หรือผู้เสียหายจะฝันค้าง? หลัง Zipmex ยังเงียบกริบกรณี “V Ventures” ไม่ใส่เงินงวด 4 ทั้งที่ ก.ล.ต.จี้ส่งคำชี้แจงตั้งแต่ 29 มี.ค.66 ลือ!สะพัด “มหากิจศิริ” เบนเข็มยุติลงทุน เหมือน SCBX กับ “บิทคับ” หันไปปั้นธุรกิจใหม่ สร้างสายการบินของกลุ่มเชื่อคุ้มกว่า งานนี้ต้องวัดฝีมือ ก.ล.ต.เอาผิดได้สาสม หรือยังเกรงใจ
ใกล้จะถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์เต็มที แต่ข่าวคราวของ “Zipmex” กระดานซื้อขายเหรียญดิจิทัลก็ยังไม่มีความกระจ่างชัดถึงสาเหตุที่พันธมิตรใหญ่อย่าง “V Ventures” ได้หยุดการจ่ายเงินสนับสนุนงวดที่ 4 มูลค่า 1.25 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 40 ล้านบาทเข้ามาให้บริษัท เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2566 จนทำให้เกิดข่าวลือว่าบริษัทมีความเสี่ยงที่จะปิดกิจการ
งานนี้ไม่รู้ว่าสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะมีวิธีจัดการปัญหานี้อย่างไร หลังจากได้มีหนังสือแจ้งบริษัทให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เกี่ยวกับผลกระทบต่อบริษัท และลูกค้า รวมทั้งแนวทางการดำเนินการต่อไปภายในวันที่ 29 มี.ค. 2566 แล้ว แต่ดูเหมือนว่าเรื่องเหล่านี้ยังคงเงียบเฉย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเชื่อว่าน่าจะสร้างความหวั่นวิตกต่อพนักงานบางส่วนของ Zipmex ไม่มากก็น้อย เพราะมีรายงานว่าเงินสับสนุนงวดที่ 4 ของ “V Ventures” จะถูกนำมาใช้จ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่พนักงานบางส่วนในเดือนมีนาคม ดังนั้น หากปัจจุบันเม็ดเงินดังกล่าวยังไม่ได้ไหลเข้ามาสู่บัญชีธนาคารของบริษัท น่าจะเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายของ Exchange รายนี้
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่น่ากังวลและน่าเป็นห่วงมากกว่า นั่นคือ นักลงทุนไทยที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ ZipUp เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฏาคม 2565 ซึ่งยังมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับเม็ดเงินความเสียหายดังกล่าวกลับคืน และต้องทนรอให้ทีมผู้บริหาร Zipmex จัดการแก้ไขปัญหามาร่วม 8 เดือน แต่ท้ายที่สุดก็มีแต่ความหวังแบบลมๆแล้งๆ และเม็ดเงินที่สูญเสียไปก็ยังไม่ได้รับคืน ทำให้เริ่มมีเสียงเรียกร้องอยากให้ก.ล.ต.เข้ามาจัดการในเรื่องนี้ให้เรียบร้อยก่อนหยุดเทศกาลสงกรานต์
แต่ปัญหาของก.ล.ต.ในช่วงนี้ ต้องยอมรับว่าไม่ได้ราบรื่นสักเท่าใด เนื่องจากกำลังเป็นช่วงคาบลูกคาบดอกของผู้นั่งบริหารองค์กรอย่างเลขาธิการก.ล.ต.ที่กำลังจะหมดวาระลงในสิ้นเดือนนี้ ควบคู่ไปกับการสรรหาเลขาธิการฯคนใหม่ จนอาจจะทำให้หลายเรื่องต้องล่าช้าออกไป ซึ่งอาจรวมถึงเรื่องความไม่ชัดเจนของZipmex ที่กำลังเกิดขึ้น
“การซื้อขายตอนนี้ยังเปิดให้บริการปกติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาบั่นทอนกระแสความนิยมใน Zipmex ลงไปมาก นอกจากนี้หากดูจากเพจ Zipmex บน facebook แทบไม่มีการขยับตัวใดๆเลยนับตั้งแต่ที่บริษัทออกมายืนยันว่ายังเปิดให้บริการตามปกติ ยิ่งหากไปดูในส่วนการแสดงความคิดเห็น จะพบว่ามีแต่นักลงทุนที่ได้รับความเสีย ออกมาแสดงความไม่พอใจ และเรียกร้องให้บริษัทเร่งจัดการแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว” แหล่งข่าวกล่าว
“V Ventures”ฝันกลางวันของแฟน Zipmex
สำหรับ “V Ventures” เป็นที่รู้กันดีว่าอยู่ภายใต้การบริหารของ "เจ้าสัวกึ้ง" หรือ “เฉลิมชัย มหากิจศิริ” (ทายาท "ประยุทธ มหากิจศิริ" เจ้าพ่อเนสกาแฟ) ซึ่งปัจจุบันนอกจากจะบริหาร V Ventures ปัจจุบันยังนั่งเก้าอี้บริหารกลุ่ม บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) และบริษัทอื่นๆตลอดจนธุรกิจสตาร์ทอัพที่อยู่นอกตลาดหุ้นอีกหลายแห่ง
มีรายงานว่า V Ventures ซึ่งเป็นกลุ่มทุนเดิมของ Zipmex ได้ลงนามข้อตกลงมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์กับบริษัทเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อแลกกับสัดส่วนการถือหุ้น 90% จากการที่ Zipmex ประสบปัญหาในเดือนกรกฎาคม หลังประกาศระงับการถอนเงินของลูกค้าเนื่องจากได้รับความเสียหายจากการเข้าไปลงทุนใน Babel Finance และ Celsius ซึ่งผู้ให้กู้ crypto ที่ประสบปัญหาล้มละลาย และต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
โดยทั้ง Babel Finance และ Celsius ถูกกดดันในการอายัดสินทรัพย์ของลูกค้าในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ทำให้ Zipmex ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายรวมของ Babel และ Celsius ไว้ที่ 53 ล้านดอลลาร์
ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาในกลยุทธ์การฟื้นคืนภาพลักษณ์องค์กรของ Zipmex เมื่อยามที่มีความจำเป็นต้องเรียกความเชื่อมั่นแก่ผู้เสียหายและผู้ใช้บริการ ด้านผู้บริหาร Zipmex จะหยิบยกความคืบหน้าในการเจรจากับกลุ่มทุนให้เข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจด้วยการใส่เงินลงทุนเข้ามาเป็นตัวชูโรง เพื่อช่วยผ่อนคลายความหวั่นวิตกแก่ผู้เสียหาย
ไล่มาตั้งแต่หลังจากการกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบ นอกเหนือจากการดำเนินคดีทางศาลที่สิงคโปร์ โปรเจกต์การหาพันธมิตรใหม่ร่วมลงทุนก็ถูกผุดออกมาสร้างความเชื่อมั่นแบบเป็นโลกคู่ขนานที่ช่วยแสดงให้เห็นว่าไม่แต่เพียงจะพร้อมชดเชยความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดในการดำเนินธุรกิจ แต่ Zipmex นั้นแข็งแกร่ง เพราะมีพันธมิตรหรือกลุ่มทุนสนใจเข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัท สิ่งเหล่านี้เหมือนช่วยการันตีว่า “สบายใจได้”
ไม่นานจากนั้น ก็เริ่มมีกระแสข่าวออกมา กลุ่มที่พร้อมจะใส่เงินลงทุนเข้ามาใน Zipmex คือกลุ่ม “มหากิจศิริ” โดยช่วงแรกแม้จะมีการปฏิเสธ แต่สื่อต่างประเทศหลายแห่งกลับนำเสนอข่าวสารในทิศทางเดียวกัน จนนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลุ่มมหากิจศิริ นั้นเลือกใช้ “V Ventures” เป็นตัวแทนของกลุ่มในการลงทุนครั้งนี้
ทำให้สถานการณ์ของ Zipmex เริ่มเหมือนกับฟ้าหลังฝน เมื่อ บริษัทรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่รุดหน้าไปอย่างน่าพึงพอใจ ทำให้ผู้เสียหายหลายต่อหลายคนพากันฝันว่าจะได้รับเม็ดเงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัลของตนเองกลับคืน
โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เริ่มจาก Marcus Lim CEO ของ Zipmex เปิดเผยว่าข้อตกลงช่วยเหลือทางด้านการเงินของบริษัทนั้นเดินหน้าไปด้วยดี โดยมีการลงนามในข้อตกลงแต่ยังไม่ปิดดีล ซึ่งถือว่าเป็นความคืบหน้าที่ดี แต่รายละเอียดข้อตกลงยังมีอีกมากที่ต้องหาข้อสรุป ทำให้ยังไม่เสร็จสิ้นในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม Zipmex หวังว่า ข้อตกลงการลงทุนจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 21 มี.ค.2566
“V Ventures”ทำอะไรอยู่?
แต่ท้ายที่สุด ดูเหมือนเรื่องดังกล่าวส่อเค้าจะล้มเหลว เมื่อ “V Ventures” นิ่งเฉย ไม่ส่งเงินลงทุนงวดที่ 4 ให้แก่บริษัท จนเริ่มมีคำถามเกิดขึ้นในแวดวงคริปโตเคอร์เรนซีไทยว่า ตกลง “ V Ventures” จะเข้ามาลงทุนใน Zipmex จริงหรือไม่ หรือ “V Ventures” ตัดสินใจที่ยอมถอยจากธุรกิจนี้?
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Zipmex และ “V Ventures” นั้น พบว่าไม่ได้ต่างไปจากดีลการเข้าซื้อกิจการ “บิทคับ ออนไลน์” ของยานแม่กลุ่มไทยพาณิชย์อย่าง “เอสซีบีเอกซ์” ที่ท้ายที่สุดประกาศยุติการเข้าลงทุนในกระดาน “บิทคับ” หลังจากพบว่ามีความเสี่ยงทางธุรกิจที่สูง จนเบนเข็มกลับไปให้บริษัทในกลุ่มตั้งไลน์ธุรกิจนี้ขึ้นมาดำเนินการเอง
และนี่ถือเป็นเหตุผลที่หลายต่อหลายคนเชื่อว่า การที่“V Ventures” หยุดใส่เงินลงทุนงวดล่าสุด นั่นเพราะอาจประเมินว่าได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาไม่คุ้มค่าที่ลงทุน หรือการลงทุนนี้มีความเสี่ยงที่สูงมากไป จึงอยากจบดีลลงเพียงเท่านี้
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีนักลงทุนบางกลุ่มมีความคิดเห็นสวนทางต่อเรื่องดังกล่าว โดยเชื่อว่า การที่“V Ventures” ไม่ส่งเงินลงทุนงวดที่ 4 นั้นมาจากการแผนธุรกิจใหม่ของกลุ่มมหากิจศิริ ซึ่งเริ่มมีข่าวลือมาตั้งแต่ปลายปีก่อน และเริ่มเป็นรูปร่างที่แน่ชัดเมื่อเร็วๆนี้ นั่นคือ “การหันมาดำเนินธุรกิจสายการบิน”
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เพราะเมื่อย้อนกลับไปช่วงต้นเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมา “เฉลิมชัย มหากิจศิริ” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA เคยให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า “บมจ.โทรีเซนไทย” หรือ TTA ยังคงมองหาโอกาสที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง
ในฐานะบริษัทโฮลดิ้งที่มีเงินสดในมือพร้อม ทำให้ TTA แสวงหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ นอกจากนี้ TTA ยังลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากวัฏจักรของธุรกิจน้อยกว่า เช่น ธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ธุรกิจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสายการบิน และธุรกิจโลจิสติกส์
และแล้วเรื่องดังกล่าวก็กลายเป็นความจริง เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ “กลุ่มมหากิจศิริ” ก็ได้เพิ่มพอร์ตธุรกิจให้กับตัวเอง ด้วยการเตรียมเปิดสายการบิน “P80 Air” ที่ประกาศชิมลางในอุตสาหกรรมนี้โดยวางตำแหน่งของ P80 Air ว่า จะเน้นที่การทำสายการบินราคาประหยัด แต่พร้อมจะให้บริการในระดับฟูลเซอร์วิส โดยจะเน้นเส้นทางการบินระหว่างไทย-จีน เป็นหลัก เนื่องจากมองว่า ประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น และไทยเป็นจุดหมายอันดับต้น ๆ ของนักเดินทางจากจีน
โดยช่วง 2-3 ปีแรก P80 Air มีแผนจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 4 ลำ ในรูปแบบการเช่า และในอีก 4 ปีข้างหน้าจะพิจารณาขยายขนาดฝูงบิน ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับเส้นทางการบินที่จะเพิ่มขึ้น และพร้อมจะพิจารณาปรับใช้เครื่องบิน ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด
มีการคาดการณ์ว่า การเปิดบริษัท พี 80 แอร์ จำกัด ของตระกูลมหากิจศิริ น่าจะเป็นการเพิ่มพอร์ตธุรกิจของตระกูลนี้ให้แน่นยิ่งขึ้น จากปัจจุบันมหากิจศิริมีธุรกิจอยู่ในหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด (ร้าน Pizza Hut) บริษัท เคเอฟยู จำกัด (ร้านโดนัท แบรนด์ Krispy Kreme) กลุ่มสาธารณูปโภค ได้แก่ บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด จำหน่ายน้ำประปาในเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว กลุ่มขนส่ง ได้แก่ บริษัท พี 80 เจ็ท จำกัด บริการให้เช่าเครื่องบินเหมาลำ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กลุ่มธุรกิจบันเทิง ได้แก่ บริษัท โฟร์วัน วันเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ค่ายเพลง 411 Music
ส่วนบริษัทในตลาดหุ้น ได้แก่ บมจ. โทริเซนไทย เอเยนต์ซีส์ บริการขนส่งทางเรือ บริการนอกชายฝั่ง บมจ. อีเอ็ม โทริเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำหน่ายเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร และ บมจ. ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ ผลิตฟิล์มประเภทบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์
และจากแผนลงทุนดังกล่าว ทำให้เริ่มมีข่าวลือถึงการยุติการลงทุนใน Zipmex มากขึ้น เพราะหลายคนมองธุรกิจสายการบินถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง นั่นอาจทำให้กลุ่มมหากิจศิริต้องทบทวนธุรกิจต่างๆในมือว่าธุรกิจใดควรเดินหน้าต่อ และธุรกิจใดควรถึงคราวยุติลง เพื่อสะสมเม็ดเงินให้เพียงพอต่อการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งต้องยอมรับว่าการลงทุนใน Zipmex ซึ่งเป็นตลาดคริปโตเคอร์เรนซี ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง แม้ผลตอบแทนที่จะได้รับนั้นจะสูงมากก็ตาม
หนทางของ Zipmex ช่างเลือนลาง
รายงานว่า หลังจากที่ข้อตกลงกับ V Ventures มีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว ทำให้ Zipmex ได้ปรึกษาร่วมกับทางทีมทนายความของตน เพื่อหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยระบุในอีเมลที่ส่งให้กับผู้ถือหุ้นว่า “หาก V Ventures ไม่สามารถโอนเงินทุนหมุนเวียนที่กำหนดไว้ในเดือนมีนาคม 2566 ได้เราอาจไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเริ่มดำเนินการด้านบัญชีสำหรับ Zipmex Technology Company Limited” ขณะนี้ Zipmex กำลังประสบปัญหาเรื่องกระแสเงินสด และบริษัทจะไม่สามารถจ่ายเงินเต็มจำนวนสำหรับเดือนมีนาคม 22566 หลังจากได้ลงนามในข้อตกลงการลงทุนในเดือนธันวาคม 2565 โดย Zipmex ยังคงหวังว่าการโอนเงินงวดรายเดือนนั้น นั่นเพราะ เกิดจากความล่าช้าเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้บริษัทต้องเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ทั้งหมด
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า นอกจากเม็ดเงินที่ไม่ได้รับจาก V Ventures ในครั้งที่ 4 ตามสัญญา จะทำให้บริษัทไม่มีเงินเพียงพอต่อการดำเนินงาน ยังอาจสร้างความวิตกต่อราคาเหรียญดิจิทัลของกลุ่มอย่าง “ZMT” ให้ลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ อาจเกิดการแห่ถอนเงินจากพอร์ตของนักลงทุนที่ใช้บริการอยู่ในปัจจุบัน จนอาจทำให้บริษัทต้องประสบปัญหาอย่างหนัก เห็นได้จากแพลตฟอร์มโซเชียลเริ่มทยอยออกมาวิเคราะห์สถานการณ์ของ Zipmex พร้อมแนะนำนักลงทุนให้ถอนเงินออกมาถือครองไว้กับตัวเองเพื่อความปลอดภัย
ขณะเดียวกันจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า Zipmex จะไม่สามารถชำระเงินคืนแก่ลูกค้าตามที่ประกาศไว้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทได้ นั่นทำให้จะมีนักลงทุนบางส่วนที่ Zipmex ยังคงค้างจ่ายเงินไม่สามารถได้รับเงินคืนได้ และอาจต้องรอคอยไปอีกนาน
สิ่งเหล่านี้ นำไปสู่การเรียกร้องให้ก.ล.ต.เข้ามาดูแล หรือจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ว่าท้ายที่สุดจะมีทางออกที่ยุติธรรมแก่ลูกค้าที่ได้รับความเสียหายจาก Zipmex ในทิศทางใด?
“เหล่านี้อาจต้องดูที่เงื่อนไขสัญญาที่ลงนามร่วมกันของทั้งสองฝ่ายว่าจะมีการระบุถึงการเลื่อนจ่ายเงินลงทุน หรือการเบี้ยวชำระเงินของกลุ่มผู้ลงทุนหรือไม่? ถ้าทุกอย่างเป็นเช่นนั้น Zipmex สามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างกับ V Ventures เพราะหากดำเนินการไม่ได้ อาจทำให้ราคาเหรียญ ZMT ลดลงไปอีก รวมถึงอาจเกิดการแห่ปิดบัญชีหรือยกเลิกการใช้บริการของ Zipmex จนอาจทำให้บริษัทเผชิญปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ที่อาจบานปลายไปถึงขั้นอาจต้องยุติการดำเนินงาน แต่ที่สำคัญคือต้องทยอยหาเงินมาแก้ปัญหาให้กับนักลงทุน”
งานนี้ผู้เสียหายจะอุ่นใจมากน้อยเพียงใด คงไม่เกิดขึ้นจาก Zipmexแล้ว หากแต่เป็นการจัดการปัญหาเหล่านี้ของ ก.ล.ต.ที่ต้องจัดการให้ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น Zipmex และ“V Ventures” จัดรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร หากเกิดปัญหาบทลงโทษที่จะเกิดขึ้นอยู่ในระดับที่พอรับได้หรือไม่ หรือยังเกรงกลุ่มคนเบื้องหลัง Zipmex และท้ายที่สุดผู้เสียหายจะได้รับเงินคืนหรือฝันกลางวันแบบยาวๆ