xs
xsm
sm
md
lg

TTB เปิด 3 กลยุทธ์ปี 2566 ตั้งเป้าขึ้น TOP 3 Digital Platform ใน 3-5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) สานต่อพันธกิจ The Bank of Financial Well-being มุ่งสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย ด้วยแผนขับเคลื่อนธุรกิจปี 2566 ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก มุ่งสร้างประโยชน์ให้ลูกค้าผ่านการต่อยอดจุดแข็งจากการรวมกิจการ รุก Digitalization นำดิจิทัลเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อยกระดับประสบการณ์ทางการเงินและประสิทธิภาพของธนาคาร ผ่าน ttb touch เวอร์ชันใหม่ พร้อมสร้างชีวิตทางการเงินของลูกค้ากลุ่มพนักงานเงินเดือน คนมีรถ คนมีบ้านให้ดีขึ้นรอบด้านด้วย Ecosystem Play

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี
เปิดเผยว่า ปี 2566 ยังคงเป็นปีแห่งความท้าทายอันเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แต่จากความพร้อมของธนาคารที่สะท้อนได้จากความสำเร็จทั้งในแง่ธุรกิจ และการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้ลูกค้าของธนาคารที่ผ่านมา ถือเป็นสิ่งชี้วัดว่าธนาคารได้ดำเนินการมาถูกทาง หลังจากนี้ ยังคงมุ่งสานต่อพันธกิจ ด้วยการสร้าง The Next REAL Change เดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายในรูปแบบใหม่อีกครั้ง ภายใต้กลยุทธ์หลัก 3 เรื่อง ได้แก่

1.Synergy Realization : การนำจุดแข็งและความแข็งแกร่งจากการรวมกิจการมาต่อยอดพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้า
หลังรวมกิจการกว่า 10 ล้านราย โดยปีนี้ทีเอ็มบีธนชาตจะต่อยอดจุดแข็งของกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปสู่สินเชื่อรถแลกเงิน (ttb cash your car) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (ttb cash your home) สินเชื่อ ttb payday loan และกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถ ซึ่งโซลูชันเหล่านี้นอกจากจะมีฟีเจอร์ที่โดดเด่นแล้ว ยังจะสามารถช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องภายใต้เศรษฐกิจผันผวนของปีนี้ได้ด้วย

2.Digitalization : การยกระดับประสบการณ์ทางการเงินและพัฒนาประสิทธิภาพของ ธนาคารมุ่งยกระดับและขยายขีดความสามารถของ ttb touch ให้ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละรายได้อย่างรอบด้าน ซึ่ง ttb touch เวอร์ชันใหม่ได้เปิดตัวไปเมื่อไตรมาส 2/2565 และได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างมาก จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 46% และจำนวนรายการธุรกรรมบนแอปเติบโตขึ้น 25% และสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงโปรโมชันต่างๆ ให้ลูกค้าแบบ 1 ต่อ 1 หรือ Segment-of-One และธนาคารจะเดินหน้าพัฒนาองค์กรให้เป็น Digital-First Experience เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมส่วนใหญ่ได้เองผ่าน ttb touch มาเป็น Digital Only ขณะที่พนักงานสาขาจะมีบทบาทสำคัญในการเป็น Trusted Advisor ให้คำปรึกษา แนะนำและให้บริการลูกค้าบนผลิตภัณฑ์และบริการที่ซับซ้อน

"เราตั้งเป้าจะเป็น TOP 3 Digital Platform ใน 3-5 ปึ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ขึ้นไปสู่ระดับนั้นได้จะเริ่มต้นจากการทำสิ่งที่มีความหมายกับลูกค้า และจะนำพาไปสู่มาร์เกตแชร์เอง เราจะไม่เริ่มต้นจากมาร์เกตแชร์เพราะจะนำพาไปสู่การแข่งขันด้านราคา หรืออื่นๆ ที่ไม่ยั่งยืน"

และ 3.Ecosystem Play : การสร้างชีวิตทางการเงินของลูกค้าบัญชีเงินเดือน มีรถ มีบ้านให้ดีขึ้นรอบด้าน ซึ่งเป็น 3 กลุ่มหลักที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญและมีฐานลูกค้าเป็นแต้มต่อ โดยธนาคารจะต้องเข้าไปอยู่ในชีวิตของลูกค้าตลอด Journey และช่วยให้ชีวิตของลูกค้าสามารถบริหารจัดการเรื่องสำคัญได้อย่างรอบด้าน โดยมี ttb touch เป็นตัวขับเคลื่อนให้ลูกค้าบริหารจัดการชีวิตได้อย่างครบวงจร

"โจทย์ของเรายังเป็นโจทย์เดิมคือ ทำอย่างไรให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น โดยให้เขารู้จักและนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่ ฉลาดออม รอบรู้เรื่องกู้ยืม ลงทุนเพื่ออนาคต และมีความคุ้มครองเพื่ออุ่นใจ ผ่าน 3 กลยุทธ์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันถือได้ว่าเราพร้อมแล้วสำหรับการกลับมาเติบโตในกลุ่มที่มีคุณภาพ หลังจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทั้งระบบโดยรวมได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งเราได้มีการบริหารจัดการด้านต้นทุนได้เป็นอย่างดี ทำให้ผลประกอบการในปีที่ผ่านมาออกมาดี สามารถนำมาชดเชยความเสียหายจากช่วงโควิดได้ และพร้อมที่จะสนับสนุนในการก้าวต่อไป ซึ่งแม้ว่ามาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะหมดลง แต่เราจะไม่กระทบเพราะได้ตั้งสำรองไว้ในระดับที่ระมัดระวังอยู่แล้ว"

สำหรับเป้าหมายทางการเงินในปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับ 3% มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ม(เอ็นพีแอล) ที่ 2.9% จากสิ้นปีก่อนที่ 2.7% โดยแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นหลังจากมาตรการของ ธปท.หมดลง ซึ่งอาจจะทำให้มีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ส่วนการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) นั้น นายปิติ กล่าวว่า เราไม่มีแผนที่จะจัดตั้ง Virtual Bank แต่เราจะนำพาธนาคารไปสู่ Virtual Bank อยู่แล้ว โดยจะต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็น virtual Product ในช่องทาง Digital Only แต่การใช้คนยังมีความจำเป็นอยู่ในธุรกรรมที่มีขนาดใหญ่หรือซับซ้อน ดังนั้น การโยกธุรกรรมที่ไม่จำเป็นต้องใช้มนุษย์ไปสู่ช่องทาง Digital เพื่อการบริหารจัดการด้านต้นทุนที่ดี นั่นคือ Virtual Bank ในความหมายของเราและที่เรากำลังทำอยู่

"เท่าที่เห็นในประเทศที่มี Virtual Bank แล้ว ปัจจุบันรายที่รอดยังมีน้อย เพราะเขาต้องเริ่มจากจำนวนลูกค้าที่เป็นศูนย์หรือมีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ที่เป็นอยู่ ดังนั้น ในช่วงแรกจะต้องใช้ทุนเยอะเพื่อสร้างฐานลูกค้าซึ่งถ้าสายป่านไม่ยาวก็ยากที่จะอยู่ไปถึงจุดนั้น โดยVirtual Bank ที่เกิดขึ้นและเสถียรแล้วในปัจจุบันจะมี Cost of Income ประมาณ 30% กลางๆ อันนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญของแบงก์ที่จะต้องบริหารต้นทุนให้สามารถต่อสู้กับกลุ่มนี้ได้ แม้ปัจจุบันอาจจะยังไม่มากราย แต่ต้องเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมไว้"
กำลังโหลดความคิดเห็น