xs
xsm
sm
md
lg

ดีลร่วมทุน Zipmex ส่อล่ม พันธมิตรกลัว? เบี้ยวถมเงินช่วย เม่ารับกรรม-แนะปิดพอร์ตเอาตัวรอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อ Zipmex ส่งสัญญาณถอนตัว กดดันพนักงานเดือดร้อนต้องแยกทาง หลังพันธมิตรไม่ทุ่มเงินล็อตใหม่ช่วยตามแผน จนส่อเค้าล่ม กดดันโลกออนไลน์แนะปิดพอร์ตรักษาตัวรอด ด้านภาพรวมเชื่อเรื่องจบยาก เพราะต้องมีคนรับผิดชอบ แผนหลอกลวงศรัทธาชาวบ้าน หลังหลอกให้ดีใจแผนฟื้นฟูฉลุยมาร่วมปี

เช้าวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2566 แพลตฟอร์มกระดานซื้อขายเหรียญดิจิทัลนาม “ Zipmex” น่าจะร้อนๆหนาวๆ มิใช่น้อยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา เมื่อมีรายงานข่าวจากต่างประเทศออกมาว่า ข้อมูลจากแหล่งข่าวภายใน ได้ระบุถึง สถานภาพความร่อแร่ของ Zipmex ที่อยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลหลังจากที่ V Ventures พันธมิตรผู้ร่วมทุนรายใหญ่คนใหม่ ภายใต้การบริหารของ "เจ้าสัวกึ้ง" (เฉลิมชัย มหากิจศิริ ทายาท "ประยุทธ มหากิจศิริ" เจ้าพ่อเนสกาแฟ) ได้หยุดการจ่ายเงินเข้าสนับสนุนงวดที่ 4 มูลค่า 1.25 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 40 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) เพื่อประคองธุรกิจไม่ให้ต้องปิดกิจการ

โดยล่าสุดทาง Zipmex ได้มีการจ่ายเงินให้กับทางพนักงานบางส่วนเพื่อรับทราบถึงการเลิกจ้างตามกฏหมายแรงงาน โดยจะค่อยๆทยอยปรับลดพนักงานบางส่วนลง ก่อนที่จะปิดกิจการในที่สุด

"ขณะนี้ Zipmex กำลังประสบปัญหาเรื่องกระแสเงินสด และเราจะไม่สามารถจ่ายเงินเต็มจำนวนสำหรับเดือนมีนาคม 2023 นี้ ซึ่งอย่างที่ทุกคนทราบกันเป็นอย่างดีเนื่องจากเราได้ลงนามในข้อตกลงการลงทุนในเดือนธันวาคม 2565 กลุ่มทุนที่เข้ามาช่วยเหลือ จะต้องจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนธุรกิจในงวดรายเดือน แต่ล่าสุด ณ วันนี้ เรายังไม่ได้รับเงินตามกำหนดเวลาของงวดนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามหลายครั้งก็ตาม แต่กลุ่มทุนดังกล่าวก็เพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทอาจต้องปิดกิจการลง” เอกลาภ ยิ้มวิไล กล่าวถึงปัญหาและแจ้งให้พนักงานรับทราบในอีเมลที่ส่งให้กับพนักงาน Zipmex Technology

ทั้งนี้ V Ventures ภายใต้การบริหารของ “เจ้าสัวกึ้ง” มีกำหนดที่จะต้องจ่ายเงินงวดที่ 4 ภายในวันที่ 23 มีนาคม แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาดังกล่าว ปรากฏว่ายังไม่มีเงินเติมเข้ามาใน Zipmex แม้ว่าทาง Zipmex จะยังคงคาดหวังว่าเกิดอุปสรรคจากความล่าช้า แต่ปรากฎกว่าไม่มีการตอบรับใดๆจาก V Ventures

"เรายังคงหวังว่าการโอนเงินงวดรายเดือนโดย V Ventures จะล่าช้าเพียงเล็กน้อย แต่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญนี้ เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ทั้งหมดที่อาจเลวร้าย ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น" ข้อความจาก เอกลาภ ที่ระบุในอีเมล์

สำหรับ Zipmex Technology เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยของกระดานเทรด Zipmex และรับผิดชอบในการว่าจ้างพนักงานประจำมากกว่าครึ่งหนึ่ง

"การที่ V Ventures ไม่จ่ายเงินมาให้ อาจทำให้พนักงานมากกว่า 100 คนจะไม่ได้รับเงินเดือนในเดือนมีนาคม ขณะที่ด้าน Zipmex ที่มีพนักงานและที่ปรึกษาทั้งหมดประมาณ 230 คน ส่วนที่เหลือเป็นส่วนหนึ่งของแผนกต่างๆ ของกลุ่มและจะไม่ได้รับผลกระทบจากการชำระเงินที่ไม่ได้รับในตอนนี้ เพราะหน่วยงานอื่น ๆ ในกลุ่ม Zipmex มีเงินสดเพียงพอสำหรับการจ่ายเงินเดือนสำหรับพนักงาน แต่ในอนาคตอาจจะไม่แน่ " แหล่งข่าวกล่าว

ไม่เพียงเท่านี้ Zipmex ยังแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เกี่ยวกับการไม่ตอบกลับของ V Ventures ตามอีเมล์แยกต่างหากที่ส่งถึงผู้ถือหุ้นว่า “ในขั้นตอนนี้ เรายังไม่ได้รับข้อบ่งชี้ขั้นสุดท้ายจากการตัดสินใจของ V Ventures ว่าพวกเขาจะชำระเงินงวดที่ 4 เมื่อใด และจะชำระเงินหรือไม่ และพวกเขาจะทำธุรกรรมดังกล่าวให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยหรือไม่” อีเมลที่ส่งถึงผู้ถือหุ้นระบุ

ขณะที่ “เจ้าสัวกึ้ง” นอกจากจะบริหาร V Ventures ปัจจุบันยังนั่งเก้าอี้บริหารกลุ่ม บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทอื่นๆตลอดจนธุรกิจสตาร์ทอัพที่อยู่นอกตลาดหุ้นอีกหลายแห่ง

โดย V Ventures เป็นกลุ่มทุนเดิมของ Zipmex ได้ลงนามข้อตกลงมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์กับบริษัทเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อแลกกับสัดส่วนการถือหุ้น 90% จากการที่ Zipmex ประสบปัญหาในเดือนกรกฎาคม เมื่อระงับการถอนเงินของลูกค้าเนื่องจากการเข้าไปลงทุนใน Babel Finance และ Celsius ซึ่งผู้ให้กู้ crypto ทั้งสองรายประสบปัญหาล้มละลาย และต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยทั้ง Babel Finance และ Celsius ถูกกดดันในการอายัดสินทรัพย์ของลูกค้าในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ทำให้ Zipmex ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายรวมของ Babel และ Celsius ไว้ที่ 53 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้อตกลงกับ V Ventures มีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว ทำให้ Zipmex จึงได้ปรึกษาร่วมกับทางทีมทนายความของตน เพื่อหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยระบุในอีเมลที่ส่งให้กับผู้ถือหุ้นว่า “หาก V Ventures ไม่สามารถโอนเงินทุนหมุนเวียนที่กำหนดไว้ในเดือนมีนาคม 2566 ได้เราอาจไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเริ่มดำเนินการด้านบัญชีสำหรับ Zipmex Technology Company Limited”

ทั้งนี้ หลังจากกระแสข่าวลือนี้ออกไป ราคาเหรียญ ZMT เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2566 ร่วงกราวรูดลงมากว่า 56.9% มาอยู่ที่ ฿1.51 /เหรียญ ก่อนรีบาวนด์ขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ ฿1.56/เหรียญ นั่นหมายความว่า Zipmex มีมูลค่าตามราคาตลาดโดยรวม ฿0.00 ปริมาณการเทรดลดลง ฿895,925.23 บาท ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ซึ่งลดลง 35.60% นอกจากนี้การเทรด ZMT คิดเป็นมูลค่า ฿2,516,422.48 บาท ในวันที่ผ่านมา (ข้อมูลจาก coinbase.com)

ด้าน แผนการฟื้นฟูกิจการของ Zipmex เปิดเผยว่ามีแนวโน้มต้องสะดุดลงอีกครั้ง เมื่อนักลงทุนที่กลุ่ม Zipmex อาศัยเป็นข่าวดีมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา โดยกล่าวอ้างว่าเป็นการเข้ามาเพื่อช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และผู้เสียหายจากเหตุการณ์ใหญ่เมื่อช่วงกรกฎาคมปีก่อน ต่อภาพลักษณ์ และการดำเนินธุรกิจของบริษัท ส่งสัญญาณชะลอหรือยุติการเข้าลงทุนใน Zipmex นั่นเท่ากับ มีความเป็นไปได้สูงที่ Zipmex กำลังจะเผชิญปัญหาด้านการเงินขนาดใหญ่อีกครั้ง

เพราะคาดว่านอกจากเม็ดเงินที่ไม่ได้รับจาก V Ventures ในครั้งที่ 4 ตามสัญญา จะทำให้บริษัทไม่มีเงินเพียงพอต่อการดำเนินงาน จนอาจต้องปลดพนักงานออกแล้ว ยังอาจสร้างความวิตกต่อราคาเหรียญดิจิทัลของกลุ่มอย่าง “ZMT” ให้ลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ อาจเกิดการแห่ถอนเงินจากพอร์ตของนักลงทุนที่ใช้บริการอยู่ในปัจจุบัน จนอาจทำให้บริษัทต้องประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก เห็นได้จากแพลตฟอร์มโซเชียลเริ่มทยอยออกมาวิเคราะห์สถานการณ์ของ Zipmex พร้อมแนะนำนักลงทุนให้ถอนเงินออกมาถือครองไว้กับตัวเองเพื่อความปลอดภัย

ขณะเดียวกันจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า Zipmex จะไม่สามารถชำระเงินคืนแก่ลูกค้าตามที่ประกาศไว้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทได้ นั่นทำให้จะมีนักลงทุนบางส่วนที่ Zipmex ยังคงค้างจ่ายเงินไม่สามารถได้รับเงินคืนได้ หลังจาก V Ventures ไม่ส่งมอบเม็ดเงินมาตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

เรื่องดังกล่าว เริ่มทำให้หลายฝ่ายอยากให้ ผู้ควบคุมอย่าง สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้ามาติดตามในเรื่องนี้ ว่าท้ายที่สุดจะมีทางออกที่ยุติธรรมแก่ลูกค้าที่ได้รับความเสียหายจาก Zipmex ในทิศทางใด เนื่องจากที่ผ่านมา Zipmex ยืนยันชัดเจนว่าการได้ผู้ลงทุนรายใหญ่เข้าร่วมลงทุน ทางบริษัทมีเป้าหมายจะนำเงินที่ร่วมลงทุนมาชดใช้คืนแก่ลูกค้า แต่เมื่อมีการผิดนัดส่งเงินเข้าในระบบนั่นย่อมทำให้การชำระคืนแก่ลูกค้าบางส่วนที่เหลืออยู่ไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นแล้วใครจะเป็นผู่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระหว่าง Zipmex หรือ ผู้ร่วมลงทุน

“สิ่งเหล่านี้อาจต้องดูที่เงื่อนไขสัญญาที่ลงนามร่วมกันของทั้งสองฝ่ายว่าจะมีการระบุถึงการเลื่อนจ่ายเงินลงทุน หรือการเบี้ยวชำระเงินของกลุ่มผู้ลงทุนหรือไม่? ถ้าทุกอย่างเป็นเช่นนั้น Zipmex สามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างกับ V Ventures เพราะหากดำเนินการไม่ได้ อาจทำให้ราคาเหรียญ ZMT ลดลงไปอีก รวมถึงอาจเกิดการแห่ปิดบัญชีหรือยกเลิกการใช้บริการของ Zipmex จนอาจทำให้บริษัทเผชิญปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ที่อาจบานปลายไปถึงขั้นอาจต้องยุติการดำเนินงาน”

ก่อนหน้านี้ Zipmex มีการเจรจาดีลกับ V Venture เพื่อขายกิจการเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 3.4 พันล้านบาท เพื่อแลกกับสัดส่วนการถือหุ้น 90% กับบริษัทเมื่อปลายปีที่แล้วหลังจากประสบปัญหาทางการเงิน ตั้งแต่การตกลงของมูลค่าการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลและการล่มสลายของ เหรียญ LUNA จนต้องยื่นล้มละลายที่สิงคโปร์และส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อ-ขายสกุลเงินดิจิทัลในประเทศไทยโดยตรง

แม้ว่าทางออกของ Zipmex จะต้องเป็นการยกเลิกกิจการ แต่ก็ต้องทะยอยหาเงินมาแก้ปัญหาให้กับนักลงทุน ซึ่งขณะนี้ นายมาร์คัส ลิม ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของทางซิปเม็กซ์ เอเชีย ยังไม่ให้ข่าวใดๆ ออกมา ส่วนประเทศไทย ได้มีการแจ้งผ่านเพจ Zipmex Thailand ว่ายังเปิดให้บริการตามปกติ หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ล่าสุด มีรายงานว่า นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ และนักวิจัยด้านธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงประเด็นธรรมาภิบาล ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยัง ก.ล.ต. เพื่อแสดงถึงความเป็นห่วงในการสรรหาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์คนใหม่

โดยระบุว่า เนื่องจากการรับสมัครเลขาธิการ ก.ล.ต. รอบนี้ เกิดขึ้นในบรรยากาศที่ทุกฝ่ายมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า รัฐบาลกำลังถูกจับตาดูว่าจะเร่งรัดอนุมัติเรื่องต่างๆ ในลักษณะ'ทิ้งทวน'ก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ ส่งผลให้หลายคน เป็นห่วงว่าคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจรู้สึกว่าต้องรีบเสนอชื่อบุคคลให้กับกระทรวงการคลัง จนไม่มีเวลากลั่นกรองผู้สมัครเท่าที่ควร

ขณะเดียวกันเมื่อหมุนเวลากลับมาปัจจุบัน ตั้งแต่วันแรกๆ ที่กระบวนการเปิดรับสมัครเลขาธิการ ก.ล.ต. เริ่มต้น ผู้เขียนก็ได้รับฟังเสียงบ่นและความกังวลจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในแวดวงตลาดทุน ไม่นับจดหมายสนเท่ห์ ฟอร์เวิร์ดเมลอีกมากมายที่ส่งกันตามไลน์และอีเมล ถึงแม้เนื้อหาบางส่วนอาจไม่มีใครกล้าท้าพิสูจน์ แต่ทั้งหมดก็สะท้อนให้เห็นว่า สี่ปีที่ผ่านมานั้น ภาพลักษณ์ของ ก.ล.ต. ตกต่ำลงอย่างมาก ไม่เฉพาะในสายตา "คนนอก" เท่านั้น แต่รวมถึงในสายตา "คนใน" ด้วย

ดังนั้น การคัดเลือกเลขาธิการ ก.ล.ต. รอบนี้ จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ ก.ล.ต. กำลังเผชิญกับภาวะความน่าเชื่อถือถดถอยครั้งใหญ่ในสายตาของคนนอก และความคับข้องใจอย่างแพร่หลายของคนในองค์กร

ที่ผ่านมาความน่าเชื่อถือของ ก.ล.ต. ในสายตา "คนนอก" ถดถอยจากหลายกรณีที่เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางในตลาดทุน แต่การจัดการของ ก.ล.ต. กลับทำให้ผู้มีส่วนได้เสียเกิดข้อกังขาในวงกว้าง เชื่นกรณี กรณี Zipmexที่ทำให้นักลงทุนไทยเสียหายกว่า 660 ล้านบาท จากเหตุการณ์เดือน กรกฎาคม 2565 เมื่อบริษัท Zipmex Thailand ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาท และเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีกะทันหัน โดยให้เหตุผลว่า สาเหตุของปัญหาเกิดจากบริการ ZipUp ซึ่งเป็นบริการที่ให้ลูกค้านำสินทรัพย์ดิจิทัลไป "ฝาก" (stake) แลกกับผลตอบแทน โดย"สินทรัพย์ที่ฝากไว้กับ ZipUp จะถูกโอนไปยัง Zipmex Global ที่สิงคโปร์ ซึ่งจะนำไปลงทุนด้านต่างๆ อีกทอดหนึ่ง ได้แก่ Babel Finance ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง และ Celsius ที่เพิ่งประกาศล้มละลายไป ทำให้ลูกค้าของ ZipUp ในไทยโดนผลกระทบไปด้วย

ทำให้พฤติกรรมของ Zipmex ในเรื่องนี้ น่ากังขาอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่แจ้งลูกค้าทันทีที่รู้ว่าบริษัทแม่ Zipmex สิงคโปร์เกิดปัญหา โดยนักลงทุนไทยจำนวนมากเพิ่งมารู้เรื่องนี้ เมื่อสื่อเริ่มนำเสนอข่าวในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ทั้งที่บริษัทแม่ในสิงคโปร์ได้ยื่นศาลสิงคโปร์ ขอพักชำระหนี้ชั่วคราว (moratorium relief) ไปตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2565

ขณะที่กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล (มาตรา 31) ระบุชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้เอาเหรียญที่ลูกค้าฝากไว้ไปให้ผู้อื่นกู้ยืมหรือหาประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น และ Zipmex Thailand ก็ไม่เคยขออนุญาต ก.ล.ต. ให้สามารถเปิดบริการ ZipUp (ที่สิงคโปร์) แก่ลูกค้าแต่อย่างใด แต่มีการชักชวนให้ลูกค้านำสินทรัพย์ดิจิทัลไปฝากไว้ใน ZipUp เป็นระยะๆ

อย่างไรก็ดี หลังจากกรณีนี้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่อนักลงทุนไทย ก.ล.ต. สั่งลงโทษปรับ Zipmex จนถึงปัจจุบัน หลายข้อหารวมกันเพียง 2.6 ล้านบาทเท่านั้น ในข้อหาทำผิดกฎระเบียบในกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล อาทิ ระงับการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต ไม่นำส่งข้อมูลกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) ที่ใช้เก็บทรัพย์สินของลูกค้าภายในเวลาที่กำหนด ไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนใน ZipUp เป็นต้น แต่กลับยังไม่มีรายงานข่าวว่า ก.ล.ต. ได้ตั้งเรื่องสอบสวนหรือดำเนินคดีกับ Zipmex ในประเด็นนี้แต่อย่างใด

นั่นย่อมช่วยสะท้อนว่า กรณีของ Zipmex ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ท้ายสุดเรื่องทุกอย่างแม้ว่าจะสูญเสียผู้ร่วมลงทุนใหม่ แต่บริษัทก็มีโอกาสลอยตัวอยู่เหนือปัญหา พร้อมโบ๊ยไปที่ผู้ลงทุนใหม่ที่ผิดสัญญาจนนำความเสียหายมาสู่ผู้ลงทุน ไม่ใช่ความผิดของบริษัท ทั้งที่ความจริงการนำสินทรัพย์ของลูกค้าไปฝากหรือปล่อยกู้นอกประเทศนั้นมีความผิดอย่างมาก แต่ไม่เห็น Regulator ออกมาป้องในเรื่องดังกล่าว

ดังนั้น การยุติร่วมลงทุนของพันธมิตร Zipmex รอบนี้ ผู้ให้บริการก็ไม่น่ามีส่วนผิด เพราะทำตามแผนฟื้นฟูธุรกิจแล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามขั้นตอน ขณะที่ผู้ร่วมทุนก็ไม่น่าจะผิด แม้เมื่อตกลงร่วมทุนไปแล้ว แต่ท้ายที่สุดเมื่อพิจารณาธุรกิจแล้วไม่น่ารอด ใครจะไปโง่จ่ายเงินให้ไปลงทุนเพื่อขาดทุนฟรีๆ จึงเหลือเพียงจะผิดก็แต่ลูกค้าหรือผู้บริโภคนั่นเองที่พลาดไปหลงไปเชื่อใจ ไปหวังอะไรไว้สูง หวังกินเปล่ามากไปกับแพลตฟอร์มแห่งนี้ ดังนั้นพอทุกอย่างไม่เป็นดังฝันก็ออกอาการโวยวาย ที่เหลือก็รอแค่เสียงเรียกร้องของผู้ผิดหวังประปราย


กำลังโหลดความคิดเห็น