xs
xsm
sm
md
lg

WAVE ผนึกกำลัง “เอ็มวิชั่น” ผลักดันไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



WAVE ผนึกกำลัง “เอ็มวิชั่น” ส่งเวฟ บีซีจี ร่วมมือผลักดันการจัดงานในไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Event) ทั้งในรูปแบบงานแสดงสินค้า งานเอ็กซ์โปและคอนเสิร์ต เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร และเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก ดีเดย์งานแรก Mobile Expo 2023 ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WAVE เปิดเผยว่า บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท เอ็มวิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MVP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจัดงาน หรือ Event ในประเทศให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด เป็นผู้ให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตครบวงจร ให้คำปรึกษาทั้งในส่วนของผู้ซื้อและผู้ขาย เป็นผู้พัฒนาโครงการและจัดหาคาร์บอน เครดิต ทั้งจากพลังงานสะอาด และพลังงานอื่นๆ ในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน จึงเกิดความร่วมมือกันเพื่อความแข็ง แกร่งหรือจุดแข็งทางธุรกิจ

ส่วนบริษัท เอ็มวิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MVP เป็นผู้นำและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการจัดงานอีเวนต์ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมด้วยประสบการณ์การจัดงานระดับมืออาชีพ เช่น Thailand Mobile Expo และ Thailand Crypto Expo 2022 เป็นต้น

“ความร่วมมือในครั้งนี้มีความมุ่งมั่นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน Wave BCG จึงได้ร่วมลงนาม MOU เพื่อจัดงานต่างๆ ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ทั้งกลุ่มงานแสดงสินค้าต่างๆ งาน Expo แม้กระทั่งงานคอนเสิร์ต ที่จะช่วยให้คำแนะนำการจัดงานให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงการจัดหาคาร์บอนเครดิต สำหรับการ Offset เพื่อให้ผู้จัดงานบรรลุเป้าหมายของการเป็น Carbon Neutral Event เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กร และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย ในการลดก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น” นายเจมส์ กล่าว

สำหรับความร่วมมือดังกล่าวจะอยู่ภายใต้หลักการคำนวณและประเมินอ้างอิงตามหลักการขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.และตรวจสอบโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รัตนโกสินทร์ หน่วยงานในกำกับของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (มทร.) ซึ่งมีการจัดทำยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยคาร์บอนนิวทรัล หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 และมีเป้าหมายหลักในการผลิตบัณฑิตด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ให้มีองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อผลิตบุคลากรที่มีองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมและงานวิจัยที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ Wave BCG ร่วมมือ MVP และ Giant Causeway Pte.Ltd เพื่อพัฒนานวัตกรรม Climate Tech Project (CTP) ที่เรียกว่า ‘Carbon Mapping Platform’ โดยใช้เทคโนโลยีของ Web 3.0 เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความโปร่งใส่ ตรวจสอบได้ และอำนวยความสะดวกให้ผู้ตรวจ เพื่อตรวจสอบพื้นที่ในการปลูกป่าและการเกษตร โดยเทคโนโลยีสามารถตรวจสอบและติดตามพื้นที่ป่าไม้และการเกษตรย้อนหลัง 5 ปี ประเมินสภาพในปัจจุบัน และประมาณการพื้นที่ในอนาคต

ในอดีตปัญหาของผู้พัฒนาโครงการหรือบริษัทที่ปลูกป่าไม้เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือ การติดตามผลในปัจจุบัน รวมถึงการคาดการณ์ผลทางคาร์บอนเครดิตในอนาคต พร้อมทั้งการที่บริษัทถูกมองว่าปลูกป่าเพื่อสร้างภาพทาง PR ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมในการใช้ภาพจากดาวเทียมควบคู่กับเทคโนโลยี blockchain ของ Web 3.0 จะช่วยตอบโจทย์เรื่องการคำนวณ การคาดการณ์ในอนาคตที่มีความแม่นยำ สามารถตรวจสอบได้ และเพิ่มความมั่นใจให้ผู้พัฒนาโครงการและนักลงทุนมากยิ่งขึ้น

ด้านนายโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มวิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MVP กล่าวว่า การจัดงาน Mobile Expo 2023  ดำเนินการโดย MVP ระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นงาน Expo แรกในไทยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และ Wave BCG ให้การสนับสนุนการคำนวณ การประเมินการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งจัดหาคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้  Wave BCG พร้อมสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรม MICE ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ทำให้มีการปล่อยคาร์บอนจากการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การประชุม งานแสดงสินค้า หรืองานเทศกาลที่ส่งผลกระทบต่อโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ไม่ควรมองข้าม
 
ขณะที่นายเกียรติชาย ไมตรีวงศ์  ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า อบก. ได้ให้การการสนับสนุนการจัดอีเวนต์ในครั้งนี้ให้มีการดำเนินการในรูปแบบที่เป็น Carbon Neutral Event โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์มการคำนวณขึ้นใหม่ มุ่งเน้นให้ใช้งานได้ง่าย แยกตามประเภทของ MICE คือ
1.การจัดประชุม-อบรม-สัมมนา (Meeting)
2.การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive Travel)
3.นิทรรศการ-แสดงสินค้า (Exhibition)
4.งานเทศกาล (Festival)
5.การแข่งขันกีฬา (Sport)
6.การเดินทางท่องเที่ยวของบุคคล (Personal Travel)

ปัจจุบัน อบก. ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ในการนำแพลตฟอร์มดังกล่าวข้างต้นไปทดลองใช้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม MICE

ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานต่างๆ ให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอนมากขึ้น ทั้งผู้จัดจากต่างประเทศ งานเทศกาลดนตรี งานคอนเสิร์ต เริ่มมีมาตรการให้ผู้เข้าร่วมงานปฏิบัติตาม อีกทั้งศิลปินบางวงยังมีการเลือกงานที่จะไปทำการแสดง ที่ต้องเป็นงานจัดในรูปแบบของ Carbon Neutral เท่านั้น

โดยอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้การจัดงานกิจกรรมต่างๆ สามารถเดินสู่เป้าหมายความเป็นการทางคาร์บอนคือ การซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร หรือผลิตภัณฑ์ หรือที่เรียกว่า การทำกิจกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ กิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร หรือผลิตภัณฑ์นับได้เท่ากับศูนย์ หรือที่เรียกว่า Carbon Neutral
กำลังโหลดความคิดเห็น