สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ แต่ความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกอาจส่งผลให้ กนง.ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ จากเครื่องชี้เศรษฐกิจใน 2 เดือนแรกของปีนี้สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ยังได้แรงหนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และการเติบโตของอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งน่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ และในระยะถัดไปปัจจัยบวกจากกิจกรรมการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะมีส่วนช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกยังมีแนวโน้มอ่อนแอท่ามกลางการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศแกนหลักที่มีแนวโน้มชะลอตัวและแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี ขณะที่ความกังวลปัญหาในภาคสถาบันการเงินที่ยังมีอยู่ แม้ความเสี่ยงจะเริ่มลดลงในระยะนี้
ทั้งนี้ กนง.กังวลเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 มีนาคม มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.75% โดยประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่คาดว่าการส่งออกสินค้าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในครึ่งหลังของปี โดยปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้เป็นขยายตัว 3.6% จากเดิมคาด 3.7% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช่วงกลางปีนี้ แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น และแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดย กนง. คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้จะอยู่ที่ 2.9% และ 2.4% จากเดิมคาด 3.0% และ 2.5% ตามลำดับ
ดังนั้น วิจัยกรุงศรีประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าอาจลดความเป็นไปได้ที่ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 31 พฤษภาคม โดยมีสาเหตุจาก 1.การส่งออกที่ยังอ่อนแอ คาดจะหดตัวแรงในเดือนมีนาคม และหดตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2 ขณะที่ตัวเลข GDP ในไตรมาส 1/2566 ที่จะเปิดเผยในวันที่ 15 พฤษภาคม (ก่อนการประชุม กนง. ครั้งหน้า) มีแนวโน้มที่ยังจะเติบโตน้อยกว่า 3% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 3.7% 2.ดัชนีราคาผู้ผลิตที่บรรเทาลงเหลือเพียง 1.6% ในเดือนกุมภาพันธ์ กอปรกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ของ ธปท. ภายในเดือนมิถุนายน จาก 3.8% ในเดือนล่าสุด ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.9% ลดลงมากจาก 3.0% ในเดือนมกราคม และมีแนวโน้มทรงตัวต่ำกว่า 2% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ สะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ที่ 2.4% ในปีนี้
และ 3.อัตราดอกเบี้ยของประเทศสำคัญๆ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2551 อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความกังวลความเสี่ยงในภาคธนาคารและความผันผวนในตลาดการเงินที่อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมาสู่ภาคเศรษฐกิจจริง ทั้งนี้ แม้ภาคท่องเที่ยวของไทยอาจมีแนวโน้มดีกว่าคาด แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่ กนง.อาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากความเสี่ยงด้านลบที่ทวีขึ้นจากปัจจัยภายนอก เงินเฟ้อในประเทศที่อ่อนตัวลง รวมถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา
**เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%**
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลก แม้ความเสี่ยงวิกฤตธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรปลดลง แต่ผลพวงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงภาวะตึงตัวในตลาดการเงินอาจนำไปสู่ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม มาตรการเสริมสภาพคล่องจากภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงการควบรวมกิจการนับเป็นการแก้ปัญหาที่รวดเร็วและตรงจุด ซึ่งช่วยป้องกันการแพร่กระจายของวิกฤตความเชื่อมั่นในวงกว้าง (contagion) สะท้อนจากดัชนีราคาสินทรัพย์เสี่ยงและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับแรงขายในทองคำและพันธบัตรที่เพิ่มสูงขึ้น (หลังถูกขับเคลื่อนจากความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตธนาคารในช่วงก่อนหน้า) โดยล่าสุด ทางด้านรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ นางเจเน็ต เยลเลน ยืนยันว่าระบบธนาคารยังคงมีเสถียรภาพและพร้อมที่จะดำเนินมาตรการมากขึ้นหากวิกฤตลุกลาม เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรปที่ประกาศว่าพร้อมเสริมสภาพคล่องให้ระบบการเงินในยุโรปหากจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินในยูโรโซน
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจจริงทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปยังคงอยู่ในทิศทางชะลอตัวหรือแทบไม่เติบโตในปีนี้จากผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงนโยบายการกำกับดูแลภาคธนาคารและการให้สินเชื่อที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งในส่วนของการบริโภค การลงทุน และการจ้างงาน ให้มีแนวโน้มชะลอตัวลง วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม ก่อนที่คาดว่าจะคงดอกเบี้ยตลอดช่วงที่เหลือของปี 2566 หากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงตามคาดการณ์และปัญหาภาคธนาคารในสหรัฐฯ ไม่ลุกลาม ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) แนวทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยมีแนวโน้มเข้มงวดมากกว่าเฟดเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคมยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 6.9% YoY และเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.7% YoY โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของ ECB มีโอกาสปรับขึ้นสู่ระดับ 4.00% ภายในปี 2566