xs
xsm
sm
md
lg

KTB คาด กนง.นัดหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% รับมือแรงกดดันเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Krungthai COMPASS ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน พ.ค.นี้ สู่ระดับ 2.0% เพื่อรับมือกับแรงกดดันด้านราคาในหมวดพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแรง จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มได้อีก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมด้านต้นทุนพลังงานในระยะข้างหน้า

โดยต้องจับตาราคาพลังงานที่อาจกดดันอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า หลังจากที่การประชุมโอเปกพลัส เมื่อวันที่ 2 เม.ย.66 ได้มีมติลดกำลังการผลิตน้ำมันลงราว 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย และอุปทานน้ำมันในตลาดโลกตึงตัว ซึ่งเป็นการปรับลดเพิ่มเติมจากที่มีการลดกำลังการผลิตอยู่แล้ว ส่งผลให้การผลิตน้ำมันจากกลุ่มโอเปกพลัสจะลดลงทั้งหมดราว 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 3.7% ของอุปสงค์โลก

ทั้งนี้ การปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 7% สู่ระดับ 84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ณ วันที่ 3 เม.ย.66) โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าหากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานอาจกลับมาเร่งสูงขึ้นได้จากราคาน้ำมันขายปลีกกลุ่มเบนซินเป็นสำคัญ แต่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันดีเซลค่อนข้างจำกัด เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐได้ขยายมาตรการลดหย่อนภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร ไปจนถึงวันที่ 20 ก.ค.66


ผู้ประกอบการยังทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าในหมวดพื้นฐานต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดพื้นฐานจะชะลอลงเล็กน้อยจากผลของฐานในปีก่อนที่ปรับสูงขึ้น แต่ระดับราคาสินค้าในหมวดพื้นฐานยังคงทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการแบกรับต้นทุนของผู้ประกอบการในช่วงที่ผ่านมา และมีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการอาจส่งผ่านราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวอาจหนุนให้ปรับขึ้นราคาสินค้าต่อได้ โดยตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานเทียบเดือนก่อนหน้า (MoM) ยังเพิ่มต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 จึงยังคงมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะทรงตัวในระดับสูง

"คาดว่า กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ค. สู่ 2% เพื่อรับมือกับแรงกดดันด้านราคาในหมวดพื้นฐาน (สัดส่วน 67.06%) ที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแรงจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มได้อีก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมด้านต้นทุนพลังงานในระยะข้างหน้า" บทวิเคราะห์ระบุ

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือน มี.ค.66 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ที่ 2.83% และต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 3.3% โดยมีเหตุผลจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือน มี.ค.66 ขยายตัว 1.75% ชะลอตัวลงจากเดือน ก.พ.66 จากผลของราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น