xs
xsm
sm
md
lg

ยสท.เร่งปราบบุหรี่เถื่อน ห่วงรัฐสูญเสียรายได้ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์กว่า 6 พันไร่ เพื่อสร้างรายได้ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าการ ยสท.เผยผลประกอบการปี 65 กำไร 120 ล้านบาท ตั้งเป้าปี 66 กำไร 240 ล้านบาท 4 เดือนที่ผ่านมาทำได้ตามเป้าหมาย เร่งบริหารงาน 3 เรื่องด่วน โครงสร้างภาษีที่ส่งผลให้รายได้ลดลงจากอดีตกำไรกว่า 8 พันล้านบาท ปัจจุบันเหลือเพียงหลัก 100 ล้านบาท เร่งปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย ทำให้มาร์เกตแชร์หดเหลือ 40% จากเดิมที่มีมากกว่า 80% ห่วงรัฐสูญเสียรายได้มหาศาล ทบทวนบทบาทองค์กรที่อาจจะเหมาะสำหรับผลิต ไม่ถนัดการขาย พร้อมเดินหน้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน
 
นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เข้ามารับแต่แหน่งได้มีการทบทวนถึงการบริหารธุรกิจ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้พัฒนาและเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน โดยมีนโยบายที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน 3 เรื่องคือ 1.ปรับโครงสร้างภาษี โดยได้หารือกับกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง เพราะโครงสร้างภาษีทำให้ผลประกอบการของ ยสท. ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2660-2565 เคยมีกำไรมากกว่า 8,000-9,000 ล้านบาทต่อปี และได้ปรับลดลงอย่างเนื่อง จนในปี 65 กำไรเหลือหลัก 100 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการปรับโครงสร้างภาษีเพิ่มขึ้นของรัฐบาล 2.เร่งปรับตัวทั้งภาคเกษตรกร รวมถึงปรับองค์กรเพื่อแข่งขันและอยู่รอดได้ โดยเทรนด์ของโลกคนสูบบุหรี่น้อยลง มีบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาทดแทน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือบุหรีที่ผิดกฎหมายลักลอบหนีภาษี ทำให้มาร์เกตแชร์ของ ยสท.ลดลงเหลือ 40% ในปีนี้ จากปี 60 มีมาร์เกตแชร์มากกว่า 80%
 
3.เร่งทบทวนโครงสร้างองค์กรที่มีพนักงานมากกว่า 2,000 คน ขณะนี้ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาเข้ามาดูโครางสร้าง เร่งหาแผนการปรับตัวเพื่อให้องค์กรพัฒนาและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน เช่น ยสท.อาจจะเหมาะสำหรับการผลิตบุหรี่เพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ถนัดเรื่องการขาย อาจจะมีการตั้งบริษัทลูกหรือร่วมทุนเพื่อให้แข่งขันกับเอกชนได้ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ ยสท.มีที่ดินประมาณ 6,000 ไร่ หรือ 150 แปลง เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศให้ที่ดินเริ่มเสียภาษี จำเป็นต้องพัฒนาเพื่อให้เกิดรายได้ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องเป็นเรื่องที่เร่งด่วนต้องทำพร้อมกัน 
 
“ภายหลังการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 และ พ.ศ.2564 ส่งผลให้บุหรี่ในประเทศราคาปรับสูงขึ้นจากเดิมมาก โดยบุหรี่ตราที่ขายในราคา 51 บาท ปรับขึ้นเป็น 60 บาท และ 66 บาท  ด้วยปัจจัยด้านราคาที่ปรับสูงขึ้น ทำให้มีการลักลอบนำบุหรี่ผิดกฎหมาย ทั้งบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท. และบุหรี่หนีภาษี ซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่ในประเทศหลายเท่าตัวเข้ามาจำหน่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก สวนทางกับนโยบายปรับเพิ่มภาษียาสูบเพื่อลดการบริโภคยาสูบในประเทศ ยสท. ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตราเครื่องหมายการค้า ตั้งแต่ พ.ศ.2541 จนถึงปัจจุบัน มีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท. จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศไทย ซึ่งร้านค้าปลีกลักลอบนำไปจำหน่ายปะปนกับบุหรี่จริง และขายในราคาเท่ากับบุหรี่จริง แม้ว่า ยสท. ได้ทำจุดตรวจสอบที่ซองบุหรี่เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ในการตรวจสอบ แต่ไม่สามารถสื่อสารโดยตรงไปยังผู้บริโภคได้ ด้วยข้อจำกัดตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่ทราบข้อมูลและตกเป็นเหยื่อในการบริโภคบุหรี่ปลอม สำหรับบุหรี่หนีภาษีราคาถูกได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งการค้าบุหรี่หนีภาษีทำเป็นขบวนการใหญ่ เปิดร้านจำหน่ายอย่างเปิดเผยไม่เกรงกลัวกฎหมาย หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและจริงจัง จะทำให้ธุรกิจการค้าบุหรี่หนีภาษีเติบโตขยายตลาดการเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และรัฐจะสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล ส่วนผู้ค้ายาสูบถูกกฎหมายทั้งระบบจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง” ผู้ว่าการ ยสท.กล่าว
 
ยสท. มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย คือ สำนักป้องกันบุหรี่ผิดกฎหมาย มีคณะอนุกรรมการกำกับดูแลบริหารการป้องกันและปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย ซึ่งแต่งตั้งจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ทหาร ตำรวจ ปปง. กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อกำกับควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่ง ยสท. ตระหนักถึงปัญหาและพิษภัยของบุหรี่ปลอม และพยายามแก้ไขมาโดยตลอด แต่ปัญหายังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ค้าสามารถเข้าถึงและซื้อบุหรี่ปลอมมาจำหน่ายได้หลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์และการส่งสินค้าผ่านระบบโลจิสติกส์ ซึ่งผู้บริโภคและร้านค้าสามารถเข้าถึงบุหรี่ผิดกฎหมายได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ทำให้ตกเป็นเหยื่อในการบริโภคบุหรี่ปลอมที่เจือปนสารนอกเหนือการควบคุมเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่บุหรี่เครื่องหมายการค้าของ ยสท. นั้น มีฝ่ายวิจัยและพัฒนา ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์สารประกอบต่างๆ เป็นประจำทุกเดือน เพื่อตรวจสอบสารที่ต้องห้าม
 
ผู้ว่าการ ยสท. กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ผิดกฎหมาย บุหรี่หนีภาษี บุหรี่ปลอม การแข่งขันทางการค้าในอุตสาหกรรมบุหรี่ต่างชาติ และจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่น้อยลงตามนโยบายรัฐและกระแสโลก ทำให้ ยสท. ได้รับผลกระทบจากยอดจำหน่ายที่ลดลง ยสท. จึงได้มีการนำทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์มาจัดหาประโยชน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบัน ยสท. มีแปลงที่ดินจำนวน 150 แปลง ที่เป็นกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ในเขตพื้นที่ 15 จังหวัด รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 6,003 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ มหาสารคาม เพชรบูรณ์ สุโขทัย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด หนองคาย นครพนม และบึงกาฬ ซึ่งคณะกรรมการ ยสท. (บอร์ด) มีมติให้นำอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ตามภารกิจหลักและมีศักยภาพนำมาจัดหาประโยชน์สร้างรายได้ โดยนำมาให้เช่า จำนวนกว่า 2,000 ไร่ จากทั้งหมด 6,003 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ศักยภาพอสังหาริมทรัพย์ของ ยสท. ที่มีปัจจัยทั้งภายใน ภายนอก โอกาส และอุปสรรค โดยจะต้องประสานองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ตามเป้าหมาย สอดคล้องทั้งสภาพแวดล้อม บริบทของเมือง และความต้องการในเชิงธุรกิจ ก่อนนำมาจัดประโยชน์ต่อไป นอกจากนี้ ยสท. กำลังพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการแสดงผลข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ด้วยโปรแกรมภูมิสารสนเทศ (Supermap) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ของ ยสท. โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดระเบียบฐานข้อมูลด้านภาษี ประกันภัย ข้อมูลแปลงที่ดิน ข้อมูลทรัพย์สิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนผังระบบและจัดการข้อมูลแยกส่วน แยกประเภทตามผู้ใช้งาน คาดว่าจะสามารถใช้งานระบบได้เต็มรูปแบบภายในเดือนเมษายน 2566 นี้ พร้อมทั้งได้จัดทำหน้าเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของ ยสท. โดยผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร แสดงความประสงค์ หรือสอบถามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์การยาสูบแห่งประเทศไทย www.thaitobacco.or.th
 
ผู้ว่าการ ยสท. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง BCG ประกอบด้วย B (Bio Economy) คือ เศรษฐกิจชีวภาพ โดย ยสท. จึงได้นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดในด้านทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตร เช่น พัฒนาพื้นที่เพาะปลูกยาสูบให้ได้ผลผลิตมากขึ้น และใช้นวัตกรรมทางการเกษตรมาช่วยเหลือเกษตรกร ส่วน C (Circular Economy) คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน โดย ยสท. มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การสร้างมูลค่าจากฝุ่นผงใบยาในอุตสาหกรรมการผลิตยาสูบ ลดปริมาณขยะในภาคการผลิต และ G (Green Economy) คือ เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่ง ยสท. ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารชีวภาพแทนสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช โดยคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยสท. ยังมีโครงการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่กํากับดูแลของสํานักงานยาสูบส่วนภูมิภาค (พื้นที่สํารองไว้ใช้ประโยชน์อื่น) จํานวน 27 แปลง ประมาณ 500 ไร่ โดยการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Green Area) เพิ่มพูนการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก (CO2 ) และคืนออกซิเจน (O2 ) ให้พื้นที่ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้ ยสท. อีกทางหนึ่งด้วย และในปี 2566 ยสท. จะมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยเปลี่ยนสำนักงานโครงการย้ายโรงงานผลิตยาสูบสวนอุตสาหกรรมโรจนะ มาเป็นสำนักการพัฒนายั่งยืนเนื่องจากเสร็จสิ้นภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและย้ายโรงงานผลิตยาสูบแล้ว โดยสำนักการพัฒนายั่งยืนจะเป็นหน่วยงานของ ยสท. ที่ดูแลและดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้องกับ BCG Model โดยตรง


กำลังโหลดความคิดเห็น