xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นกลุ่ม JMART ยังไม่ฟื้นไข้ เมิน “อดิศักดิ์” ออกโรงแจงเหตุเฉือนทิ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้น กลุ่มเจมาร์ท ยังเทรดในแดนลบแดงเถือก ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี65 แม้ "อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ออกมายอมรับราคาหุ้นตก ถูกเรียกวางหลักประกันเพิ่ม จำต้องตัดขาย Big Lot ยืนยันยังคงฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในการบริหารงาน และเชื่อมั่นธุรกิจยังโตต่อได้เป้าหมาย 50% ขณะผลผลงานปี 65 กำไรลดเหลือ 1,795 ล้านบาท ลดลง 27% จากปีก่อนที่ทำไว้ 2,467.59 ล้านบาท แจงปี 64 มีกำไรพิเศษที่เกิดขึ้น 1,296 ล้านบาท ส่วนรายได้รวม 14,741.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ทำไว้ 12,335.52 ล้านบาท โบรกฯ ยังคงแนะนำเก็บเข้าพอร์ต เพราะปัจจัยพื้นฐานแกร่ง

หลายสัปดาห์แล้วที่หุ้นกลุ่ม บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART กอดคอกันร่วง ราคาทยอยสร้างจุดต่ำสุดในรอบ 12 เดือนกันเป็นว่าเล่น เพราะ กลุ่ม JMART มีข่าวดีกระตุ้นราคาหุ้นต่อเนื่องมาหลายปี โดยเฉพาะปี 2564 ที่ดูเหมือนว่า JMART เดินหน้าสร้างพันธมิตรกับกลุ่มธุรกิจทั้งในและต่างประเทศหลากหลายเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการขยายเครือข่าย เพราะหันไปจับมือกับพันธมิตรกลุ่มธุรกิจแตกแขนงมากมาย นั่นจึงเป็นเหมือนการถูกคาดหมายแนวโน้มการเติบโตที่สดใส

สำหรับหุ้นกลุ่ม JMART มีทั้งหมด 5 บริษัท โดยมี บริษัทในเครือ 4 แห่ง ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วคือบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ตเวอร์ด เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT, บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER , บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J และ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC ซึ่ง SGC เป็นบริษัทย่อยของ SINGER ที่ทำให้บริการทางการเงินที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งกลุ่ม JMART ผลักดันและนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือน ธ.ค.65

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 แห่ง อย่าง บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด (JAYMART MOBILE) บริษัทเน้นค้าส่ง ค้าปลีก ออนไลน์ และตัวแทนขายของ SINGER สุดท้าย บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ที่เน้นด้านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ และอยู่เบื้องหลังการทรานส์ฟอร์มกลุ่ม JMART สู่ Digital Economy รวมถึงการให้ความสำคัญในระบบ JFIN Chain Adoption และการทำ Corporate DX (CDX) เป็นต้น


ราคาหุ้นในกลุ่ม JMART ยังตัวแดง

เมื่อวันที่ 15-16 ก.พ.ที่ผ่านมา JMART แจ้งผ่านระบบการซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) จำนวนรวม 54 ล้านหุ้น โดยเป็นการขายในส่วนของกลุ่มผู้ถือหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันทั้งหมด คือนายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ขายออกเมื่อ 15 ก.พ.66 ก่อนทำรายการ 195,388,916 หุ้น คิดเป็น 13.41% หลังทำรายการมี 181,388,916 หุ้น คิดเป็น 12.45% และนางสาวยุวดี พงษ์อัชฌา ทำรายการวันที่ 16 ก.พ.66 ก่อนทำรายการมี 110,894,154 หุ้น คิดเป็น 7.61% หลังทำรายการมี 70,894,154 หุ้น คิดเป็น 4.86%

นั่นยิ่งกระหน่ำซ้ำข่าวลบให้กับหุ้นกลุ่ม JMART แม้ปีก่อนหน้า ราคาหุ้นในกลุ่มร้อนแรงเพราะนักลงทุนรายย่อยแห่กันเข้าไปเก็งกำไรอย่างต่อเนื่อง ตามกระแสข่าวบวกที่เกิดขึ้น ทว่าปี 2565 หุ้นกลุ่ม JMART เริ่มออกอาการทรุดหนัก ราคาปรับตัวลงต่อเนื่อง กอปรกับล่าสุดที่เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้กลุ่ม JMART ประกาศงบการเงินงวดสิ้นปี 2565 ซึ่งผลประกอบการหลายบริษัทในกลุ่มไม่เป็นไปตามความคาดหมาย โดยเฉพาะ JMART ที่ผลกำไรทรุดลง เมื่อปีกับปี2564 อีกทั้งการขายหุ้นออกของผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ยิ่งเพิ่มข่าวร้ายกลายให้เกิดความวิตกต่อนักลงทุนอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

แม้ว่า ราคาหุ้นกลุ่ม JMART กลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่าราคาหุ้น JMART ปิดที่ 29.25 บาท เพิ่มขึ้น 2.00 บาท หรือ 7.34% มูลค่า 1,724.88 ล้านบาท และ JMT ปิดที่ 47.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.75 บาท หรือ 3.83% มูลค่า 1,667.56 ล้านบาท และเป็นหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกของวันดังกล่าว ขณะที่อีก 3 ตัวคือ J ปิดที่ 3.72 บาท เพิ่มขึ้น 0.14 บาท หรือ 3.91% มูลค่าซื้อขาย 9.83 ล้านบาท ส่วน SINGER ปิดที่ 21.50 บาท เพิ่มขึ้น 4.20 บาท หรือ 24.28 % มูลค่า 3,270.73 ล้านบาท และ SGC ปิดที่ 3.86 บาท เพิ่มขึ้น 0.26 บาท หรือ 7.22% มูลค่า 1,034.22 ล้านบาท เรียกว่ากอดคอบวกยกกลุ่มเลยทีเดียว

ทั้งนี้  อาจเพราะการออกมาชี้แจงของนาย "อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา" เนื่องจากราคาหุ้น JMART ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ 'เรียกวางหลักประกันเพิ่ม' หรือ Margin Call จากอดิศักดิ์ ซึ่งเขายอมรับว่าได้ตัดขาย Big Lot ด้วยเหตุผล Margin Call จริง แต่เป็นประเด็นปัญหาส่วนตัว และไม่กระทบธุรกิจบริษัท พร้อมกับยืนยันว่าจะยังคงฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในการบริหารงานต่อไป ซึ่งเชื่อมั่นธุรกิจยังโตต่อได้

อย่างไรก็ดี ล่าสุด  ราคาหุ้นเมื่อ 21 ก.พ. หุ้น กลุ่ม JMART ร่วงยกกลุ่ม โดย JMART ปิดที่ 28.75 บาท ลดลง 0.50 0.50 บาทหรือ 1.71% มูลค่าซื้อขาย 747.50 ล้านบาท , J ปิดที่3.66 ลดลง 0.06 บาทหรือ 1.61 % 1.69 ล้านบาท , JMT ปิดที่ 47.50 บาทราคาไม่เปลี่นแปลง มูลค่าซื้อขาย 806.10 ล้านบาท , SINGER ปิดที่ 21.00 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 2.33% มูลค่าซื้อขาย 1,023 ล้านบาท และ SGC ปิดที่ 3.70 บาท ลดลง 0.16 บาท หรือ 4.15% มูลค่า 297.92 ล้านบาท

แนะ “ ซื้อ”หุ้น JMART เชื่อปัจจัยพื้นฐานแกร่ง

บล. เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แนะนำ "ซื้อ" หุ้น JMART ให้ราคาเป้าหมาย 43.00 บาท หลังในไตรมาส 4/2565 บริษัทประกาศตัวเลขมีกำไรสุทธิ (รวมรายการพิเศษ) ที่ 517 ล้านบาท ลดลง 68% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหากไม่รวมรายการพิเศษ กำไรปกติอยู่ที่ 208 ล้านบาท ลดลง 39% จากไตรมาส 4/2565

ทั้งนี้ แม้ว่ารายได้ในปี 2565 เติบโตจากปี 2565 แต่กลับถูกหักล้างจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ต่ำลงจากปี 2564 บวกกับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้กำไรปกติทั้งปี 2565 อยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท เติบโต 4% เมื่อเทียบกับในปี 2564

อย่างไรก็ดี จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ฝ่ายวิเคราะห์ประมาณการกำไรปกติปี 2566 จะพลิกกลับมาเติบโตไว้ระดับ 1.4 พันล้านบาท และขยายตัวต่อเนื่องเป็น 1.7 พันล้านบาท ในปี 2567 อีกทั้งปัจจัยพื้นฐานของบริษัทยังแข็งแกร่ง ทำให้ฝ่ายวิเคราะห์จึงมองเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนในหุ้น JMART ต่อไป

บล.บัวหลวง ประเมินว่า JMART แจ้งกำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ 517 ล้านบาท ลดลง 68% เทียบปีก่อน และ 8% จากไตรมาสก่อน หากไม่รวมรายการพิเศษหลังหักภาษี กำไรหลักจะอยู่ที่ 244 ล้านบาท ลดลง 39% เทียบปีก่อน และ 32% จากไตรมาสก่อน ต่ำกว่าที่คาดล่าสุด 36% เนื่องจากกำไรของ JMT และ SINGER ต่ำกว่าคาด และรายได้จากการขายเติบโตน้อยกว่าคาดการณ์ แม้แนวโน้มไตรมาสแรกปี 2566 กำไรหลักจะฟื้นตัว ทั้งเทียบปีและไตรมาส แต่ยังมองว่าระยะสั้นมีแรงกดดันจากการปรับลดประมาณการกำไรตลาด และการลดความคาดหวังต่อการเติบโตของนักลงทุน


“อดิศักดิ์” มั่นใจปี 66 ผลงานเติบโตยกแผง

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART เผยว่า JMART ตั้งเป้าผลการดำเนินงานปี 2566 กำไรนิวไฮต่อเนื่อง ตั้งเป้าเติบโต 50% จากปีก่อน โดยเป็นการเติบโตทั้งในรูปแบบ Organic Growth และ Inorganic Growth โดย Organic Growth ผลมาจากธุรกิจในกลุ่มมีทิศทางเติบโตจากการเชื่อมโยง Ecosystem ประกอบด้วย JMART JMT J และ SINGER และ Inorganic Growth ผ่านการทำ Synergy กับบริษัทนอกกลุ่ม ที่จะเริ่มเห็นตัวเลขอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ประกอบด้วย สุกี้ตี๋น้อย BRR JK AMC De Siam และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้คือการจะร่วมกับ PRTR บริษัทบริหารทรัพยากรบุคคลชั้นนำของประเทศ จะทำให้กลุ่มบริษัทสามารถต่อยอดโอกาสใหม่ ๆ และส่งผลกำไรจากการลงทุนเข้ามาในปี 2566 ตลอดจนในปีต่อๆไป ซึ่งยังไม่นับรวมแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจที่มีศักยภาพ รวมทั้งทำธุรกิจให้มี Synergy เกิดขึ้น เพื่อมุ่งสู่การสร้าง J-Curve ผ่านผลประกอบการที่ดี ให้นักลงทุนเห็น

ดังนั้น จากการขยายการลงทุนหลากหลาย และมีบริษัทในเครือเกิดขึ้น ทำให้ปี 2559 JMART ยกระดับบริษัท เป็น บริษัท โฮลดิ้ง ที่ยังคงมี เจมาร์ท โมบาย เป็นธุรกิจหลัก หลังจากนั้นภาพการลงทุนต่าง ๆ ของ JMART เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นระยะ

ล่าสุดเมื่อปีนี้ JMART ทำ Big lot ในบริษัท บางกอกเดค-คอน จำกัด (มหาชน) หรือ BKD จำนวน 100 ล้านหุ้น สัดส่วน 9.20% ราคา 2.16 บาท คิดเป็นมูลค่า 216 ล้านบาท เพื่อผนึกกำลังเป็นพันธมิตรร่วมกัน และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ จึงเป็นอีกหนึ่งทาง การขยายการลงทุนให้ครอบคลุมแผนงาน เพราะ JMART เตรียมขยายศูนย์การค้าออกไปในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ซึ่ง BKD จะเกื้อหนุนในการออกแบบตกแต่งต่างๆ

ทั้งนี้ เมื่อปี 2565 ถือเป็นปีแห่งการ “รุกลงทุน” ของ JMART เพราะได้เดินหน้าซื้อหุ้นในหลากหลายธุรกิจมากขึ้น ทั้งหุ้นของ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป หรือ ที่รู้จักกันดีในนาม "สุกี้ตี๋น้อย" ด้วยการซื้อหุ้น 30 % ซื้อหุ้น บริษัท เอวานทิส แลบอราทอรี (ประเทศไทย) จำกัด 41.9% , หุ้นบริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) 9.9% และหุ้น บริษัท พีอาร์ทีอาร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 15 % ตลอดจน บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR 9.2 % ซึ่งทุกธุรกิจที่เข้าถือหุ้นนั้น ล้วนสามารถต่อยอดให้กับบริษัทในเครือแทบทั้งสิ้น

JMART แจ้งผลงานงวดสิ้นปี 2565 พบว่า มีกำไรสุทธิ 1,795 ล้านบาท ลดลง 27% จากปีก่อนที่ทำไว้ 2,467.59 ล้านบาท แต่หากไม่รวมรายการกำไรพิเศษที่เกิดขึ้น 1,296 ล้านบาท ในปี 2564 บริษัทฯ จะมีกำไรสุทธิเติบโตที่ 53% ขณะมีรายได้รวม 14,741.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ทำไว้ 12,335.52 ล้านบาท

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMT เผยว่าผลงานปีนี้ มีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2565 ที่มีกำไรทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งที่ 1,746 ล้านบาท เติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อน 25% ที่มีรายได้รวม 4,410 ล้านบาทหรือ เติบโต 22% ขณะมีอัตรากำไรขั้นต้น 67% และอัตรากำไรสุทธิ 36% ทั้งนี้ หากไม่รวมค่าใช้จ่ายครั้งเดียวที่เกิดขึ้น เช่น ค่าเคลมประกันโควิด กำไรสุทธิของบริษัทเติบโต 32% มีพอร์ตบริหารหนี้ด้อยคุณภาพรวมอยู่ที่ 331,410 ล้านบาท จากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 238,212 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงหนี้ด้อยคุณภาพจากทางบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มเดินหน้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารแล้วในช่วงครึ่งปีหลังปี 2565 อยู่ที่ 70,000 ล้านบาท มากกว่าแผนดำเนินงานที่เคยให้ไว้ และ JK AMC สามารถทำกำไร 196 ล้านบาท ซึ่งปี2566 JMT ตั้งเป้ากำไรเติบโต 30% จากปีก่อน และตั้งเป้างบลงทุนซื้อหนี้อยู่ที่ 10,000-15,000 ล้านบาท

นายสุพจน์ สิริกุลภัสสร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร J เผยว่าปี 2566 มั่นใจว่า J คล่องตัวมากขึ้นด้วยโครงสร้างธุรกิจที่ชัดเจน โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนในโครงการพัฒนาศูนย์การค้าชุมชนของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันมี 5 โครงการ พร้อมกับการเปิดเพิ่มอีก 2 โครงการ ส่งผล J มี 7 โครงการ และมีพื้นที่เช่าของบริษัทฯ เพิ่มขึ้น เกือบจะ 100,000 ตารางเมตร รวมถึงธุรกิจ IT Junction และพัฒนาตกแต่งบ้านมือสองพร้อมขาย ส่วนแผนการขยายศูนย์การค้าปี 2567-2568 นั้น ได้ที่ดินเพิ่มที่ระยอง และขอนแก่น เพื่อบุกตลาดหัวเมืองต่างจังหวัดที่มีสุกี้ตี๋น้อยร่วมทางด้วย ตลอดจนโครงการบ้านพักผู้สูงอายุ ภายใต้แบรนด์ “Senera Senior Wellness” เตรียมเปิดแพลตฟอร์ม “สุขใจ Health & More” เพื่อรวบรวมสินค้าและบริการด้านสุขภาพอย่างครบ วงจร

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SINGER กล่าวว่าปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 941 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.2% ขณะภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ในระดับที่ 4.62% โดยมีบริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (C4C) ภายใต้แบรนด์รถทำเงินได้ตามเป้าหมาย และเพิ่งระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปลายปี 2565 จะหนุนให้ปีนี้ SINGER มีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ขยายธุรกิจด้วยต้นทุนดอกเบี้ยในระดับต่ำ อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมุ่งเน้นการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์เพื่อลดความเสี่ยง NPL ในอนาคตจึงเชื่อว่าผลงานจะเติบโตต่อเนื่อง

นางสาวบุษบา กุลศิริธรรม กรรมการผู้จัดการ SGC เผยว่าหลังจาก SGC ประสบความสำเร็จในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา จะเสริมความแข็งแกร่งในด้านแหล่งเงินทุนให้บริษัทฯ สามารถขยายการเติบโตด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ปีนี้ SGC จะรับอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิดผ่อนคลาย ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีความต้องการด้านสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง และนำไปใช้ขยายกิจการ โดยจะเน้นสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ภายใต้แบรนด์ “รถทำเงิน” มุ่งเน้นรถบรรทุกเป็นหลัก รวมทั้งการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

โดยตั้งเป้าสิ้นปี 2566 พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่ทำไว้ 14,897 ล้านบาท และจะดันให้พอร์ตสินเชื่อแตะระดับ 50,000 ล้านบาท ภายในปี 2569 ภายใต้การควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับต่ำหรือไม่เกิน 5%

บ.ย่อย 2 แห่งนอกตลาด ผลงานสดใส

นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JAYMART MOBILE  เผยว่าปี 2565 มีรายได้รวมเฉียด 10,000 ล้านบาท โตจากปีก่อน 19% กำไรสุทธิอยู่ที่ 354 ล้านบาท โตจากปีก่อน 77% โดยเป็นการเติบโตในทุกช่องทางทั้งค้าส่ง ค้าปลีก ออนไลน์ และตัวแทนขายของ SINGER อีกทั้งเริ่มเห็นยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตมากขึ้น และบริการ สินเชื่อจากบริษัท เคบี เจ แคปปิตอล (Kashjoy) จับมือ ไทยซัมซุง เปิดให้บริการซัมซุงไฟแนนซ์พลัส (Samsung Finance+) ได้รับการตอบรับเป็นอย่างมาก และปีนี้ เจมาร์ท โมบาย เริ่มเปิดสาขาบนพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า BTS คาดว่าปีนี้เจมาร์ท โมบาย ตั้งเป้ากำไรสุทธิโต 30%

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JVC เผยว่า JVC ปี 2565 ทำกำไรสุทธิไว้ที่ 18.8 ล้านบาท เนื่องจากแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ลงทุนสร้างขึ้นมาเริ่มทำงาน และเงินลงทุนไม่ได้โตตาม เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทรานส์ฟอร์มกลุ่มบริษัทเจมาร์ทสู่ Digital Economy รวมถึงการให้ความสำคัญในระบบ JFIN Chain Adoption และการทำ Corporate DX (CDX) ขยายไปยังบริษัทนอกกลุ่มเจมาร์ท อีกทั้งสนับสนุน JMART มุ่งสู่ Virtual Banking ในอนาคต และปี 2566 นี้ พร้อมดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์


กำลังโหลดความคิดเห็น