xs
xsm
sm
md
lg

ราคาทองคำยังขาขึ้น หลายปัจจัยช่วยสนับสนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาพรวมครึ่งปีแรก ราคาทองคำยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อจากสถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐฯ กดดันเฟดอาจยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งความตรึงเครียดของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันภาพรวม10ปี ราคาพุ่ง 82.58% จากปี 2556 โดยรวมเชื่อราคายังมีโอกาสแตะ 2,075 – 2,100 ดอลลาร์/ออนซ์

หากพิจารณาราคาทองคำในปัจจุบันเปรียบเทียบกับราคาย้อนหลังไป 10 ปีที่แล้ว (2566 - 2556) จะพบว่าจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 17,800 บาท ในปี 2556 กับราคาทองคำในปัจจุบันที่ขยับเพิ่มสูงขึ้นถึง 32,500 บาท (10เม.ย.) พบว่าเพิ่มขึ้นกว่า 14,700 บาท หรือ 82.58% กล่าวได้ว่า หากใครเริ่มสะสมทองคำแท่งตั้งแต่ปี 2556 แล้วนำมาขายทำกำไรในปีแทบจะโกยกำไรขนาด 1 เท่าตัว

ขณะที่ปี2566 แม้จะเพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่เดือนที่4ของปี (เมษายน) ราคาทองคำขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นแล้ว 2,600 บาทจากช่วงต้นปี โดยมีราคาต่ำสุดที่ระดับ 29,650 บาทเมื่อต้นปี และปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 32,300 - 32,500 บาท

ทั้งนี้ ตลอดช่วง10ปีที่ผ่านมา พบว่าปี 2563 ราคาทองคำมีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากทื่สุดสูงถึง 5,300 บาท ขณะที่ปี 2556 ถือเป็นปีที่ราคาทองคำปรับตัวลดลงมากที่สุดถึง 5,300 บาทเช่นกัน โดยในปี 2556 - 2558 เป็นช่วงเวลา 3 ปีที่ราคาทองคำลดลงต่อเนื่อง เริ่มจากลดลง 5,300 บาทในปี 2556 ต่อมาลดลง 400 บาทในปี 2557 และลดลง 300 บาทในปี 2558

ส่วนการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำเริ่มตั้งแต่ปี 2562-2566 โดยปี2562 ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 1,850 บาท ถัดมาปี 2563 เพิ่มขึ้น 5,300 บาท,ปี2564 เพิ่มขึ้น 1,800 บาท,ปี2565เพิ่มขึ้น 1,200 บาท และ4เดือนแรกปี 2566 เพิ่มขึ้น 2,600 บาท

ทำไมราคาทองคำช่วงนี้ขาขึ้น

ด้วย “ทองคำ” ถูกตีค่าสถานะว่า “สินทรัพย์ปลอดภัย” ทำให้ยามใดที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตหรือเกิดความตื่นกลัว นักลงทุนจะหันมาขายสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ หุ้น และโยกย้ายพอร์ตเงินทุนเข้ามาสู่ทองคำ ดังนั้นเมื่อมีดีมานด์มากขึ้น ทำให้ราคาทองคำขยับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยช่วงที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCovid-19 มีสภาทองคำโลก ได้อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้ทิศทางราคาทองคำว่าจะยังคงเป็นขาขึ้นต่อไป เพราะทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาผันผวนน้อย ขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอ

ประกอบกับนักลงทุนยังคงมองว่าการลงทุนในสินทรัพย์อื่นยังคงมีความเสี่ยงสูง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ (ณ เวลาในช่วงนั้น) และเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว จึงทำให้กระแสเงินลงทุนไหลเข้าสู่ตลาดทองคำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการจากผู้บริโภคชาวจีนแลคะอินเดีย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยบวกต่อทิศทางราคาทองคำทั้งสิ้น

ต่อมาแม้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะเริ่มปรับตัวขึ้นตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่หวังจะใช้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาช่วยสกัดปัญหาเงินเฟ้อ แต่ราคาทองคำยังได้รับปัจจัยบวกนั่นคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะทำให้นักลงทุนหันมาถือครองทองคำเพิ่มขึ้น จนสามารถขยับขึ้นมาแตะที่ระดับ 30,000 บาทได้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และขึ้นไปสูงสุดที่32,100 บาท ในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน ทั้งที่ช่วงมกราคม 2565 ราคาทองคำยังเคลื่อนไหวอยู่ที่ 28,00 - 29,000 บาท

ขณะที่ปัจจัยที่สนับสนุนให้ราคาทองคำขยับตัวเพิ่มขึ้นในปัจจุบันหนีไม่พ้น สภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐฯหลังการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของเฟด เพื่อลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ยังเกิดเหตุการณ์การล้มละลายของ 3 ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะประกาศมาตรการดูแลออกมาแล้วก็ตาม ซึ่งความกังวลเหล่านี้ทำให้นักลงทุนแห่ซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐปิดตัวลง 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารซิลเวอร์เกต ที่เน้นการให้สินเชื่อในธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซีซึ่งธนาคารแห่งนี้ประกาศปิดกิจการด้วยตัวเอง และยังมีอีก 2 ธนาคารที่ถูกทางการสหรัฐสั่งปิด คือ ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์(SVB) เน้นให้สินเชื่อแก่ธุรกิจสตาร์ทอัป และ ธนาคารซิกเนเจอร์(SB) เน้นการให้สินเชื่อในธุรกิจคริปโต การปิดตัวลงของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 แห่งในสหรัฐ ยังได้สร้างแรงกดดันต่อหุ้นธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่นักลงทุนกังวลว่าจะเผชิญความเสี่ยงในลักษณะเดียวกัน

“ปัจจัยที่จะช่วยหนุนราคาทองคำ ก็เริ่มเห็นการทยอยอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ราคาทองคำในปีนี้น่าจะไม่ต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ ดังนั้นหากราคาทองคำย่อลงมา นักลงทุนสามารถทยอยซื้อเก็บได้ เพราะในระยะยาวก็มีเรื่องของภาวะเศรษฐกิจถดถอย กับมุมมองของเฟดที่จะต้องปรับลดดอกเบี้ย หลังจากปรับขึ้นไปถึงจุดสุดแล้ว” แหล่งข่าวแสดงความเห็น

พร้อมกล่าวเสริมว่า ราคาทองคำในเดือน มีนาคม ปรับตัวขึ้นทำระดับสูงสุดของปีที่ 2,009 ดอลลาร์/ออนซ์ ถือว่าเป็นการปรับตัวขึ้นมาเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จากปัจจัยเรื่องแบงก์ล้มในสหรัฐฯ ทำให้ต้องปรับเป้าหมายจุดสูงสุดราคาทองคำปีนี้ เป็น 2,075-2,200 ดอลลาร์ แต่อาจจะคาดการณ์ได้ค่อนข้างยากว่าราคาทองคำจะทำนิวไฮอีกช่วงไหนของปี เพราะต้องรอดูทิศเฟด

ปัจจุบันหลายฝ่ายประเมิน ราคาทองคำในช่วงนี้น่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางไซด์เวย์ไปจนกว่าจะเห็นท่าทีของการดำเนินนโยบายของเฟดที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากไม่ขึ้นดอกเบี้ย ราคาทองคำมีโอกาสปรับขึ้นได้ต่อ แต่หากปรับตัวขึ้นราคาทองคำมีโอกาสย่อตัวลง ขณะที่นักลงทุนบางกลุ่มเชื่อว่า โอกาสที่ราคาทองคำจะทำนิวไฮขึ้นไปอีกมีค่อนข้างสูง เนื่องจากประเด็นของวิกฤตธนาคารในสหรัฐฯและสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเด็นที่คาดไม่ถึง และเป็นปัจจัยทำให้ราคาทองปรับตัวขึ้นมาทดสอบที่ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ ฉะนั้น เป้าหมายของราคาทองคำปีนี้ ขั้นต่ำมองไว้ที่ 2,070-2,100 ดอลลาร์/ออนซ์ และยังมีโอกาสทะลุทำนิวไฮใหม่ที่ 2,100 ดอลลาร์

มี.ค.ความต้องการทองคำสูงต่อเนื่อง

จากข้อมูลพบว่า ราคาทองคำ spot ตลอดเดือน มี.ค. เคลื่อนไหวระหว่าง 1,809-2,009 ดอลลาร์/ออนซ์ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากราคาปิด ณ สิ้นเดือน ก.พ. ที่ 1,829 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยทะยานสูงจนทะลุ 2,000 ดอลลาร์ จึงนับได้ว่าในเวลาเพียงไม่ถึงเดือน ราคาทองคำ spot ทะยานขึ้นมาเกือบ 200 ดอลลาร์ หรือราว 10% ขณะที่กองทุนทองคำ SPDR Gold Trust ซื้อสุทธิ 14.17 ตัน เพิ่มปริมาณการถือครองทองคำขึ้นจาก 915.3 ตัน ณ สิ้นเดือน ก.พ. มาเป็น 929.47 ตัน ณ สิ้นวันที่ 29 มี.ค.

สำหรับสิ่งนักลงทุนต้องติดตามคือ   โอกาสที่มีอยู่พอสมควรที่เฟดจะพิจารณาเริ่มต้นวงจรดอกเบี้ยขาลงในไตรมาสแรกปี2567 เพื่อให้สอดรับกับการถอยตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่คาดว่ากำลังจะเกิดขึ้นในช่วงที่เฟดบรรลุเป้าหมายกดอัตราเงินเฟ้อลงสู่ระดับ 2% แล้ว ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไปจะนำมาซึ่งภาวะถดถอยแบบ hard landing 

นอกจากนี้ในช่วงกลางเดือน มี.ค. ข่าวธนาคารซิลิคอนวัลเลย์เกิดปัญหา ตลาดจึงหันมาพิจารณาท่าทีของเฟดอีกครั้งว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่หยุดจะเป็นการสร้างความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจ และจากนั้นไม่กี่วัน เครดิตสวิส หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินขนาดยักษ์ ก็ต้องขอให้ใครสักคนมาเพิ่มทุนแทนผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ติดข้อกฎหมายไม่สามารถถือหุ้นเกินกว่า 10% ได้ ปัญหานี้แม้จบลงด้วยการเข้าซื้อทั้งกิจการโดยธนาคารยูบีเอส แต่ก็ต้องอาศัยการหนุนหลังทางการเงินอย่างมากเพื่อสร้างความเชื่อมั่น

นั่นทำให้นักลงทุนในตลาดจึงยิ่งตื่นตระหนก ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นทองคำ พันธบัตร หรือแม้แต่สกุลเงินคริปโต จึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับมุมมองของนักลงทุนในตลาดที่คาดว่าเฟดอาจจะไม่กล้าปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก และมีโอกาสที่จะเริ่มพิจารณาถึงแนวทางการปรับดอกเบี้ยลงด้วย

ขณะเดียวกันข้อมูลบนเว็บไซต์ของธนาคารกลางจีน (PBOC) เมื่อ 7 เม.ย. บ่งชี้ว่า PBOC เพิ่มปริมาณการถือครองทองคำอีกราว 18 ตันในเดือนมี.ค. ส่งผลให้มีปริมาณทองคำสำรองรวมทั้งสิ้นขณะนี้ราว 2,068 ตัน หลังจากเพิ่มขึ้น 102 ตันในช่วง 4 เดือนก่อนหน้าเดือนมี.ค. 

สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่า ประเทศต่าง ๆ ได้เพิ่มปริมาณสำรองทองคำ ท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นและเงินเฟ้อที่ระดับสูง โดยความต้องการทองคำของธนาคารกลางนั้นเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 2 ในปี 2565 และผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดในเดือนม.ค.ปีนี้ได้แก่ ตุรกี, จีน และคาซัคสถาน

ทองคำแพง หนุนแห่ขาย ยอดซื้อลด

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ราคาทองคำรูปพรรณและทองคำแท่งในประเทศกลับซบเซา โดย “วรชัย ตั้งสิทธิ์ภักดี” กรรมการสมาคมค้าทองคำ แสดงความเห็นว่า จากสถานการณ์ราคาทองคำที่มีความผันผวนเวลานี้ และปรับราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้บรรยากาศในการซื้อขายทองคำ ค่อนข้างคึกคัก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการขายคืนให้กับร้านค้ามากกว่าการซื้อเพิ่ม จึงประเมินสถานการณ์ การซื้อทองคำเพื่อเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ไม่มากนัก เนื่องจากราคาค่อนข้างสูง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจและ กำลังซื้อของประชาชนโดยทั่วไป ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่โควิด-19

กูรูเชื่อแรงซื้อหนุนราคาทองคำพุ่ง

“ณพวีร์ พุกกะมาน” นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทองคำมีราคาปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 10% จนเกือบแตะจุดสูงสุดเดิมในรอบหนึ่งปี ที่ 2,057 ดอลลาร์ มองว่าเป็นเพราะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ประกาศออกมาในช่วงหลัง เริ่มออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ทำให้ตลาดเริ่มกังวลกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่อาจจะเกิดขึ้น ประกอบกับ NATO ได้รับประเทศฟินแลนด์เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในภูมิภาคยุโรปตอนเหนือ เนื่องจากฟินแลนด์มีพรมแดนติดกับประเทศรัสเซีย ดังนั้น ทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) จึงมีแรงซื้อเข้ามามากขึ้น

พร้อมกันนี้ มีข้อมูลจาก FED Watch Tool รายงานว่า มีโอกาส 50% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอัตรา 0.25% ในการประชุมเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ และหลังจากนี้จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ย หรือ อาจจะเริ่มมีการลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า และส่งผลบวกต่อราคาทองคำในที่สุด

ทำให้กลยุทธ์การลงทุนมองในด้านเทคนิค ราคาทองคำ มีแนวต้านระยะสั้นอยู่ที่ 2,057 ดอลลาร์ ถ้าสามารถผ่านระดับนี้ไปได้จะมีเป้าหมายต่อไปที่ระดับ 2,214 ดอลลาร์ แต่ถ้ามีการปรับตัวลงแนวรับที่ใช้เป็นจุด “ซื้อ” ได้อยู่ที่ 1,960 ดอลลาร์

ล่าสุด “พีระพงศ์ วิริยะนุเคราะห์” นักวิจัยอาวุโส แผนก Ausiris Intelligence บริษัท ออสสิริส จำกัด วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ราคาทองคำในตลาดโลกทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่เปิดปี2566 โดยขึ้นมาอยู่ที่ 2,009 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ในไทยก็ทำราคาสูงสุดทะลุ 32,000 บาท เป็นผลกระทบมาจากการล้มกะทันหันของ Silicon Valley Bank สร้าง domino effect ลุกลามไปยังธนาคารอื่นๆในสหรัฐและยุโรป ทำให้เกิดความตื่นตระหนกว่าจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงหลังจากเฟดตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก 0.25%

สำหรับในเดือน เม.ย.66 ความเคลื่อนไหวของราคาทองคำยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม เริ่มตั้งแต่ในช่วงต้นเดือนวันที่ 7 เม.ย.นี้ กระทรวงแรงงานของสหรัฐจะประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payrolls) ว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดหวังหรือไม่ ซึ่งจะเป็นมาตรวัดหนึ่งที่เฟดจะใช้ในการประเมินทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป

"ระดับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือน ม.ค.และ ก.พ.66 ยังทรงตัวในระดับสูง จึงมีแนวโน้มว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนไปแตะที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไปในส่วนของเดือน มี.ค.ว่าเงินเฟ้อจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด โดยมีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 6% กดดันให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดมีโอกาสชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย นับเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ"

ส่วนประเด็นต่อมาปัญหาสภาพคล่องของธนาคารในสหรัฐฯ แม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดูคลี่คลายบ้างแล้ว แต่ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป คาดว่าจะยังไม่จบเพียงเท่านี้

นั่นทำให้ ในช่วงปลายเดือน วันที่ 27 เม.ย.จะประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ของสหรัฐ ประจำไตรมาสแรกของปี 66 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะขยายตัวจากการบริโภคและการลงทุนในสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งชี้ถึงการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ทั้งเอกชนและรัฐ ภาคผลิต รวมถึงการค้าปลีกที่ขยายตัว ผลที่ตามมาคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้นกดราคาทองคำให้ต่ำลง

เช่นเดียวกับ “พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน เม.ย.66 อยู่ที่ 65.14 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 1.13 จุด หรือ 1.77% จากระดับ 64.01 จุดเมื่อเดือน มี.ค.66 โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์สถาบันการเงินของสหรัฐฯ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะ 3 เดือนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 อยู่ที่ 62.70 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.74 จุด หรือ 1.19% จากระดับ 61.96 จุดในไตรมาสแรก โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย และความต้องการทองคำของธนาคารกลางประเทศต่างๆ

ทำให้ศูนย์วิจัยทองคำ คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน เม.ย.66 จากกลุ่มตัวอย่าง 330 ราย ในจำนวนนี้มี 154 ราย หรือ 47% ซื้อทองคำ ส่วน 120 ราย หรือ 36% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำในเดือนนี้หรือไม่ และน 56 ราย หรือ 17% ไม่ซื้อทองคำ

ดังนั้นการคาดการณ์ราคาทองคำในเดือน เม.ย.66 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,912-2,050 ดอลลาร์/ออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศ ความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 31,050-32,950 บาท/น้ำหนัก 1 บาททองคำ และค่าเงินบาทให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 33.63-35.09 บาท/ดอลลาร์

โดยในเดือน เม.ย.ยังคงแนะนำนักลงทุนเน้นการทำกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัวของราคาทอง ไม่แนะนำให้เข้าซื้อทั้งหมดบริเวณแนวรับใดแนวรับหนึ่ง ควรเหลือเงินทุนเพื่อซื้อเฉลี่ยหากราคาทองหลุดแนวรับ และให้แบ่งขายทำกำไรเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น และยังคงต้องระวังแรงขายทำกำไร เมื่อราคาทองคำปรับตัวเข้าใกล้โซน 2,075 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเมื่อปี 2563

สอดคล้องกับ “ฐิภา นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) กล่าวว่า คาดการณ์เป้าหมายราคาทองคำครึ่งแรกปี 2566 แนวโน้มความเคลื่อนไหวราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในเดือนเม.ย. หลังจากราคาทำจุดสูงสุดใหม่จากเดือนก่อนหน้า โดยมองแนวต้าน 2,057 -2,075 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวรับ 1,990-1,963 ดอลลาร์ต่อออนซ์

นั่นเพราะปัจจัยบวกหลักๆ มาจากนักลงทุนเริ่มประเมินว่า เฟดอาจจะยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้ และอาจจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งตามที่คาดการณ์ไว้ สะท้อนผ่านข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group ที่บ่งชี้ว่านักลงทุน “เพิ่มน้ำหนัก” ต่อคาดการณ์ที่เฟดจะยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่การประชุมในเดือนพ.ค.นี้ โดยให้น้ำหนักมากกว่า 50% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ทั้งในการประชุมเดือนพ.ค. และ มิ.ย.นี้ ซึ่งคาดการณ์ดังกล่าวยิ่งเพิ่มแรงบวกต่อราคาทองคำ

อีกประการหนึ่ง สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ และจีนที่ย่ำแย่ลง หากสถานการณ์ต่างๆเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ก็เป็นที่แน่ชัดว่าปี 2566 ถือเป็นอีกหนึ่งปีทองของราคาทองคำ แต่การปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของราคาก็อาจส่งผลให้ความต้องการเข้าลงทุนทองคำลดลง เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนที่สูงขึ้น และสิ่งที่แน่ชัดอีกประการซึ่งนักลงทุนต้องระวัง นั่นคือยามใดที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น การเทขายทำกำไรย่อมเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว หรือช่วงเวลาเหล่านั้นจะกลายเป็นจังหวะที่ดีต่อการเข้าลงทุน






กำลังโหลดความคิดเห็น