xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจอสังหาฯ Q1/66 ลดต่ำแรง หวั่นปัจจัยลบ ดบ.ขาขึ้น-ต้นทุนยังอยู่ระดับสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



REIC ประเมินดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอสังหาฯ ไตรมาส 1 ปี 66 ลดต่ำลงอย่างมาก เหตุกังวลเรื่องดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนยังอยู่ในระดับสูง มองระยะ 6 เดือนข้างหน้าดัชนีเชื่อมั่นดีขึ้น มั่นใจปัจจัยบวกท่องเที่ยวบูม ต่างชาติกลับเข้ามาลงทุน ลูกค้าจีนปรับพฤติกรรมซื้อคอนโดฯ เพื่ออยู่อาศัย แต่ยังติดห่วงการจ้างงาน ต้นทุนการประกอบการ และ ธปท.ไม่ต่อเกณฑ์ LTV

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ในภาพรวมของไตรมาส 1 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 46.7 ลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 (QoQ) ที่มีค่าดัชนีเท่ากับ 51.5 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวของปีก่อน (YoY) ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 47.1 มีความเชื่อมั่นลดลงเล็กน้อยเช่นกัน และยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นลดลง และมีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ธุรกิจในภาวะปัจจุบัน

ขณะที่ยังมีความคาดหวังในเชิงบวกกับสถานการณ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 67.1 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลงเล็กน้อยในไตรมาสนี้ เมื่อพิจารณาที่มาของการลดลงพบว่า มีความเชื่อมั่นในด้านผลประกอบการ ยอดขาย การลงทุน และการเปิดโครงการใหม่ และ/หรือเฟสใหม่ที่ลดลงระหว่าง -10.8 ถึง -3.5 จุด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.โดยมีการประกาศเมื่อวันที่ 25 ม.ค.66 ที่ขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี และต่อมาในวันที่ 28 มี.ค.66 ขึ้นอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.75

แต่ในด้านความเชื่อมั่นในด้านต้นทุนผลประกอบการที่ปรับเพิ่มขึ้น 3.7 จุด สะท้อนว่า ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปริมณฑลมีความเชื่อมั่นในด้านต้นทุนการประกอบการในการพัฒนาที่อยู่อาศัยมากขึ้น เนื่องจากมีการปรับตัวคงที่ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากภาพรวมต้นทุนยังคงสูงอยู่ ทำให้ระดับความเชื่อมั่นยังต่ำกว่าร้อยละ 50 ต่อเนื่องมามากกว่า 5 ไตรมาส


เมื่อจำแนกความเชื่อมั่นตามกลุ่มผู้ประกอบการพบว่า กลุ่ม Listed Companies ในไตรมาสนี้มีค่าดัชนีเท่ากับ 50.0 ต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนี 55.2 แต่ยังคงเท่ากับค่ากลางที่ระดับ 50.0 แสดงให้เห็นว่ายังคงมีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจในภาวะปัจจุบัน

ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies ในไตรมาส 1 ปี 66 มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 41.9 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.0 และยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่ม Non-listed Companies มีความกังวลต่อปัจจัยลบดังกล่าวมากกว่ากลุ่ม Listed Companies

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ในภาพรวมอีก 6 เดือนข้างหน้ามีค่าเท่ากับ 61.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ระดับ 60.5 และค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหาฯ ในอีก 6 เดือนเพิ่มขึ้นในแต่ละด้าน โดยความเชื่อมั่นได้เพิ่มขึ้นในด้านผลประกอบการ ด้านยอดขาย และด้านการลงทุน ที่เพิ่มขึ้นระหว่าง 2.4 ถึง 4.9 จุด ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่ได้รับผลจาการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากการซื้อเพื่อเก็งกำไร เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยระยะยาว

แต่กลับพบว่า การจ้างงาน ต้นทุนการประกอบการ และการเปิดโครงการใหม่และ/หรือเฟสใหม่ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน -3.2 และ -0.3 จุดตามลำดับ อาจเนื่องมาจากต้นทุนของวัสดุก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น และการที่ธปท.ไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการ LTV อาจทำให้ผู้ประกอบการลังเลที่จะเปิดโครงการใหม่ โดยกลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 67.1 จากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 61.2 แสดงให้เห็นว่ายังคงมีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจอสังหาฯ


ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 52.9 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.3 แสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมั่นความลดลง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในด้านผลประกอบการ ยอดขาย การลงทุน การจ้างงาน ต้นทุนการประกอบการ และการเปิดโครงการใหม่ และ/หรือเฟสใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น