ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 8,676 ล้านบาท เติบโต 17.0% จากไตรมาสแรกของปี 2565 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ตลอดจนการลดลงของภาระตั้งสำรอง ขณะที่เงินให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 0.3% หรือจำนวน 5,145 ล้านบาท และเงินรับฝากเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.0% โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ยังคงอยู่ในระดับต่ำเพียง 2.26% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 จากการดำเนินนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบรัดกุม และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.35% เทียบกับ 3.28% ในไตรมาสแรกของปี 2565
ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 6.1% หรือ 506 ล้านบาท จากไตรมาสแรกของปี 2565 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ปรับสู่ 44.4% เพิ่มขึ้นจาก 42.7% ในไตรมาสแรกของปี 2565 สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นและจากฐานที่ต่ำในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน
ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ปรับตัวดีขึ้นที่ 2.26% จาก 2.32% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 ส่งผลให้สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับที่ 116 เบสิสพอยท์ ในไตรมาสแรกของปี 2566 อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 167.1% และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.95% เทียบกับ 17.97% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในประเทศกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 2566 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยกรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับ 3.3% ในปี 2566
“กรุงศรียังคงรักษาเสถียรภาพด้านการเงินที่แข็งแกร่งมั่นคงด้วยระดับเงินกองทุน ระดับการตั้งสำรอง และสภาพคล่องทางการเงินที่สูง และพร้อมเดินหน้าสนับสนุนแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ ทั้งในกลุ่มลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย โดยธนาคารกำหนดเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อในปี 2566 ไว้ที่ 3-5%”
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 กรุงศรีซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.95 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.86 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.68 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 300.17 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.95% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.21%