xs
xsm
sm
md
lg

QTC ยกระดับหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพรายแรกของประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ ประกาศขยายตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (BIO Transformer Oil) หลังผนึก 2 บริษัทชั้นนำ “บ.บีบีจีไอ และเอสซีจี เคมิคอลส์” พัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพรายแรกของไทย เล็งเริ่มผลิตและจำหน่ายได้ภายในพฤษภาคมนี้ หวังเจาะกลุ่มลูกค้าภาครัฐ-ภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมปูทางจำหน่ายตลาดต่างประเทศ 

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Made to Order) และตัวแทนจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ของ Longi และ inverter ของ Huawei เปิดเผยว่า ภายหลังจากบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาพัฒนาและผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (BIO Transformer Oil) รายแรกของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายภายในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ QTC เป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพรายแรกของไทยที่ดำเนินการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ โดยตั้งเป้าหมายในการจำหน่ายให้กลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจหม้อแปลงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงจำหน่ายไปกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เป็นต้น

“ความร่วมในโครงการพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (BIO Transformer Oil) ในครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจภายใต้การเป็น Strategic Partner ร่วมกันของ 3 องค์กรมาช่วยผลักดันในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย QTC เป็นผู้นำด้านการผลิตจำหน่ายและให้บริการเทคโนโลยีครบวงจรในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพระดับโลก ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นตัวแทนจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ของ Longi และ inverter ของ Huawei ขณะที่ บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) ผู้นำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ประเภทผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ เอทานอล ไบโอดีเซล และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง และ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ผู้นำด้านการผลิตเคมีภัณฑ์แบบครบวงจรในอาเซียน”

อีกทั้งยังเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของภาครัฐ และมาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากปาล์มน้ำมันของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติที่ต้องการกระตุ้นปริมาณความต้องการใช้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพในประเทศไทย ทำให้ความต้องการในการใช้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพในเชิงอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในประเทศไทยจะช่วยลดต้นทุนการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของผู้ประกอบการจากการนำเข้าจากต่างประเทศได้ และจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้พืชผลทางการเกษตรของประเทศ ตลอดจนเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดังนั้น ภายหลังจากการทดสอบใช้งานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพที่ผลิตช่วงเบื้องต้นที่ผ่านมา พบว่ามีคุณสมบัติเทียบเคียงผู้ผลิตในตลาดจากต่างประเทศ และยังมีความได้เปรียบในด้านค่าความหนืดที่ใกล้เคียงกับน้ำมัน Mineral Oil ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทน Mineral Oil ได้ทันที โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกแบบหม้อแปลงไฟฟ้าให้มีคุณลักษณะที่เปลี่ยนไปจากมาตรฐานเดิม ส่งผลให้บริษัทฯ เดินหน้าตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (BIO Transformer Oil) มีคุณสมบัติที่ทนแรงดันไฟฟ้าได้สูง (Dielectric Breakdown Voltage) จุดวาบไฟ (Flash Point) จุดติดไฟ (Fire Point) มีค่าสูงทำให้มีความปลอดภัยอีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ.2035 (ปี พ.ศ.2578)


กำลังโหลดความคิดเห็น