาได้ดี สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้พร้อมเดินหน้างานต่างๆได้ทันที และแน่นอนเสียงที่เรียกร้องในขณะนั้นคงกำลังยินดีที่ “วรัชญา ศรีมาจันทร์” มีชื่อเป็น 1 ใน 2 แคนดิเดต

แต่ตอนนี้กลับมีกระแสว่า อีกหนึ่งตัวเต็งจากภายนอกดูมีภาษีมากกว่า จากความเชี่ยวชาญในงานที่ทำอยู่ ไม่เพียงแค่นี้ยังมีได้รับแรงสนับสนุนจากหนึ่งในคณะกรรมการบอร์ด ก.ล.ต.ทำให้มีโอกาสที่เปิดกว้างกว่าคนที่มาจากภายใน แม้จะถูกท้วงติงด้านคุณสมบัติที่อาจไม่ครบถ้วนก็ตาม งานนึ้จะเรียกว่า "ไม่ต้องมีเส้นการเมือง แต่มีเส้นบอร์ดก็ได้ลุ้นแบบไม่ต้องเหนื่อย" และที่ผ่านมาโดยไม่จำเป็นต้องดูสถิติจะพบว่า คนนอกส่วนใหญ่จะเข้ามานั่งบนเก้าอี้ตัวนี้บ่อยครั้ง หากเป็นเช่นนั้นคงต้องขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับโบรกเกอร์แห่งหนึ่ง

ทำไมเก้าอี้เลขาธิการ ก.ล.ต.จึงสำคัญ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถืออีกหนึ่งสถาบันด้านการลงทุนสำคัญ ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่กำลังจับจ้องรอดูการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ดังนั้นการเข้ามานั่งในตำแหน่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตำแหน่งนี้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารจัดการกิจการและการดำเนินงานของสำนักงาน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตลอดจนให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ นโยบาย และหลักธรรมาภิบาล ที่กำหนดเพื่อความยั่งยืน รวมถึงเสริมสร้างการแข่งขัน และนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้อย่างรับผิดชอบ เพื่อสร้างกลไกตลาดที่แข็งแรงที่เอื้อให้ภาคธุรกิจเกิดการแข่งขันที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.ยังมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลรวมถึง การกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กำหนดตามกฎหมาย พร้อมกันนี้ก.ล.ต.ยังต้องปรับเปลี่ยนองค์กรของ ก.ล.ต.ให้มีอำนาจในการสอบสวนคดีที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก เช่นเดียวกับอัยการ รวมถึงต้องมีความเด็ดขาดสั่งปิดกิจการบริษัทหลักทรัพย์ที่ทำผิดกฎหมาย

ดังนั้น คนที่ขึ้นมานั่งบนเก้าอี้เลขาธิการ ก.ล.ต.จึงมีความสำคัญเพราะทุกแอคชั่นที่ออกมาย่อมมีผลทางลบและบวกต่อกลุ่มทุนหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เพียงนี้การบริหารงาน ก.ล.ต.ยังจำเป็นต้องเดินไปในทิศทางเดียวกับคณะกรรมการ ก.ล.ต. (บอร์ดก.ล.ต.) ซึ่งโดยทั่วไปไม่น่ามีปัญหา แต่หากเป็นธุรกิจที่มีส่วนหรือเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับบอร์ดนี่ล่ะ? จะมีผลออกมาเช่นใด?

ทำให้ การสรรหาเลขาธิการ ก.ล.ต. รอบนี้ ทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่านอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถแล้ว เลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ ยังต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะกอบกู้ความน่าเชื่อถือของ ก.ล.ต. ในสายตาคนนอก ตลอดจนตรวจสอบข้อกล่าวหาและข้อร้องเรียนต่างๆ เกี่ยวกับธรรมาภิบาลภายในองค์กรได้อย่างเป็นอิสระ จึงเป็นเรื่องของ รมว.คลัง ผู้ที่ชี้ขาดจะคงต้องพิจารณารอบคอบและรอบด้าน

ภารกิจที่รอแก้ไขจัดการ

ต้องยอมรับว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานอกเหนือจากงานเดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาตลาดทุนไทย งานของ ก.ล.ต.ในเรื่องการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยพบว่ามีหลายปัญหาที่ยังคาราคาซังไม่มีความชัดเจน จนนำไปสู่ความน่าเชื่อถือต่อก.ล.ต.ของนักลงทุนที่ถดถอยลงไป

ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ในการเข้ามาสะสาง หรือทำให้เกิดความกระจ่างชัดว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการเหล่านี้กระทำนั้นมีความผิดหรือไม่ จำเป็นต้องได้รับการกล่าวโทษ ลงโทษประการใด จากที่ผ่านมายังไม่สามารถหาความชัดเจน หรือตอบสังคมได้อย่างกระจ่างแจ้ง

ขณะเดียวกันอีกประเด็นที่หลายฝ่ายจับตาคือจุดยืนของ ก.ล.ต. เมื่อมีอำนาจในการสอบสวนคดีความ หรือความผิด หรือปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว การพิจารณาตัดสินความผิดเหล่านี้ ก.ล.ต.จะทำอย่างไรเพื่อให้การพิจารณาเป็นที่ยอมรับในสายตาของนักลงทุน ไม่ใช่เพียงต้องการให้เป็นที่ยอมรับกันเองระหว่างกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรืออยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น

ที่ผ่านมากระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดร้ายแรงตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ถูกตั้งคำถามมานานแล้วว่า เหตุใดจึงมีความล่าช้าหลายปี ทั้งที่ควรสรุปสำนวนได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี แต่ที่ผ่านมาคดีร้ายแรงในตลาดหุ้นไทย ก.ล.ต.ไม่เคยสรุปสำนวนกล่าวโทษได้ภายใน 1 ปีได้ ไม่ว่าคดีอินไซเดอร์เทรดดิ้ง คดียักยอกทรัพย์หรือผ่องถ่ายทรัพย์สินของบริษัทจดทะเบียน และคดีปั่นหุ้น

เพิ่งจะมีคดีหุ้น บมจ. มอร์ รีเทิร์น (MORE) เป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ที่ ก.ล.ต. สามารถสรุปสำนวน ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อตำรวจได้ภายในเวลา 3 เดือน ทั้งที่เป็นคดีที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวโยงกับคน จำนวนมาก มีผู้ร่วมกระทำผิดถึง 18 ราย

ดังนั้น คดีหุ้น MORE จึงน่าจะนำไปสู่บรรทัดฐานใหม่ที่ว่าการกล่าวโทษคดีความผิด ร้ายแรงในตลาดหุ้นจะรวดเร็วและไม่ควรใช้เวลานานเกินกว่า 1 ปี และทุกฝ่ายจึงคาดหวังคดีปั่นหุ้น MORE ควรที่เป็น "คดีนำร่อง" ต่อการพัฒนาระบบควบคุมการซื้อขายของตลาดทุนไทยในปัจจุบัน


อนาคต “บล.เอเชีย เวลท์”

และจากกรณีของการซื้อขายหุ้น MORE แบบผิดปกติที่เกิดขึ้น จน ก.ล.ต. ในขณะนั้นสั่งระงับการทำธุรกรรมของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ จำกัด (AWS) ในธุรกิจทุกประเภทจนถึงขั้นขู่อาจเรียกคืนใบอนุญาต ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกในวงการธุรกิจหลักทรัพย์ไทย ที่มีโบรกเกอร์ถูกสั่งปิดกิจการ

ล่าสุดมีรายงานว่า บริษัทได้มีหนังสือเลิกจ้างพนักงานบางส่วน โดยมูลค่าจ่ายชดเชยประมาณ 6 ล้านบาท ทำให้ พนักงานที่โดนให้ออกรวมตัวกันเพื่อไปแจ้งต่อกรมแรงแรงงาน และยื่นฟ้องที่ศาลแรงงานอีกด้วย โดยสิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบจากการถูกสั่งให้หยุดประกอบธุรกิจทุกประเภทหลังไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) ตามที่กฎหมายกำหนดจากการที่ CFO นำเงินของลูกค้าไปใช้โดยพลการมูลค่า 157.99 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระค่าซื้อหุ้น MORE แทน (ลูกค้าผิดนัดชำระค่าซื้อหุ้น) ให้กับทางสำนักหักบัญชี

นอกจากนี้ AWS ยังถูก ก.ล.ต.ลงโทษปรับเป็นมูลค่ารวม 5,295,000 บาท จากการกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ 4 มาตรา พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังกล่าวโทษ บล.เอเชีย เวลท์ ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป รวมทั้งแจ้งเบาะแสให้ บก.ปอศ. พิจารณาการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องการยักยอกทรัพย์ตามที่เห็นสมควรต่อไปด้วย

ปัจจุบันมีรายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับหนังสือจาก.ล.ต. เพื่อพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ก.ของ บล.เอเชีย เวลท์ จำกัด แล้ว โดยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องดังกล่าว

ดังนั้น หาก รมว.คลังมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต จะมีผลให้เลิกบริษัทตามมาตรา148แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ สำหรับใบอนุญาตหลักทรัพย์ประเภท ก.จะส่งให้บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตทุกประเภท

ทั้งนี้ บล.เอเชีย เวลท์ มียอดดีลความเสียหายจากหุ้นMOREจำนวน 279.13 ล้านบาท โดยบริษัทฯ นำเงินลูกค้าไปใช้157.99 ล้านบาท มีเงินสดในบริษัทเพียง1.18 ล้านบาท เงินกู้ยืมโอดี 119 ล้านบาท

แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องการได้จาก ก.ล.ต.ในเรื่องนี้คือความคืบหน้าของบทลงโทษที่จะเกิดแก่ บล.เอเชีย เวลท์ เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างไม่ให้โบกรเกอร์รายอื่นกระทำผิดตาม ดังนั้น ก.ล.ต.ในฐานะผู้ยื่นเรื่องให้รมว.คลัง ควรที่จะติดตามเรื่องดังกล่าวโดยสามารถตอบคำถามสังคมได้อย่างกระจ่างแจ้ง ว่ากระบวนการพิจารณาปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนใด และท้ายที่สุดเรื่องนี้จะจบลงแบบใด รวมถึงเมื่อใด

ฟันธงเหรียญ KUB อยู่หรือไป

สำหรับกรณี “กลุ่มบิทคับ” ที่มีปัญหาตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ การให้บริการลูกค้า การสร้างปริมาณเทียมปั่นราคาเหรียญ ที่ ก.ล.ต.ได้เข้าตรวจสอบและมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับนับ 100 ล้านบาท ยังมีประเด็นที่ค้างคาอยู่ในมือ ก.ล.ต. และถือเป็นประเด็นที่สังคมให้การจับตาเรื่องดังกล่าวอย่างมาก นั่นคือการตรวจสอบและสั่งให้แก้คุณสมบัติเหรียญ KUB เนื่องขาดคุณสมบัติที่จะนำเข้ามาซื้อขายในกระดานสินทรัพย์ดิจิทัล

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายต่างสงสัยว่าทำไมการตรวจสอบและการพิจารณาของ ก.ล.ต.ในเรื่องดังกล่าวมีความล่าช้า ไม่เพียงเท่านี้ Regulator ยังยืดเวลาแก้ไขและชี้แจงให้แก่ “กลุ่มบิทคับ” มาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดให้กับนักลงทุน

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่านี่อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของปัญหาภายใน ก.ล.ต. เนื่องจากมีอดีตผู้บริหารของ ก.ล.ต. ซึ่งปัจจุบันเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานของบิทคับ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. บางส่วนซึ่งเป็นอดีตลูกน้องในสังกัดเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับอดีตเจ้านาย หรือยอมปล่อยผ่านในวีรกรรมต่างๆ ที่ “บิทคับ” ก่อขึ้นมาด้วยความเกรงใจ

ไม่เพียงเท่านี้ยังมีรายงานว่า คณะกรรมการบอร์ด ก.ล.ต.บางคนก็มีความสนิทชิดเชื้อกับกลุ่มผู้บริหารของเจ้าตลาดสินทรัพย์ดิจจิทัลรายใหญ่ของประเทศ จนทำให้เกิดการเอื้อเฟื้อ หรือเกื้อกูลงานของ “บิทคับ” ให้ออกมาในทางที่ดีมากกว่าลบ

ตอนนี้ไม่แปลกใจเลยหากการพิจารณาคุณสมบัติของเหรียญ KUB จะต้องใช้เวลาถึง 1ปี หลังจากผ่านมาแล้วร่วม 9 เดือน ในเรื่องนี้น่าขอบคุณความเมตตาจาก ก.ล.ต. ที่ช่วยยืดเวลาการชี้แจงและแก้ไขข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ ก.ล.ต. เข้ามาตรวจพบข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงกับคำบรรยายสรรพคุณ

นั่นเพราะเหตุการณ์ทั้งหมดน่าจะเริ่มขึ้นจาก 5 พ.ค. 2564 เมื่อกลุ่มบิทคับ ได้พิจารณาอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯของ บิทคับ โดยที่เหรียญ KUB มีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) และก.ล.ต.ได้ตรวจสอบ พบว่า “บิทคับ” มีการให้คะแนนการคัดเลือกเหรียญ KUB เพื่ออนุมัติให้เข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ไม่เป็นไปตาม Listing Rule ในการให้คะแนนในเรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจคในระดับที่ “สูงกว่ามาตรฐานและไม่เคยมีมาก่อน” แต่ไม่ปรากฏหลักฐานและเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า เหรียญ KUB มีเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่จริง

นอกจากนี้ บิทคับ ยังให้คะแนนในหัวข้อการระดมทุนและหัวข้อส่วนลด Pre-ICO Sale ที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของเหรียญ KUB ด้วย จึงทำให้ ก.ล.ต. เห็นว่า คะแนนการคัดเลือกเหรียญ KUB โดยรวมไม่ถึงเกณฑ์ที่จะอนุมัติเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้

สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ที่มา ก.ล.ต. สั่งการให้ บิทคับ แก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB ในการเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของ บิทคับ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 โดยวันที่ 10 พ.ย.2565 ถือเป็นครั้งล่าสุดที่บอร์ด ก.ล.ต.มีการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของเหรียญ KUB โดยการประชุมของครั้งที่ 15/2565 ของบอร์ด ก.ล.ต. มีคำสั่งเพิ่มเวลาให้ “บิทคับ” อีกรอบ

ทั้งนี้ หากประเมินระยะเวลาแล้วการชี้แจงข้อมูลของ “บิทคับ”ควรแล้วเสร็จมาตั้งแต่ช่วงเดือนธ.ค.ปีที่ผ่านมา และผู้ตรวจสอบควรมีข้อมูลหรือข้อชี้จัดเสียทีว่า แต่จนแล้วจนรอดปัจจุบันยังไม่มีใครรู้ว่า “กลุ่มบิทคับ”ได้แก้ไขคุณสมบัติและเทคโนโลยีต่างๆ ตามคำสั่งที่ ก.ล.ต.สั่งให้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้วหรือไม่ อีกทั้งเมื่อไร ก.ล.ต.จะดำเนินการอย่างไรต่อเรื่องดังกล่าวเสียที?

“ซิปเม็กซ์” กับบทลงโทษที่เหมาะสม

อีกหนึ่งกรณีที่หลายฝ่ายต่างโอดครวญกันว่าบทลงโทษเบาดังขนนกเมื่อเทียบกับความเสียหายที่ใหญ่หลวง นั่นคือกรณีของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ที่ประกาศระงับประกาศระงับธุรกรรมการถอนคริปโตเคอร์เรนซีและเงินบาทชั่วคราว หลังจากนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปลงทุนต่อ จนก่อให้เกิดความเสียหายประมาณ 2 พันล้านบาท จนขาดสภาพคล่องและนำเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลสิงคโปร์

โดย ในกรณีของ ซิปเม็กซ์ นั้น ก.ล.ต. ได้เข้าตรวจสอบและใช้มาตรการทางแพ่งปรับเป็นเงินหลายสิบล้านบาท พร้อมทั้งประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อดำเนินคดีอาญา นอกเหนือจากความผิดตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ แต่จนแล้วจนรอด เรื่องซิปเม็กซ์ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดออกมาว่าจะดำเนินการอย่างไร?

ทั้งนี้ บทลงโทษที่ Zipmex Thailand ควรได้รับจาก Regulator หลายฝ่ายมองว่าควรทำให้เป็นอุทาหรณ์หรือเป็นแบบอย่างไม่ให้ Exchange รายอื่น ๆ ปฏิบัติตาม จึงถือเป็นเรื่องอีกประเด็นที่น่าติดตามไม่น้อย แต่กลับพบว่าที่ผ่านมาพบว่าการกล่าวโทษ และลงโทษปรับ Zipmex Thailand จาก ก.ล.ต. เป็นเม็ดเงินรวมกันเพียง 2.6 ล้านบาท ทำให้หลายต่อหลายคนในแวดวงตลาดทุนและตลาดคริปโตฯมองว่าเป็น การลงโทษที่น้อยนิดกับการกระทำที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน จากบทลงโทษชนิดเบาบางที่ Zipmex Thailand นั้นได้รับ ทำให้หลายฝ่ายอดคิดไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งน่าจะหนีไม่พ้นจากการที่หุ้นส่วนทางธุรกิจของบริษัทเป็นคนจากตระกูลใหญ่ที่มีบทบาทต่อตลาดเงินตลาดทุนมาช้านาน เพราะมีความเป็นไปได้ที่ผู้ควบคุมกลไกและความถูกผิดของตลาด อาจเกิดความเกรงใจที่จะลงโทษสถานหนัก และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี หรือกระตุ้นให้ Exchange อื่น ๆ เอาอย่าง

โดยสรุป  ใครที่จะเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต.รอบนี้ น่าจะเป็นงานที่ท้าทายหรือเหนื่อยมิใช่น้อย หากต้องการจะทำให้งานเหล่านี้สัมฤทธิ์ผลและเป็นที่พอใจจากฝ่ายบริหาร รวมถึงเป็นที่พอใจในสายตานักลงทุนเพื่อฟื้นคืนศรัทธาและความเชื่อมั่นขององค์กรจากภายนอกกลับคืนมา หรือบางทีนักลงทุนจำเป็นต้องติดตามเรื่องการบริหารจัดการปัญหาต่างๆของ ก.ล.ต. ต่อไปอีกสักพักใหญ่ นั่นเพราะบางทีตำแหน่งเก้าอี้ “เลขาธิการ ก.ล.ต.” อาจไม่ใช่ฉนวนสำคัญหรือสาเหตุสำคัญของปัญหาทุก ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หากแต่เป็นที่ “บอร์ด ก.ล.ต.” มากกว่าที่ควรถึงเวลาต้องเปลี่ยน?


กำลังโหลดความคิดเห็น