xs
xsm
sm
md
lg

อินไซเดอร์หน้าไม่อาย DCON / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น หรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง เป็นพฤติกรรมที่หน้าไม่อาย แต่เกิดขึ้นบ่อยในตลาดหุ้น และคดีล่าสุดสดๆ ร้อนๆ คือ อินไซเดอร์หุ้นบริษัท ดีคอนโปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ DCON

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งต่อผู้กระทำความผิด 5 ราย ประกอบด้วย นายวิทวัส พรกุล นายชนะ โตวัน น.ส.วิศรา พรกุล น.ส.อริสรา โตวัน และ น.ส.อสมา โตวัน กรณีขายหุ้นบริษัท ดีคอนโปรดักส์ จำกัด (มหาชน) (DCON)

บุคคลทั้ง 5 รายรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน และยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตน โดยผู้กระทำผิดต้องชำระเงินรวม 2,983,040 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารต่อผู้กระทำความผิดทั้ง 5 ราย

ปี 2560 นายวิทวัส เป็นประธานกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ และกรรมการของ DCON นายชนะ เป็นรองประธานกรรมการบริหาร และกรรมการ และล่วงรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานประจำปี 2559 ของ DCON ที่มีกำไรสุทธิลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2559 ในสัดส่วนที่ลดลงจากหลายปีที่ผ่านมา

นายวิทวัส ได้ขายหุ้น DCON ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ น.ส.วิศรา ส่วนนายชนะ ได้ขายหุ้น DCON ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ น.ส.อริสรา และ น.ส.อสมา ก่อนที่ DCON จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานประจำปี 2559 และการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2559 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ทำให้นายวิทวัส และนายชนะ สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมูลค่าหุ้น DCON ที่มีราคาลดลงหลัง DCON เปิดเผยข้อมูลผลประกอบการ

อินไซเดอร์ DCON เป็นการใช้ข้อมูลภายในขายหุ้นก่อนที่ข่าวร้ายจะปรากฏ โดยผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่รู้ว่า ผลประกอบการบริษัทย่ำแย่ และจะจ่ายเงินปันผลลดลง จึงชิงขายหุ้นออก ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป

DCON มีนายต่อตระกูล ยมนาค นักเคลื่อนไหวต่อต้านการทุจริต เป็นประธานกรรมการบริษัท ซึ่งจะต้องจับตาดูต่อไปว่า นายต่อตระกูล จะมีท่าทีอย่างไรหลังจากบริษัทจดทะเบียนที่นายต่อตระกูล เป็นประธานกรรมการ กระทำความผิดร้ายแรงและน่าอับอาย ไร้ธรรมาภิบาล

นักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะกองทุนรวมมีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านบริษัทจดทะเบียนที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบประชาชนผู้ลงทุน โดยกระทำความผิดร้ายแรง รวมทั้งความผิดการใช้ข้อมูลภายใน ซึ่ง DCON จะถูกนักลงทุนสถาบันขึ้นบัญชีดำ

DCON เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2547 และไม่ใช่หุ้นที่เคลื่อนไหวอย่างร้อนแรง แต่ราคาจะขึ้นลงตามปัจจัยพื้นฐานและผลประกอบการ โดยมีค่าพี/อี เรโช 17 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 2.50% ซึ่งจัดเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ

ผลประกอบการบริษัทมีกำไรต่อเนื่อง เพียงแต่กำไรไม่ได้เติบโตทุกปี เพราะบางปีกำไรชะลอตัวลง ทำให้ราคาหุ้นแกว่งตัวตาม โดยรอบ 12 เดือน ราคาเคยพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 57 สตางค์ และต่ำสุดที่ 36 สตางค์ ส่วนราล่าสุดปิดเมื่อวันที่ศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่ 0.44 สตางค์

โครงสร้างผู้ถือหุ้น DCON ประกอบด้วยกลุ่ม นายวิทวัส พรกุล ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนกว่า 51% ของทุนจดทะเบียน มีผู้ถือรายย่อยจำนวน 10,495 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 32% ของทุนจดทะเบียน โดยเป็นอีกบริษัทจดทะเบียนที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมาก แต่ถูกเอาเปรียบจากผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทฯ

เงินค่าปรับ จำนวน 2.98 ล้านบาท ไม่มีปัญหาสำหรับกลุ่มพรกุลในการจ่าย เพื่อปิดคดี แต่การถูกประกาศเป็นอินไซเดอร์ เพียงเพื่อเงินก้อนเล็กๆ เมื่อเทียบกับฐานะของกลุ่มพรกุล เป็นสิ่งที่น่าละอาย

อินไซเดอร์หุ้น DCON คงไม่ใช่คดีสุดท้าย เพราะบทลงโทษไม่ได้ทำให้เกิดความเกรงกลัว จนไม่กล้ากระทำความผิด

แต่การประจาน หรือประณามพฤติกรรมจะทำให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนสำนึกได้ว่า การใช้อินไซเดอร์ ไม่คุ้มกับชื่อเสียงที่ไม่อาจกอบกู้กลับคืนมาได้ และสายไปเสียแล้วสำหรับผู้บริหาร DCON ในการแก้ไขความผิด








กำลังโหลดความคิดเห็น