อินเดียไปไกลแล้ว นำประเด็นการกำกับดูแลและระเบียบควบคุมการใช้คริปโตเคอร์เรนซี ขึ้นสู่วาระการประชุมของสมาชิก G20 ซึ่งประกอบด้วยประเทศทั้ง 19 ประเทศ ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ (กลุ่ม 8) คือ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี รัสเซีย และสหรัฐ และกลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่อีก 11 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ หวังสร้างแนวทางปฏิบัติและยกระดับมาตรฐานเป็นแนวทางเดียวกันในทุกประเทศทั่วโลก
จากการเปิดเผยของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุถึงถอยแถลงของนางเนียร์มาลา สิฐรามัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินเดีย ซึ่งกล่าวในการประชุมของสมาชิก G20 ว่า อินเดียกำลังหารือกับสมาชิกกลุ่ม G20 ในการพัฒนากรอบมาตรฐานระดับโลก เพื่อใช้ควบคุมดูแลคริปโตเคอร์เรนซี
"การกำกับดูแลคริปโตเคอร์เรนซี เป็นเรื่องที่ประเทศใดประเทศหนึ่งทำเองฝ่ายเดียวไม่ได้ โดยพวกเราทุกประเทศต้องมาหารือด้วยกันว่าเราจะช่วยกันวางแนวปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานที่ทุกชาตินำไปปรับใช้และสร้างกรอบควบคุมดูแลได้หรือไม่” นางสิฐรามัน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังพบปะกับคณะกรรมการธนาคารกลางอินเดีย
ทั้งนี้สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า จากการที่อินเดียเป็นหนึ่งในประธาน G20 ซึ่งในปีนี้ประเด็น การกำกับดูแลคริปโตฯ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จะเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเด็นที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ และหาทางออกร่วมกัน
นอกจากนี้ ในถ้อยแถลงของรัฐมนตรีคลังอินเดีย ยังสอดคล้องกับที่กองทุนระหว่างประเทศ (IMF)ซึ่งได้ออกมาตอกย้ำถึงการพัฒนากรอบมาตรฐานระดับโลก สำหรับการควบคุมคริปโตเคอร์เรนซีว่า “ท้ายที่สุด เราจำเป็นต้องสร้างกฎระเบียบในการควบคุมและครอบคลุมตลอดจนการกำกับดูแลคริปโตฯ ให้มีความแข็งแกร่งและเป็นบรรทัดฐานเดียวกันทั่วโลก”
ทั้งนี้ แม้อินเดียจะไม่ได้แบนการซื้อขายสินทรัพย์คริปโตฯ เหมือนที่ประเทศจีน แต่ได้มีการวางเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเก็บภาษีในเพดานที่สูงกว่า 30% ในปีที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมคริปโตในอินเดียต้องหยุดชะงัก นอกจากนี้ อินเดียยังห้ามหักลบกลบผลการลงทุน ด้วยการนำกำไรที่ได้จากคริปโตฯ ประเภทหนึ่ง ไปชดเชยการขาดทุนในคริปโตฯ อีกประเภทด้วย