xs
xsm
sm
md
lg

AF ปลดล็อก SMEs ให้บริการสินเชื่อแฟกตอริ่งออนไลน์เจ้าแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไอร่า แฟคตอริ่ง รุกให้บริการ “สินเชื่อแฟกตอริ่งออนไลน์” เต็มสูบ สบช่องปลดล็อกการให้บริการลูกค้าที่มีธุรกรรมการค้าขนาดไม่เกิน 1 ล้านบาท คาดในปี 66 ช่วงเริ่มต้นจะมีผู้ใช้บริการไม่น้อยกว่า 120 ราย คิดเป็นมูลค่ายอดเบิกใช้สะสม 200 ล้านบาท พร้อมจ่อทยอยปิดดีลปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาด 3-4 ราย รวมมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท เตรียมกดปุ่มสตาร์ททยอยปล่อยสินเชื่อแฟกตอริ่งออนไลน์ ภายในไตรมาส 2/66 นี้

นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AF ผู้นำด้านการให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เปิดเผยว่า ในปี 2566 บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นวางกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเติบโตแบบยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยการเพิ่มช่องทางการให้บริการรูปแบบดิจิทัล ที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้อย่างที่ง่ายและรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยพัฒนาช่องทางการขอสินเชื่อแฟกตอริ่งแบบออนไลน์ โดยลูกค้าสามารถยื่นขอสินเชื่อแฟกตอริ่ง ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ด้วยตนเอง โดย AF พัฒนาโครงการภายใต้ความร่วมมือกับ NEC Corporation (Thailand) Ltd. พันธมิตรด้าน IT Solutions นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการวิเคราะห์เครดิต ช่วยลดเวลากระบวนการอนุมัติ สามารถทราบผลได้ใน 24 ชม. โดยรูปแบบสินเชื่อดังกล่าวจะเริ่มให้บริการระยะแรก ในไตรมาส 2/2566 นี้ ซึ่งจะเป็นการเปิดให้บริการกลุ่มคู่ค้าของผู้ซื้อรายใหญ่ที่เป็นพันธมิตร AF ทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกลุ่ม Micro SMEs โดยในเบื้องต้น AF คาดว่าจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อแฟกตอริ่งแบบออนไลน์ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพที่มีประวัติการค้ากับผู้ซื้อที่ดี

ขณะที่แผนกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อแฟกตอริ่งออนไลน์ระยะที่ 2 บริษัทฯ จะเปิดให้บริการกับกลุ่มลูกค้าทั่วไปภายในไตรมาส 4/2566 โดย AF ตั้งเป้าเฉพาะในปี 2566 จะมีผู้ใช้บริการขอสินเชื่อแฟกตอริ่งแบบออนไลน์ คิดเป็นมูลค่ายอดเบิกใช้สะสมไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท โดยความสำเร็จในการพัฒนาการปล่อยสินเชื่อแฟกตอริ่งในรูปแบบออนไลน์ดังกล่าวส่งผลให้ AF ก้าวเป็นผู้ให้บริการแฟกตอริ่งออนไลน์รายแรกในกลุ่ม Non-Bank ผู้ให้บริการแฟกตอริ่ง

“ในอดีตที่ผ่านมา ลูกค้าในกลุ่มที่มีธุรกรรมการค้าขนาดไม่เกิน 1 ล้านบาท AF ไม่สามารถให้การสนับสนุนได้ แต่การให้บริการสินเชื่อแฟกตอริ่งแบบออนไลน์ จะช่วยให้การบริหารต้นทุนการดำเนินงานมีความเหมาะสม ลดข้อจำกัดในการให้บริการ ตลอดจนยังเป็นการกระจายความเสี่ยงของบริษัทฯ และสามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่ม SMEs ให้มีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ส่งผลให้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจำนวนลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการหลังเปิดให้บริการทั้ง 2 ระยะ ประมาณ 200-300 รายต่อปี ซึ่งจะสร้างมูลค่ายอดเบิกใช้สะสมประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี”

นอกจากนี้ บริษัทฯ มุ่งพัฒนาให้บริการการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มธุรกิจเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ธุรกิจพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน หรือเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เป็นต้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์บริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามแนวทาง ESG ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งให้ความสำคัญต่อ Environment, Social และ Governance

สำหรับรูปแบบการปล่อยสินเชื่อธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าว จะมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยปกติ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มลูกค้าขอสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมที่อยู่ระหว่างการรออนุมัติ รวมวงเงินขอสินเชื่อประมาณ 100 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นคาดว่า บริษัทฯจะสามารถเริ่มทยอยปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าเป็นรายแรกได้ภายในไตรมาส 2/2566 นี้

นายอัครวิทย์ กล่าวอีกว่า จากแผนการมุ่งเน้นให้สินเชื่อทั้ง 2 บริการที่กล่าวมา ได้แก่ 1.สินเชื่อแฟกตอริ่งแบบออนไลน์ และ 2.โครงการการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มธุรกิจเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน นอกจากตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าแล้ว ยังเป็นการสร้างอัตราการเติบโตทางธุรกิจในปี2566 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ประเมินภาพรวมของรายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อน โดยจะมีวงเงินการปล่อยสินเชื่อรวมเติบโตเกินกว่าระดับ 20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 15% จากปีก่อนที่มีมูลค่าวงเงินการปล่อยสินเชื่อรวมที่ระดับ 18,000 ล้านบาท และที่สำคัญสะท้อนศักยภาพการให้บริการโดยสร้างนวัตกรรมทางการเงินตามแผน Digital Transformation ที่ประยุกต์ขั้นตอนการปฏิบัติงานเป็นแบบดิจิทัล สอดคล้องแผนการสร้างความยั่งยืนตามแนวทาง ESG

“ปัจจุบัน AF มี 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ครบทุกมิติ ซึ่งประกอบด้วย 1.สินเชื่อแฟกตอริ่ง 2.สินเชื่อระยะสั้นไม่เกิน 180 วัน (Exclusive PN) สำหรับลูกค้าเก่าประวัติดี 3.สินเชื่อเงินกู้ระยะยาว (Long-Term Investment) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต หรือลงทุนในด้านพลังงานทดแทน และ 4.สินเชื่อสำหรับ Supply chain ผู้ซื้อรายใหญ่ (AFP : Account Payable Financing Program)”

โดยในปีนี้บริษัทฯ มุ่งเน้นลูกค้าจากอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทนและส่วนประกอบรถยนต์ EV กลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์ และกลุ่มธุรกิจด้าน IT ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ดังนั้น จึงมองว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้จะได้รับอานิสงส์เชิงบวก ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ AF คาดว่าจะสร้าง Portfolio เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น