“เน็คซ์ แคปปิตอล" เปิดกลยุทธ์ปี 2566 เน้น 2 ด้านหลัก คือ การต่อยอด และการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เดินหน้าต่อยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไปผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ล่าสุด บุกตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสินเชื่อจำนำทะเบียนเล่มรถจักรยานยนต์และรถบรรทุก เตรียมเปิดตัว Q2 ปีนี้ และธุรกิจประกันภัยเพื่อดูแลลูกค้าอย่างครบวงจร หนุนพอร์ตสินเชื่อรวมเติบโตอย่างน้อย 10-15%
นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP หนึ่งในผู้นำธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เปิดเผยถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2566 ว่า เน้นการต่อยอดและการเติบโตอย่างมีคุณภาพ และคาดพอร์ตสินเชื่อรวมเติบโต 10-15% สู่ระดับ 8,200-8,500 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2565 มีมูลค่าพอร์ตรวมอยู่ที่ 7,438 ล้านบาท จากการขยายธุรกิจ และจำนวนสัญญาเช่าซื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดย NCAP วางแผนต่อยอดความสามารถในด้านสินเชื่อไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากปัจจุบัน พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เป็นพอร์ตหลักของเรา จึงได้ขยายไปตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ประมาณ 50,000 ล้านบาท นับเป็นการต่อยอดจากธุรกิจหลัก และต่อยอดจากฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ สนับสนุนให้ลูกค้ามีรถบรรทุกในการสร้างงานสร้างรายได้ ด้วยการนำเสนอบริการทางการเงินที่มีประโยชน์เพิ่มเติมด้วยความเสี่ยงที่ต่ำกว่ามาก อีกทั้ง การที่เรามีเครือข่ายทั่วประเทศอยู่แล้ว พร้อมกับทีมผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงเข้ามาเสริมทัพ จึงไม่ใช่เรื่องยากในการขยายผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ครบวงจรยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทได้เริ่มให้บริการดังกล่าวในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2565 ที่ผ่านมา
นอกจากตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองเป็นตลาดที่ใหญ่แล้ว ทาง NCAP มองว่า 1.ตลาดยังมี Pain Point ที่ NCAP จะสามารถตอบโจทย์ได้ดีกว่า 2.มี Return on assets (ROA) ที่ดีประมาณ 4-6% ขึ้นอยู่กับไซส์ของพอร์ต จึงมองว่าเป็นโอกาสของ NCAP ในการเข้าไปปักธงบุกตลาดนี้ ปัจจุบัน พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองอยู่ที่ประมาณ 10% ของสัญญาเช่าซื้อใหม่ทั้งหมด คาดสิ้นปีนี้มีพอร์ตแตะเกิน 1,000 ล้านบาท ตั้งเป้าภายใน 3-5 ปีจะเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดนี้ได้
นอกจากนี้ NCAP ยังเห็นโอกาสในการต่อยอดการให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนเล่มสำหรับรถจักรยานยนต์และรถบรรทุก ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าสินเชื่อเช่าซื้อ เพราะภายหลังจากลูกค้าชำระสินเชื่อครบถ้วนแล้วอาจมีความต้องการเงินทุนเพิ่มเติม NCAP จะเข้าช่วยเหลือด้วยการเสนอสินเชื่อเพิ่มเติมจากฐานข้อมูลที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะลดความเสี่ยงทางธุรกิจได้ดี รวมทั้งการขยายไปตลาดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น คาดว่าจะสามารถเปิดเกมบุกตลาดนี้ได้ในไตรมาส 2/2566 คาดไซส์พอร์ตจำนำทะเบียนในสิ้นปี 300-400 ล้านบาท และจะต่อยอดไปธุรกิจติดตามหนี้ภายในปีนี้ด้วยเช่นกัน
รวมทั้งธุรกิจประกันภัย เพื่อดูแลลูกค้าของ NCAP และลดความเสี่ยง จึงเสนอประกันภัยให้ลูกค้าหลายรูปแบบ เช่น ประกันรถสูญหาย ประกันภัยชั้น 1/2/3 ประกันคุ้มครองสินเชื่อ โดย NCAP จะหาผลิตภัณฑ์ที่ดีและเหมาะสมมานำเสนอให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่องตลอดในปี 2566
สำหรับแนวโน้มไตรมาส 1/2566 มีสัญญาณดีต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา จากการเดินหน้าใช้กลยุทธ์ Digital transformation ของบริษัท ช่วยลดต้นทุน และคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งตอนนี้เป็นไปในทิศทางที่ดี สินเชื่อใหม่มีคุณภาพดีขึ้น ในขณะที่พอร์ตสินเชื่อเดิมยอดผิดนัดชำระ (Overdue) และ NPL ลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปลายปีที่ผ่านมา โดยสามารถควบคุมคุณภาพพอร์ตสินเชื่อใหม่ให้อยู่ในระดับที่ดีที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท สะท้อนการปรับกลยุทธ์การติดตามหนี้ที่เป็นไปตามแผน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ลดลงมาเหลือ 23% ในปีนี้
“ปี 2566 จะเป็นปีที่น่าตื่นเต้นสำหรับ NCAP และยังมีความท้าทายอีกมากรอเราอยู่ แต่บริษัทฯ พร้อมด้วยรากฐานที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม เราหวังว่าจะสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า ผู้ถือหุ้น และสังคมของเรา ขอบคุณอย่างมากที่เชื่อมั่นในบริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล” นายปุณณมาศ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2565 ที่ผ่านมา NCAP มีรายได้รวม 1,921.85 ล้านบาท จากปีก่อนหน้ามีรายได้ 1,381.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 539.96 ล้านบาท คิดเป็น 39.07% โดยมาจากการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยจากสัญญาเช่าซื้อจำนวน 1,510.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 482.51 ล้านบาท หรือ 46.92% เนื่องจากจำนวนสัญญาเช่าซื้อใหม่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน และมีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ 164.89 ล้านบาท ลดลง 46.97% จากปีก่อนหน้า มีพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2565 มีมูลค่าพอร์ตรวมอยู่ที่ 7,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1,946 ล้านบาท หรือ 35.4%