เชือดปั่นหุ้น MORE คดีแรกในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยที่ ทางการเร่งดำเนินการได้เร็วเพียงแค่ 3 เดือน จากเดิมไม่ต่ำกว่า 5 ปี นักลงทุนคาดหวังไม่ใช่คดีแรกและคดีสุดท้าย เมื่อ ก.ล.ต.งัดศักยภาพ เร่งจัดการคนทำผิด หลังพบหลักฐานเกี่ยวโยงกอบโกยผลประโยชน์ เชื่อไม่มีมวยล้มต้มคนดู
ต้องยอมรับว่าการดำเนินการของหน่วยงานในภาครัฐครั้งนี้ เป็นที่ถูกใจเหล่านักลงทุนอย่างยิ่ง นั่นเพราะคดีความการปั่นหุ้นครั้งมโหฬารในตลาดหุ้นไทยรอบล่าสุดอย่าง บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ถูกเร่งรัดสะสางได้รวดเร็วทันใจไม่ต้องรอไปจนผู้กอบโกยหอบเม็ดเงินหลบหนีออกไปได้หมด นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานกล่าว
นั่นเพราะ เมื่อ 16 ก.พ. นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ได้รายงานคดีสำคัญต่ออัยการสูงสุดว่า สำนักงานคดีพิเศษได้รับสำนวนคดีการตรวจสอบและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินกรณีคดี บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE จากสำนักงานป้องกันแบละปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อขอให้พนักงานอัยการรับดำเนินการและยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหา ตกเป็นของแผ่นดิน ที่มีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
ทั้งนี้ คณะทำงานสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 โดย น.ส.แววตา ธวัชไพบูลย์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าว พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่ได้รวบรวมมานั้น ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากับพวกเป็นผู้มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิด รวมทั้งทรัพย์สิน 59 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18 ) ดังกล่าวและยังมิได้ดำเนินการตามกฎหมายอื่น
นอกจากนี้ วันที่ 16 ก.พ. 2566 อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 ยังรับดำเนินการและยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอศาลได้โปรดทำการไต่สวนและมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว ก่อนมีคำสั่งตามมาตรา 51, 55 และยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหากับพวก 59 รายการ รวมทั้งสิ้น 4,470,877,185.15 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 49 ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม และในวันเดียวกัน ศาลแพ่งได้มีคำสั่งไต่สวนคำร้องฉุกเฉินขอให้ยึด และอายัดทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
MORE คดีแรกจัดการนับตั้งแต่ก่อตั้ง
ที่ผ่านมาการร้องทุกข์กล่าวโทษความผิดร้ายแรงในตลาดหุ้นไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) มักใช้เวลารวบรวมหลักฐานยาวนานมาก แต่ละคดีเฉลี่ย 3-5 ปี แต่คดีพฤติกรรมอำพรางการซื้อขายหุ้น MORE ในครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งสรุปสำนวนกล่าวโทษดำเนินคดีได้ จนทำให้เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้น่าจะเป็นเดือนแห่งความสุขของผู้เสียหายที่มีโอกาสจะได้รับเงินคืนเร็วขึ้น
นั่นเพราะ นอกเหนือจากการสั่งอายัดทรัพย์หุ้น MORE มูลค่ากว่า 4.47 พันล้านบาทของอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 ที่เพิ่งมีการประกาศออกมา ก่อนหน้าเรื่องดังกล่าวเพียงไม่กี่วัน (7ก.พ.) ก.ล.ต.ได้ประกาศใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง สั่งปรับผู้บริหารบริษัท ดีคอน โปรดักส์ จำกัด(มหาชน) หรือ DCON พร้อมพวกรวม 5 คน วงเงิน 2.98 ล้านบาท ในความผิดใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น หรือ อินไซเดอร์เทรดดิ้ง ที่เกิดขึ้นช่วงต้นปี 2560 ซึ่งหมายถึง ก.ล.ต.ต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูลหลักฐานก่อนสรุปสำนวนถึง 6 ปี ก่อนสั่งลงโทษ
ดังนั้น กระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดร้ายแรงตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ถูกตั้งคำถามมานานแล้วว่า เหตุใดจึงมีความล่าช้าหลายปี ทั้งที่ควรสรุปสำนวนได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี แต่ที่ผ่านมาคดีร้ายแรงในตลาดหุ้นไทย ก.ล.ต.ไม่เคยสรุปสำนวนกล่าวโทษได้ภายใน 1 ปีได้ ไม่ว่าคดีอินไซเดอร์เทรดดิ้ง คดียักยอกทรัพย์หรือผ่องถ่ายทรัพย์สินของบริษัทจดทะเบียน และคดีปั่นหุ้น
เพิ่งจะมีคดีหุ้น MORE เป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ ที่ ก.ล.ต.สามารถสรุปสำนวน ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อตำรวจได้ภายในเวลา 3 เดือน ทั้งที่เป็นคดีที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวโยงกับคนจำนวนมาก มีผู้ร่วมกระทำผิดถึง 18 ราย เรื่องดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ก.ล.ต.ทำงานอย่างรวดเร็วได้ ถ้าเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชน และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสกัดกั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ไม่ให้ลุกลามบานปลาย จนสายเกินแก้ จนนำไปสู่คำถามของใครต่อใครว่า ก่อนหน้านี้ทำไม ก.ล.ต.จึงไม่สามารถปิดสำนวนคดีความผิดในตลาดหุ้นให้ได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน
สำหรับการกล่าวโทษแก๊งสร้างภาพลวงตาการซื้อขายหุ้น MORE ภายในเวลา 3 เดือน นับจากก่อความผิด เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า ก.ล.ต.กล่าวโทษผู้กระทำความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯภายในเวลารวดเร็วได้ ดังนั้น คดีหุ้น MORE จึงน่าจะนำไปสู่บรรทัดฐานใหม่ที่ว่าการกล่าวโทษคดีความผิด ร้ายแรงในตลาดหุ้นจะรวดเร็วและไม่ควรใช้เวลานานเกินกว่า 1 ปี ดังนั้นทุกฝ่ายจึงคาดหวังคดีปั่นหุ้น MORE ควรที่เป็น “คดีนำร่อง” ต่อการพัฒนาระบบควบคุมการซื้อขายของตลาดทุนไทยในปัจจุบัน โดยแก๊งมิจฉาชีพที่สร้างความเสียหายในครั้งนี้ ต้องรับบทลงโทษโดยเร็วที่สุด
พบหลักฐาน 18 นักปั่นเกี่ยวโยงกัน
กรณีของการซื้อขายหุ้น MORE แบบผิดปกติเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 65 สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงให้กับตลาดหุ้นไทยอย่างมาก เริ่มจากการที่ ปปง. มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหุ้น MORE 34 รายการ ตามมาด้วยการที่ ก.ล.ต. สั่งระงับการทำธุรกรรมของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ จำกัด ในธุรกิจทุกประเภทจนถึงขั้นขู่อาจเรียกคืนใบอนุญาต ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกในวงการธุรกิจหลักทรัพย์ไทย ที่มีโบรกเกอร์ถูกสั่งปิดกิจการ ต่อด้วยการมีมติให้ส่งเรื่องไปยังอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลให้อายัดทรัพย์สินมูลค่า 5.37 พันล้านบาท ต่อไปอีกแบบไม่มีกำหนดระยะเวลา ล่าสุด ก.ล.ต. แจ้งกล่าวโทษบุคคล 18 ราย ต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี หรือ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย
โดยบุคคลทั้ง 18 รายที่ถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษบุคคล ประกอบไปด้วย(1) นายอภิมุข บำรุงวงศ์ (2) นายเอกภัทร พรประภา (3) นายอธิภัทร พรประภา (4) นางอรพินธุ์ พรประภา (5) นายประยูร อัสสกาญจน์ (6) นายวสันต์ จาวลา (7) Mr. Shubhodeep Prasanta Das (8) บริษัท ตงฮั้วแคปปิตอล จำกัด (9) บริษัท ตงฮั้ว มีเดีย แล็บ จำกัด (10) นายสมนึก กยาวัฒนกิจ (11) นางสาวจิระวรรณ ไชยพงศ์ผาติ (12) นางสาวปุณฑรีก์อิศรางกูร ณ อยุธยา (13) นางสาวอัยลดา ชินวัฒน์ (14) นางสาวสุร์ศิริ ปรีดาสุทธิจิตต์ (15) นายอิทธิวรรธน์ วรรณะเอี่ยมพิกุล (16) นายมั่นคง เสถียรถิระกุล (17) นายโสภณ วราพร และ(18) นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ ซึ่งแทบทุกคนล้วนแล้วมีความสัมพันธ์กันทั้งในทางส่วนตัวและธุรกิจต่อกัน
ขณะที่ นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ หรือ “เฮียม๊อ" ดูเหมือนว่าจะพยายามลอยตัวเหนือปัญหา โดยบอกว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ถ้ามองลึกลงไปก็จะเห็นว่านอกจาก เฮียม๊อจะเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารของ MORE ชื่อของนายอมฤทธิ์ ก็ยังเป็นบุคคลที่ถูกนายอภิมุข บำรุงวงศ์ หรือ "ปิงปอง" เรียกได้อย่างเต็มปากว่า "เจ้านาย" เพราะดูแลกันมานาน ส่วนนายอภิมุขเอง ก็เป็นเพื่อนกับนายเอกภัทร พรประภา หรือ "คิม" ซึ่งเป็นพี่ชายของนายอธิภัทร พรประภาและเป็นบุตรชายของนางอรพินธุ์ พรประภา และในการส่งคำสั่งขายหุ้น MORE ของนางอรพินธุ์วันที่ 10 พ.ย. ได้ใช้หมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ IP Address ในสถานที่เดียวกับ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ หรือ "ปิงปอง" นั่นเอง
ด้านนายประยูร อัสสกาญจน์ มีความเกี่ยวข้องเพราะเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GSC ร่วมกับ นายวสันต์ จาวลา และ นายศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MORE ร่วมกับ นายอภิมุข นายสมนึก กยาวัฒนกิจ มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัท ตงฮั้ว โดยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บริษัท ตงฮั้ว โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ตงฮั้ว มีเดีย แล็บ จำกัด และมีการตั้งคำสั่งซื้อขายโดยมีเงื่อนไขว่าให้ซื้อขายในราคา ATO โดยที่นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นผู้บริหารของ GSC ส่วนนางสาวอัยลดา ชินวัฒน์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ HEMP ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ MORE ขณะนางสาวจิระวรรณ ไชยพงศ์ผาติ เป็นอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 10 ที่เทขายหุ้น MORE ออกช่วง 10-11 พ.ย. 65
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบว่า มีการส่งคำสั่งซื้อขายที่มีการจับคู่ซื้อขายกันในปริมาณมาก ทำให้ราคาเปิดของหลักทรัพย์ MORE สูงกว่าราคาปิดของวันก่อนหน้า อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขาย เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และ ก.ล.ต.รายงานการดำเนินการคดีต่อ ปปง. เพื่อพิจารณา และเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ส่วนบริษัทโบรกเกอร์ 30 ราย ที่ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น MORE เข้ามา คงหายใจเฮือกใหญ่ ไม่ต้องกังวลกับผลกระทำกับการชำระราคาค่าซื้อขายหุ้นมากนัก เพราะ ปปง.คงอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น MORE ต่อไป และสุดท้ายการซื้อขายหุ้น MORE ช่วง ATO วันที่ 10 พ.ย.65 ซึ่งเป็นพฤติกรรมอำพราง ไม่สุจริต และเป็นการโยนคำสั่งซื้อขายในแก๊ง 18 คน อาจเป็นโมฆะ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครบอกได้ว่า สุดท้ายคดีจะปิดฉากอย่างไร แต่ทางการได้ตัวขบวนการที่อยู่เบื้องหลัง การซื้อขายหุ้น MORE ที่พิสดารล้ำลึกมาแล้ว ต่อจากนี้สังคมต้องเฝ้าจับตาดูว่า แก๊งที่ร่วมปฏิบัติการปล้นโบรกเกอร์ ผ่านพฤติกรรมอำพรางการซื้อขายหุ้น MORE จะรอดคุกหรือไม่ โดยเฉพาะ “อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ” จะเผชิญชะตากรรมอย่างไร รวมถึง “กลุ่มพรประภา”จะติดรางแหหรือไม่ และกลุ่มตงฮั้วที่เพิ่งเทกโอเวอร์สื่อออนไลน์มิติหุ้น สื่อหุ้นที่เคยถูก ก.ล.ต.ลงโทษฐานปล่อยข่าวเท็จ ต้องรับโทษอะไร และทุกคนต่างเชื่อว่า ไม่น่าจะมีมวยล้มต้มคนดูเกิดขึ้นกับหุ้น MORE เป็นแน่
ล่าสุดก่อนการประกาศยึดทรัพย์ขบวนการหุ้น MORE ทาง MORE ขณะที่นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ ประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและเข้าสู่กระบวนการสอบสวนเพื่อพิสูจน์ตนเองในชั้นการสอบสวนต่อไป โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.66
ถือเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับ “น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต. พร้อมคณะฯ เดินทางไปที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อกล่าวโทษเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์(ปั่นหุ้น) โดยกล่าวโทษนายอภิมุข ฯ และบุคคลเกี่ยวข้อง 18 ราย ในความผิดตาม พรบ.หลักทรัพย์ฯ พ.ศ.2535 ม.244/3 , 244/5 และ 244/6 (อัตราโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน ห้าปีหรือปรับตั้งแต่ 1 ล้านบาทถึง 5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจาก 11 บริษัทหลักทรัพย์ ที่ได้รับผลกระทบจาก กรณีหุ้น MORE เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อตรวจสอบเอาผิด นายอภิมุข และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น MORE ในลักษณะผิดปกติ ในความผิดฐาน “ฉ้อโกง” โดยแจ้งว่าหุ้น MORE มีการซื้อขายผิดปกติ โดยมีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 7,142 ล้านบาท ในจำนวนนั้นสร้างความเสียหายแก่บริษัทหลักทรัพย์ หลายราย มีมูลค่ากว่า 4,500 ล้านบาท
ต่อมา สำนักงานก.ล.ต. พร้อมคณะ ได้เดินทางมายังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางอีกครั้ง หลังจากพนักงานสอบสวน บก.ปอศ. ได้ดำเนินการสอบสวนปากคำผู้กล่าวหา 10 ปาก และพยานที่เกี่ยวข้องอีก 34 ปาก ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และจะเร่งรัดนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
ไทม์ไลน์ MORE ป่วนตลาดหุ้นไทย
หากไล่เรียงไทม์ไลน์ที่แน่ชัดต่อกรณีของหุ้น MORE เริ่มจากกระแสข่าวที่มีการพูดถึงธุรกิจและตัวหุ้น MORE ที่มีเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ราคาหุ้น MORE ปรับลงแรง 30% จากตอนเช้าที่ 2.90 บาทต่อหุ้น ก่อนปิดตลาดเหลือ 1.95 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของวัน (Floor) เพราะ มีข่าวลือว่า ราคาหุ้นที่ลดต่ำลงจนติด Floor นั้นเกิดมาจากการคีย์คำสั่งซื้อขายผิดของนักลงทุนรายใหญ่ ยิ่งทำให้นักลงทุนต่างสงสัยว่าเป็นการเจตนามากกว่าพลั้งเผลอ เพราะคำสั่งขายในราคาที่ต่ำไปนั้น กลับมีออเดอร์รับซื้อเข้ามาในเวลาเดียวกัน อีกทั้งราคาหุ้นแปลงสิทธิ (Warrant) ของบริษัทฯ MORE-W2 ร่วงเหลือ 0.01 บาท ทั้งที่ราคาแปลงสภาพ สูงถึง 2.00 บาท แม้บริษัทออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้มีพัฒนาการสำคัญอะไรที่ส่งผลให้ราคาหุ้นผันผวนผิดปกติ ก็ตาม
ถัดมา เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ตลาดหลักทรัพย์ฯจึง ออกแถลงการณ์ เตือนนักลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังก่อนเทรดหุ้น MORE เพราะราคาหุ้นยังร่วงต่อเนื่องจากราคา Floor รวมถึงกำชับให้บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ดูแลการซื้อขายอย่างใกล้ชิด แต่วันนั้นราคาหุ้น MORE ร่วงติด Floor อีกครั้งที่ระดับ 1.37 บาทต่อหุ้น ซึ่งวันเดียวกัน MORE แจ้งงบไตรมาส 3 ขาดทุน 6.83 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 89.48 ล้านบาท
จากนั้นหุ้น MORE ส่อเค้าบานปลายขึ้น เมื่อ ตลาดหลักทรัพย์ฯและสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) เตรียมจัดงานแถลงข่าวเช้าวันที่ 14 พ.ย. 2565 เพราะมีข่าวลือว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรงอาจเป็นความตั้งใจของนักลงทุนรายใหญ่ที่ตั้งนอมินีมารับซื้อหุ้นที่ขาย ผ่านการซื้อด้วยบัญชี Margin ซึ่งเป็นการกู้เงินโดยนำหุ้น MORE มาค้ำประกันเพื่อแลกกับวงเงินในการเข้าซื้อหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 เท่าตัวจากบริษัทหลักทรัพย์ นั่นทำให้มูลค่าของหุ้นด้วยบัญชี Margin คิดเป็นเงินกว่า 4.5 พันล้านบาท
ดังนั้น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จึงเข้ามาตรวจสอบความผิดปกติ และจะใช้อำนาจของ ปปง.ขอให้ธนาคารระงับการถอนเงินค่าขายหุ้นออกไปก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ ขณะตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งระงับการซื้อขาย (SP)จนกว่าจะมีความคืบหน้า อีกทั้งบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งทยอยออกมายอมรับว่าได้รับผลกระทบจากการปล่อยให้เกิดการซื้อขายหุ้น MORE ผ่านบัญชี Margin ที่บริษัทเหล่านี้เป็นผู้ให้บริการ จนสร้างความเสียหายให้กับหลายบริษัท ขณะ‘อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ’ ซีอีโอและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MORE ชี้แจงว่ายังถือหุ้นครบและไม่คิดจะขายออก
“รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า หลังเกิการซื้อขายหุ้น MORE ที่ผิดปกติก็ได้ถือว่าเรื่องนี่เป็นกรณีเร่งด่วน จึงได้ร่วมประสานงานกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตรวจสอบ บล.ต่างๆ โดย นอกเหนือจาก บล.เอเชีย เวลท์ (AWS) แล้วก็ยังไม่พบว่ามี บล.แห่งอื่นที่น่าเป็นห่วง ทำให้ ก.ล.ต.ตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ เพื่อเป็นศูนย์กลางการตรวจสอบให้เกิดความรวดเร็ว โดยประสานงานกับกองบัญชาการตรวจสอบสวนกลาง และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.)
ส่วนกรณีของ บล. เอเชีย เวลท์ ที่สำนักงานมีคำสั่งให้หยุดประกอบธุรกิจนั้น เกิดจากการตรวจสอบจากทางสำนักงาน ก.ล.ต. และการให้ข้อมูลจากทางบริษัท ซึ่งเป็นปัญหาของบริษัทเท่านั้น โดย ก.ล.ต.มีคำสั่งให้บริษัทต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานทั้ง 4 ข้อที่กำหนด คือนำเงินของลูกค้าที่บริษัทนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยที่ลูกค้าไม่ได้อนุญาตมาคืนภายใน 20 พ.ย. 2565
ขณะเดียวกันจะระงับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว เว้นแต่เป็นการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงโดยรวมในเงินลงทุนของบริษัท หรือการดำเนินการตามภาระผูกพันที่ค้างอยู่ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย.เป็นต้นไป จนกว่าบริษัทจะนำเงินลูกค้ามาคืน และได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้ประกอบธุรกิจได้ตามปกติ รวมถึงจัดให้มีระบบงานในการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก นั่นเพราะ ก.ล.ต. ตรวจพบว่าการซื้อขายหุ้น MORE ระหว่าง 10-11 พ.ย. 2565 มีการซื้อขายโดยนักลงทุนรายใหญ่ 26 ราย ทำให้ต้องมีการเชิญมาให้ข้อมูลเพิ่ม โดยทั้ง 26 รายนี้พบว่า เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ MORE 6 ราย และยังพบว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจและนักแสดงมาเกี่ยวข้องด้วย โดยฝั่งขายหุ้น MORE ที่เข้าตรวจสอบมีคำสั่งอายัดไปส่วนใหญ่และขายออกมา 4.5 พันล้านบาท พร้อมอายัดการจ่าย และบัญชีเงินสดรวมกว่า 3.2 พันล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโบรกเกอร์ 2 แห่งที่ไม่ทำตามกฎกระทรวง คือไม่ส่งรายงาน Suspicious Transaction Report ให้กับ ปปง. ซึ่งจะมีการเอาผิดทั้งแพ่งและอาญาต่อไป และพบว่า บล. เอเชีย เวลท์ จำกัด แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ว่า บริษัทนำเงินของลูกค้าที่อยู่ในความครอบครองของบริษัท ไปชำระเป็นค่าซื้อหลักทรัพย์กับสำนักหักบัญชี โดยลูกค้าไม่ได้มีคำสั่งหรือยินยอมเป็นเงิน 157.99 ล้านบาท จึงออกคำสั่ง ระงับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์จากเอเชีย เวลท์ เป็นการชั่วคราว
นั่นทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบพฤติกรรมว่า มีการทำราคาระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ เพราะผู้รับซื้อคือ นายอภิมุข รักษาวงษ์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 4.ของบริษัท ที่ผ่านมานั้นยังไม่มีเงินมาจ่ายค่าหุ้นให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ใช้บริการบัญชี Margin ทำให้ ก.ล.ต. คาดว่า เมื่อรวมกับนักลงทุนรายย่อยอาจมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 7.5 พันล้านบาท ซ้ำมีรายงานว่า ก่อนที่จะเริ่มยุทธการตกทองโบรกเกอร์ ด้วยคำสั่งซื้อหุ้น 1.5 พันล้านหุ้น มูลค่า 4.5 พันล้านบาท เมื่อ 10 พ.ย.65 กลุ่มปั่นราคาหุ้นMORE มีการวางแผนไว้ โดยทยอยเปิดบัญชีเทรดผ่านโบรกฯหลายสำนักๆจำนวนมากผ่านนอมินี จากนั้นก็ทยอยใช้หุ้น MORE ที่ถือครองอยู่มาค้ำประกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังเพิ่มวงเงินบัญชี Margin ตั้งแต่ปลายปี 2563 กระทั่งถึงปี 2564
แต่ปัญหาหนักคือ กว่า MORE จะมีราคาขยับมาถึงเกือบ 3.00 บาทได้ จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ขณะที่แผนขายหุ้นเพิ่มทุนแบบ PP ทำมากี่รอบก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่มาว่าจะต้องมีการ “พลีชีพ” ดังนั้นการกดคำสั่งผิด หลายฝ่ายคาดว่า เกิดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สร้างเกมมีโอกาสทำกำไรจากเงินที่ทยอยเทใส่หุ้นไปก่อนหน้านี้
นอกจากนี้มีรายงานว่า ผู้ที่ยอมเสียสละพร้อมยอมเสียหุ้น MORE ที่กระจายไปวางค้ำประกันบัญชี Margin ในหลายโบรกเกอร์ เพราะเมื่อหักลบกลบหนี้ดูท่าจะได้กำไรมากกว่าหลายเท่าตัว แต่เนื่องจากการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้นจะขยายเพิ่มวงเงินเทรดไม่น้อยกว่า 3 เท่าตัวจากราคาและจำนวนหุ้นที่นำมาวางค้ำประกัน ดังนั้นการยอมเสียหุ้นที่ค้ำประกันไว้ น่าจะทำให้เงินบัญชีของ “อภิมุข” ดูดีมากกว่าที่จะกอดหุ้นแบบ MORE ไว้ตลอดชีพเพราะมีรายงานว่าการนำหุ้น MORE มาทยอยค้ำประกันต่อเนื่องในหลายโบรกเกอร์จนสูงถึง 50% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทำให้ฟรีโฟลตในตลาดหายไปมากถึง 73% นั้นจึงไม่น่าแปลกใจต่อราคาหุ้นที่ดีดตัวเพราะดีมานด์หุ้น MORE มีมากกว่าซัพพลายที่อยู่ในตลาด
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้หารือร่วมกันเพื่อยกระดับ คุณภาพของบริษัทที่เข้าจดทะเบียน โดยได้ข้อสรุปว่า จะทบทวนเกณฑ์รับหุ้นทั้งเกณฑ์เชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้ง การทบทวนเกณฑ์กำไรของบริษัทที่จะจดทะเบียน IPO ว่า ต่ำเกินไปหรือไม่ รวมถึงการทบทบเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนทางอ้อม หรือ แบ๊คดอร์ ลิสติ้ง เรียกได้ว่านี่คือการสังคยนากฎเกณฑ์ต่างๆในวงการตลาดหุ้นรอบใหญ่ ซึ่งน่าจะรวมถึงการรับฝากหลักทรัพย์เพื่อใช้คำประกันบัญชี Margin น่าจะมีกฎเกณฑ์ที่รอบคอบและเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพื่อหวังปิดช่องโหว่ที่มีอยู่