xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยเม็ดเงินยังไหลออก หวังเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกฤตแบงก์สหรัฐฯ – ยุโรป ยังกดดันตลาดหุ้น แม้สถานการณ์เริ่มส่งสัญญาณคลี่คลาย คาดแรงขายตลาดหุ้นไทยยังมีอยู่ หลายฝ่ายเริ่มคาดหวังเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย ดึงเม็ดเงินกลับเข้าตลาดหุ้น ด้าน ตลท.ชี้เป็นจังหวะเข้าเก็บของดีราคาถูก พร้อมติดตามผลประชุมเฟด ด้านราคาทองคำพุ่งไม่หยุด หวังเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย ยิ่งหนุนราคาทองคำขยับตาม

จากการล้มลงแบบโดมิโนเอฟเฟกต์ของธนาคารในสหรัฐฯและยุโรป เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สร้างผลกระทบให้สินทรัพย์การลงทุนประเภทต่างๆ เคลื่อนไหวสวนทางซึ่งกันและกัน ตามสถานะความปลอดภัยของสินทรัพย์เหล่านี้ โดยตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบลดลงจากวิกฤตดังกล่าวมากที่สุด ขณะที่ทองคำ และเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีปรับตัวสวนทางบวกเพิ่มจนเกิดแรงคาดหวังการสร้างสถิติใหม่ของราคาที่ปรับตัวเพิ่มต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ทิศทางเงินบาทในช่วงระยะสั้นจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่จะผันผวนสูง ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการประชุมธนาคารสหรัฐ (เฟด) ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ รวมไปถึงเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) หลังจากเริ่มมีสัญญาณชะลอการขายลงบ้าง โดยเฉพาะในฝั่งตราสารหนี้ ที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิ ขณะที่แรงขายหุ้นไทยยังคงมีอยู่ แต่ตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาเสถียรภาพของธนาคารสหรัฐฯและยุโรปบ้างแล้ว

“ในการประชุมเฟดที่จะถึงนี้ เราคาดว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.25% สู่ระดับ 5.00% ทั้งนี้ ตลาดจะรอลุ้นว่าคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย หรือ Fed Dot Plot ใหม่จะสะท้อนแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอย่างไร เพราะหากชี้ว่าเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยจนถึงระดับ 5.50% หรือ สูงกว่านั้น ก็อาจช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง ส่วนยุโรปต้องรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงฝั่งเอเชียตลาดจะรอประเมินโอกาสการปรับนโยบายการเงินในอนาคตของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)ก่อน”

สำหรับตลาดหุ้นไทย นอกจากปัจจัยที่กดดันจากต่างประเทศ หลายฝ่ายเชื่อว่าการประกาศยุบสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมนี้ จะช่วยลดความไม่แน่นอน และอาจช่วยหนุนให้ผู้เล่นต่างชาติเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่เชื่อว่านักลงทุนจะยังไม่รีบเพิ่มการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมเฟดเสียก่อน

เริ่มคาดหวังชะลอขึ้นดอกเบี้ย

ส่วนสถานการณ์วิกฤตธนาคารล้มในต่างประเทศ แหล่งข่าวประเมินว่า ตอนนี้ทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐ (FDIC) รวมถึง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่องให้แล้ว คาดว่า น่าจบลงได้ ขณะที่กรณีธนาคารเครดิตสวิส ล่าสุดทางธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์ ก็ประกาศพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากไม่สามารถที่จะยอมให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่แห่งนี้ล้มลงได้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีหลังจากทุกฝ่ายพยายามจะควบคุมสถานการณ์ให้อยู่

แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายต่อหลายคนยังกังวล ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้บรรดาธนาคารกลางต่าง ๆ น่าจะลดความรุนแรงของการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร

ด้าน นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค.นี้ โดยพิจารณาถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังจากการประชุมดังกล่าว ซึ่งรวมถึงแรงกดดันที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารของสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากการล้มละลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจสตาร์ตอัพในกลุ่มเทคโนโลยี

ขณะเดียวกัน โกลด์แมน แซคส์ ยังคงคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน พ.ค., เดือน มิ.ย. และเดือน ก.ค. พร้อมกับคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) ของเฟดจะอยู่ที่ 5.25-5.5%โดยล่าสุด กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้ที่ธนาคาร SVB และธนาคารซิกเนเจอร์ (Signature Bank) ในรัฐนิวยอร์ก ซึ่งถูกสั่งปิดไปแล้วนั้น สามารถเข้าถึงเงินฝากของตนได้เต็มจำนวน โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่13 มี.ค.นี้

ตลท.มั่นใจวิกฤตแบงก์ US-UK กระทบน้อย

“ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) แสดงความกล่าวถึงกรณีธนาคารเครดิต สวิส (CREDIT SUISSE) ประสบปัญหาวิกฤติสภาพคล่องและเงินทุนว่า เรื่องกังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และธนาคารพาณิชย์ในไทย รวมถึงตลาดหุ้นไทยมากนัก เพราะธนาคารเครดิตสวิสมีธุรกิจหรือธุรกรรมที่เชื่อมโยงกับไทยโดยตรงน้อยมาก ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย ต้องเกี่ยวข้องต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจในไทย

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินในยุโรป แต่พื้นฐานธนาคารพาณิชย์ของไทยยังแข็งแกร่ง ทำให้มองว่าปัญหานี้ จะไม่เข้ามาเพิ่มความวิตกกังวลต่อตลาดหุ้นไทย จึงอยากให้นักลงทุนติดตามข้อมูลข่าวสารและผลกระทบใกล้ชิด แต่ในช่วงนี้ภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งไทยมีความเปราะบาง และมีความผันผวน ดังนั้น การให้ข้อมูลข่าวสารกับนักลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลในการตัดสินใจที่ครบถ้วนมากที่สุด ส่วนมาตรการรองรับความผันผวนของตลาด กรณีที่ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้น-ลงแรงนั้น เรามีมาตรการที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว แต่สถานการณ์ขณะนี้ ยังไม่ถึงจุดที่จะต้องนำมาใช้”ภากร กล่าว

สำหรับกรณีที่ธนาคารเครดิต สวิส ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนไทยหลายบริษัทว่า เป็นการถือหุ้นในฐานะผู้รับฝากหลักทรัพย์ หรือคัสโตเดียม ซึ่งเป็นธุรกิจหนึ่งของธนาคาร ไม่ได้ถือหุ้นโดยตรง โดยขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ยังได้ทำงานร่วมกับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศเพื่ออัปเดตข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารเครดิต สวิส ได้ส่งผลให้ดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างหนัก โดยเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 ปิดตลาดที่ ดัชนี 1,523.89 จุด ลดลง 49.18 จุด หรือ 3.13% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 103,833.09 ล้านบาท ถือเป็นดัชนีต่ำสุดในรอบ 1 ปี 7 เดือน นับจากวันที่ 6 ส.ค. 64 ดัชนีอยู่ที่ 1,521.72 จุด ซึ่งสาเหตุหลักยังคงมาจากการปิดตัวของ 3 ธนาคารในสหรัฐฯ และสถานกรณ์ของธนาคารเครดิต สวิส ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันขายหุ้นออกมา

ขณะที่วันศุกร์ (17 มี.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,563.67 จุด ลดลง 2.25% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 79,285.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.57%

ทั้งนี้ กรณีที่ธนาคารสหรัฐฯ 2 แห่งล้มลง และทางการสหรัฐฯ เข้าช่วยเหลือแล้ว กรรมการและผู้จัดการ ตลท.เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรงไม่มากเช่นกัน เนื่องจากเงินที่มาจากกองทุนร่วมทุน (เวนเจอร์แคป) และคริปโทฯ มีค่อนข้างน้อย เทียบกับเศรษฐกิจไทย แต่อาจจะมีผลทางอ้อมจากการที่นักลงทุนหรือกองทุนขนาดใหญ่ขายหุ้น รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดทำให้สภาพคล่องหายไปมาก


ย้ำหุ้นลงเป็นจังหวะดีเข้าเก็บของถูก

“มองว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาก เป็นจังหวะที่ดีในการเลือกซื้อลงทุน ขอให้นักลงทุนติดตามข่าวสารและวิเคราะห์ข้อมูลให้ดี มีบางธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต เลือกซื้อก่อนที่กำไรไตรมาส 1/2566 จะออกมา เป็นการมองไปข้างหน้า เพราะเมื่อมีความเสี่ยง และความไม่แน่นอนมากขึ้น ถือเป็นโอกาสของการลงทุน หากมองระยะยาว อย่ามองที่ปลายเหตุ ต้องดูที่ต้นเหตุ แบงก์สหรัฐฯ ล้มลง เพราะดอกเบี้ยสูงขึ้น หากเงินเฟ้อลดลง และการขึ้นดอกเบี้ยชะลอ สภาพคล่องที่หายไปจะกลับเข้ามาในตลาด ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยบวกจากการลดลงของ covid-19 นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมา ส่งผลดีต่อกำไรบจ.ที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว ส่วนกำไรบจ.ส่งออกยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีความเสี่ยง”

ทำให้ในช่วงนี้การปรับพอร์ตย้ายเงินลงทุนจากสินทรัพย์เสี่ยง คือหุ้น ไปหาที่ปลอดภัยเกิดขึ้น แต่ท้ายที่สุดเม็ดเงินจะต้องหาแหล่งเงินทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง คือตลาดหุ้นของประเทศกำลังพัฒนา นั่นก็คือไทย ดังนั้นจะต้องติดตามให้ดี หากมีการย้ายออกจากพันธบัตร

ติดตามประชุมเฟดใกล้ชิด

เป็นผลให้ทิศทางต่อจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด ประเมินดัชนีหุ้นไทยระหว่างช่วง 20-24 มี.ค.66 จะมีแนวรับที่ 1,535 และ 1,515 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,585 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 21-22 มี.ค.ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และประเด็นการเมืองภายในประเทศ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. รวมถึงดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนมี.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย LPR เดือนมี.ค. ของจีน การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของญี่ปุ่นและอังกฤษ ตลอดจนดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนมี.ค. ของญี่ปุ่น และยูโรโซน

แนะเก็บหุ้นรับเลือกตั้ง-ท่องเที่ยว

ด้าน“วิลาสินี บุญมาสูงทรง” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ปรับตัวในลักษณะ Sideway Down โดยนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการลุกลามจากการสั่งปิดกิจการธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ประกาศปิดกิจการและคำสั่งปิดกิจการของซิกเนเจอร์ แบงก์ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซี ประกอบกับยังจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 21-22 มี.ค. เพื่อรอดูทิศทางอัตราดอกเบี้ย จึงคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีไว้ที่ 1,550-1,590 จุด

อีกทั้ง ทางนักวิเคราะห์จากธนาคารซิตี้กรุ๊ปเตือนว่าก่อนหน้านี้รัสเซียจำกัดการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรป พร้อมประกาศว่าจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงในเดือนนี้เพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกต่อเนื่อง

ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์ หากมีประกาศยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยหุ้นที่ได้อานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าว ได้แก่ TKS, SIRI, PR9, SC, STEC และ STPI และแนะนำต่อเนื่องจาก คือ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 ที่ใช้สิทธิ์หมดอย่างรวดเร็ว ได้แก่ MINT, CENTEL, ERW, SPA, AU และ SHR

ด้าน “อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จากเดิมคาด 0.50% จากผลกระทบของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ขณะที่กลยุทธ์ลงทุนแนะนำรอดูสถานการณ์ พร้อมลดพอร์ตลงทุนหุ้นเหลือ 50% จากที่เคยแนะนำไว้ 80% และถือเงินสดเพิ่มขึ้น หรือไปลงทุนในหุ้นเชิงรับ อย่าง ADVANC, BDMS หรือทองคำ แนวต้านวันนี้ 1,610 จุด

โดยสรุปนักวิเคราะห์เชื่อว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปี 2566 จากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวสูงในระดับ 5-6% ส่งผลให้บางอุตสาหกรรมหรือบางธุรกิจไปต่อไม่ได้ นั่นเพราะกรณีของธนาคาร SVB ที่เกิดปรากฏการณ์ Bank Run คนแห่ถอนเงินออก นั้นเป็นเพียงสัญญาณเริ่มต้นของวิกฤตในสหรัฐฯ และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงที่อื่น ๆ ก็เป็นไปได้ คล้ายกับกรณีช่วงวิกฤตซับไพรม์เมื่อปี 2008 ที่ Lehman Brothers ประกาศล้มละลาย หุ้นลงมาก่อนเกิดวิกฤต และจบลงภายใน 6 เดือน ทำให้ในตอนนั้นมีหลายบริษัทได้รับผลกระทบด้วย เช่น AIG

จับตาปีหน้าดอกเบี้ยเริ่มกลับตัว

ขณะเดียวกันที่ผ่านมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (2565) ตลาดหุ้นลดลงมาแล้ว 30% ส่วน S&P ลงมา 20% แต่สิ่งที่จะเห็นต่อไป คือปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า (2566-2567) ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯจะปรับลงเร็วมาก สวนทางกับอัตราการว่างงานที่จะพุ่งขึ้น ซึ่งมันเคยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น คือเมื่อดอกเบี้ยลง และตลาดหุ้นจะกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดหุ้นไทย หลายฝ่ายยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไม่แย่ขนาดนั้น และในช่วงเกิดวิกฤตซับไพรม์ ตลาดหุ้นไทยมีปัญหาน้อย เช่น ภาคส่งออก หุ้นลง แต่ส่วนกลุ่มธนาคารและอุตสาหกรรมไม่มีปัญหา

นอกจากนี้คาดว่าในปี 2566 ตลาดหุ้นไทยจะทำรายได้จากภาคการท่องเที่ยวได้ถึง 2 ล้านล้านบาท จากปี 2565 อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท และดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก หนี้ต่างประเทศน้อยกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 มหาศาล และมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูง ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่อย่างสถาบันการเงินมีสถานะดีมาก ภาคอสังหาร้มทรัพย์มีหนี้น้อย ดังนั้น กรณี SVB ไม่น่าทำให้ตลาดหุ้นไทยมีปัญหาได้

ดังนั้นประเมินปี 2566 หุ้นไทยจะลงต่ำสุดจากเรื่อง fund flow ทำให้คาดว่าดัชนีมีโอกาสไปแตะ 1,500 จุด และจะไม่หลุดกรอบดังกล่าว ไม่เท่ากับเมื่อตอนวิกฤตซับไพรม์ที่หุ้นลง 50% แต่ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยน้อยลงกว่าช่วงนั้น ทำให้เกิดแรงเทขายไม่มาก แต่หลักจากเสร็จการเลือกตั้งในประเทศ เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะกลับขึ้นไปบริเวณ 1,700 จุด และปีถัดไปเชื่อว่าจะเป็นปีทองของตลาดหุ้น จากดอกเบี้ยและเงินเฟ้อลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจไทยเป็นบวกจากแรงหนุนการท่องเที่ยว เมื่อเศรษฐกิจโลกดี ภาคการส่งออกของไทยจะกลับมา

ทองคำราคาดีดตัวต่อเนื่อง

ล่าสุด รายงานข่าวจาก สมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า ราคาทองคำช่วงเปิดตลาดวานนี้ (18 มี.ค.66) ปรับขึ้นทันที 500 บาทส่งผลให้ราคาทองคำแท่ง รับซื้อที่บาทละ 31,650 บาท ขายออกที่บาทละ 31,750 บาท และ ทองรูปพรรณ รับซื้อที่บาทละ 31,078 บาท ขายออกที่บาทละ 32,250 บาท ซึ่งเป็นการปรับขึ้นสูงสุดตั้งแต่ต้นปี

“จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี” นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่าราคาทองคำพุ่งสูงในรอบ 1 ปี เนื่องจากรับปัจจัยธนาคารสหรัฐฯขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ผู้คนแห่ลงทุนทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและมั่นคงเป็นจำนวนมาก พร้อมมองว่าหากปัจจัยเรื่องดังกล่าว ยังไม่ยุติรวมถึงถ้าการประชุมเฟดเร็ว ๆ นี้ มีการชะลอขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันมีรายงานหลายธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ได้เพิ่มปริมาณทองคำสำรองขึ้นจากปกติ หลังจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ซื้อรายย่อยแห่ซื้อทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุนทองคำขนาดใหญ่เริ่มกลับเข้าซื้อทองคำ จึงเป็นอีกปัจจัยหนุนสำคัญ ทำให้ราคาทองคำปรับขึ้นแรง

ขณะที่ “พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ แสดงความเห็นว่า ภาพรวมตลาดทองคำ นับตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน ปรับขึ้นมาแล้วกว่า 1,150 บาทต่อบาททองคำ โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมนี้ บวกแล้วกว่า 800 บาทต่อบาททองคำ ตอบรับวิกฤตธนาคารสหรัฐขาดสภาพคล่องจนต้องปิดตัวไปแล้ว 3 แห่ง ยังไม่รู้ว่าจะมีอีกกี่รายรอปิดตัวเพิ่มอีก ทำให้ทองคำถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในการลงทุนอีกครั้ง เพราะขณะนี้ตลาดมีความกังวลกับการล้มของธนาคารในสหรัฐฯมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม วันที่ 22 มีนาคมนี้ จะมีการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องติดตามว่าเฟดจะมีท่าทีผ่อนคลายลงบ้างหรือไม่ หลังจากตัวเลขดัชนีซีพีไอออกมาเฟ้อน้อยกว่าคาด บวกกับวิกฤตแบงก์สหรัฐล้มลงนั้น จะทำให้เฟดประเมินถึงผลกระทบจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและชะลอการขึ้นดอกเบี้ยลงหรือไม่ หากยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามเป้าหมาย อาจทำให้เกิดแรงกดดันในตลาดทองคำและตลาดสินทรัพย์อื่นทั่วโลกด้วย เนื่องจากเมื่อดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง สินทรัพย์ทั่วโลกก็จะถูกเทขายออกมา

“เดิมประเมินเป้าหมายทองคำราคาสูงสุดอยู่ที่ 31,500 บาทต่อบาททองคำ ขณะนี้ราคาก็เข้าใกล้บริเวณดังกล่าวแล้ว จึงมองว่าอาจไปได้สูงกว่านี้ แต่จะถึง 32,100 บาทต่อบาททองคำ เป็นจุดนิวไฮในปี 2565 หรือไม่ ต้องรอประเมินการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ หากชะลอการขึ้นดอกเบี้ยลง ก็มีโอกาสจะราคาทองคำจะถูกดันขึ้นได้อีก นักลงทุนที่ต้องการเข้าซื้อสะสมเพิ่มเติม อาจต้องมองในบริเวณ 30,500 บาทต่อบาททองคำ หรือ 30,000 บาทต่อบาททองคำ”


กำลังโหลดความคิดเห็น