ประชุมสภาเศรษฐกิจโลกที่ดาวอส ส่งสัญญาณหมดความสำคัญ ผู้นำมหาอำนาจเมินเข้าร่วม กลายเป็นเวที่ของพวกนายทุนโลกตะวันตกมาพูดคุยกันกำหนดวาระโลกเพื่อประโยชน์ให้ตัวเอง โดนโจมตีจากภาคประชาชน-เอ็นจีโอว่าพูดอย่างทำอย่าง “ท็อป บิทคับ” เข้าร่วมพูดถึงความโปร่งใสของคริปโตฯ แต่บริษัทตัวเองไม่ส่งงบการเงินปี 64
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการประชุมประจำปีของ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) หรือ การประชุมดาวอส ครั้งที่ 53 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ระหว่าง วันที่ 16-20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าผู้นำประเทศใหญ่ ๆ ของโลก มีแค่นายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีไปร่วมงานเพียงคนเดียว ขณะที่ผู้นำกลุ่ม G7 อย่างฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น อิตาลี และ แคนาดา ไม่มีใครให้ความสนใจเดินทางไปร่วมประชุม แตกต่างจากการประชุมครั้งก่อน ๆ หน้านั้น เช่น ในปี 2561 ที่ผู้นำประเทศเศรษฐกิจมา 6 ใน 7 คน
อย่างไรก็ตาม แม่งานที่เป็นเจ้าภาพอย่างนางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (EU) ก็ยังเดินหน้าประชุม WEF 2023 ครั้งที่ 53 นี้ภายใต้ธีมหลักว่า“ความร่วมมือในโลกที่แตกเป็นเสี่ยง (Cooperation in a Fragmented World)”และธีมที่สองคือแนวทางที่โลกจะเดินไปยังอนาคต มีการประชุมหารือปัญหาที่กำลังส่งผลกระทบต่อทั้งโลก อย่างเช่น ปัญหาเงินเฟ้อค่าครองชีพสูง วิกฤติพลังงาน สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และปัญหาเกี่ยวกับสภาพอากาศ รวมทั้งปัญหาการย้ายการลงทุนจากยุโรปไปอเมริกาและจีน การขาดแคลนพลังงานที่ต้องพึ่งรัสเซียและวัตถุดิบแร่หายาก 98%ที่ต้องพึ่งจีน
วันจันทร์ที่ 16 มกราคม 2566 นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โพสต์ว่า“การแบ่งแยกระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นกำลังทำให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยงด้วยการปล่อยให้ ‘ทุกคนยากจนลงและมีความมั่นคงปลอดภัยน้อยลง’ ซึ่งในมุมมองของผู้อำนวยการ IMF เห็นว่า การกระตุ้นให้การค้าทั่วโลกแข็งแกร่งขึ้น จะช่วยประเทศที่เปราะบางในการจัดการกับหนี้ และเพิ่มการดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศได้ดีขึ้น
ขณะที่สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าในปีนี้ ไม่มีมหาเศรษฐีหรือนักธุรกิจคนสำคัญจากทั้งรัสเซียและจีนเข้าร่วมการประชุมดาวอสเลยสักคน โดยคาดหมายกันว่าว่าเกิดขึ้นจากปมความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย กับผู้นำชาติตะวันตก ในกรณีสงครามยูเครน
ส่วนประเทศไทย ในปีนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมดาวอส แทนนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเลือกไปราชบุรี
ทั้งนี้ นายอนุทิน ได้เข้าร่วมประชุมในวันที่ 17-18 มกราคม ในหัวข้อHealth Systems Transformation ซึ่งที่ประชุมหารือกันถึงความร่วมมือระดับโลกทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับระบบดูแลสุขภาพที่มีความยั่งยืน รวมถึงหัวข้อThe Pulling Power of ASEAN เกี่ยวกับบทบาทของอาเซียนท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงและบทบาทการมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่งของโลกตลอดจนความร่วมมือในภูมิภาค
โดยในงานดังกล่าว นายอนุทินในฐานะตัวแทนประเทศไทย ได้ให้ความเห็นตอนหนึ่ง ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องเห็นตรงกัน ว่า เราทั้งหมดจะมีพลังเมื่ออยู่รวมกัน ในแง่ภูมิศาสตร์ อาเซียนเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมโลกทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน เมื่อ 30 ปีก่อน อดีตนายกฯ ไทย คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เคยประกาศนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เราน่าจะนำปรัชญานี้มาปรับใช้ในบริบทโลกปัจจุบันกันอีกครั้ง ส่วนในอาเซียนเราไม่มีสงครามในหมู่ชาติสมาชิก แต่เรามีการแข่งขันทางการค้า
“อาเซียนจะแข็งแกร่งมาก ถ้าประเทศสมาชิกเปลี่ยนการแข่งขันเป็นความร่วมมือที่เข้มแข็ง เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น อาเซียนจะยืนอย่างมั่นคงและกลายเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้สำหรับทุกเขตเศรษฐกิจในโลก”
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังร่วมหารือกับผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ในหัวข้อHow to Restart Global Cooperationซึ่งจะว่าด้วยความร่วมมือระดับโลกในระยะต่อไปเพื่อรับกับความท้าทายระดับโลกในประเด็นหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน เศรษฐกิจที่อ่อนแอลง วิกฤตการณ์ด้านอาหารและพลังงาน รวมถึงมีกำหนดการพบปะกับผู้แทนประเทศและผู้บริหารองค์กรธุรกิจระดับโลกเป็นการเฉพาะหลายรายด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีการพูดถึงกันหนาหู และเป็นที่น่าสังเกตจากผู้เข้าร่วมจำนวนมากก็คือ การประชุมดาวอสปีนี้จืดชืด ขาดผู้นำที่มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจโลกเข้าร่วมประชุมด้วย สะท้อนถึงความเสื่อมถอยของเวทีการประชุม World Economics Forum ที่ส่งสัญญาณหมดยุค หมดความสำคัญแล้ว แม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมถึง 2,658 คนจาก 130 ประเทศทั่วโลกก็ตาม แต่ก็เป็นการเกาะกลุ่มเล็กๆ พูดคุยกัน
ขณะที่ยังมีข่าวอื้อฉาว ซึ่งโด่งดังกว่าเนื้อหาและประเด็นของการประชุมก็คือ ผู้ไปร่วมประชุมจำนวนมากสั่งจองคุณตัวบริการทางเพศกันหนาแน่น ยกตัวอย่างเช่น ข่าวจากนิวยอร์ก โพสต์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ววันที่ 18 มกราคม 2566 พาดหัวข่าวว่า โสเภณีคิดค่าค้างคืนกับผู้เข้าร่วมประชุมดาวอสสูงถึงคืนละ 2,500 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 82,000 บาท) ขณะที่ความต้องการแรงงานตอบสนองทางเพศกำลังพุ่งสูง
การประชุมที่ดาวอส เริ่มจัดกันมาตั้งแต่ปี 2514 (ค.ศ.1971) แท้จริงแล้วคือ การประชุมเพื่อกำหนดวาระของโลก โดยผู้กุมอำนาจ และนายทุนของโลกตะวันตก เพื่อให้คนในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกเดินตามวาระ ตามนโยบาย หรือ ตาม Agenda ที่มีการกำหนดเอาไว้ในแต่ละปี
แต่หลายปีหลัง การประชุมสภาเศรษฐกิจโลกกลับประสบกับความเสื่อมถอย เพราะโลกเริ่มมีการเปลี่ยนขั้วแล้ว จากโลกที่เคยถูกครอบงำโดยโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ก็กลายเป็นโลกหลายขั้ว หรือ Multi-Polar ที่หลายประเทศหันมาจับมือกันเพื่อคัดคานอำนาจของโลกตะวันตก ยกตัวอย่างกลุ่ม BRICS ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ประเทศคู่ค้าเกิดขึ้น โดยมีผู้นำอย่าง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียเป็นแกนนำ
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 วันเดียวกันกับที่การประชุมที่ดาวอสเริ่มขึ้น Oxfam องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ได้เผยแพร่รายงาน“Survival of the Richest”ที่มีใจความสำคัญเป็นการเรียกร้องให้บรรดาผู้มั่งคั่งจ่ายภาษีมากขึ้น และตัวแทนของ Oxfam เดินทางไปชุมนุมที่เมืองดาวอสเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เก็บภาษีจากผู้มั่งคั่ง 1% ของประเทศในอัตรา 60% ของรายได้ และเพิ่มอัตราภาษีสำหรับเศรษฐีระดับรอง ๆ ลงไปด้วย
รายงานของ Oxfam ระบุว่าเหล่าผู้คนที่ร่ำรวยที่สุด 1% ครอบครองความมั่งคั่งเกือบ 2 ใน 3 (หรือ 63%) ของความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงปี 2563-2564 หมายความว่าบุคคลที่รวยที่สุดในโลกได้ดูดซับความมั่งคั่งทั่วโลกในสัดส่วนมากขึ้นในช่วงที่เกิดโรคระบาดและในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่คนยากจนทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี และโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์หลายด้านจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาระค่าครองชีพ ความอดอยากที่แพร่หลาย และการพัฒนามนุษย์ที่ลดลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
“ในเบื้องต้น โลกควรตั้งเป้าหมายที่จะลดความมั่งคั่งและจำนวนมหาเศรษฐีลงครึ่งหนึ่ง ในช่วงเวลานับจากปัจจุบันนี้ไปจนถึงปี 2573 ทั้งโดยการเพิ่มภาษีสำหรับผู้ที่มีความมั่งคั่งสูงสุด 1% แรก และใช้นโยบายในการกำราบมหาเศรษฐีอื่น ๆ อีกด้วย” ซึ่ง Oxfam บอกว่า วิธีการนี้จะทำให้ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีกลับไปสู่จุดที่พวกเขามีเมื่อสิบปีก่อน หรือปี 2555 (ค.ศ.2012)
สำหรับความเป็นมาของสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum เดิมชื่อสภายุโรปก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2514 (ค.ศ.1971) โดยศาสตราจารย์เคล้าส์ ชวอบ (Klaus Schwab) ซึ่งจบด็อกเตอร์ทั้งทางเศรษฐศาสตร์และวิศวะ จากมหาวิทยาลัย ไฟร์บวร์ก (Fribourg) และ “ETH Zurich” ในสวิตเซอร์แลนด์
ในช่วงแรกๆ ที่มีการจัด “ประชุมดาวอส” ได้สร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นการประชุมของ‘เหล่าอีลิท หรือ ชนชั้นนำทางธุรกิจการเงิน’มาพูดคุยสมคบคิดกันเรื่องผลประโยชน์ มากกว่าที่จะเป็นเวทีที่ให้ผู้นำมาพูดคุยเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาระดับโลก ทว่า ตลอด 52 ปีของ WEF เวทีนี้ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดวาระของโลกปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของรัฐบาลต่างๆ ในโลกนี้
มีหลายงานที่เกิดขึ้นเป็นสนธิสัญญาและกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ปี 2531 (ค.ศ.1988) มีการเซ็นสนธิสัญญา Davos Declaration กันที่การประชุม ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ช่วยยุติความขัดแย้งระหว่างตุรกีและกรีซในขณะนั้น
ปี 2537 (ค.ศ.1994) มีการเสนอให้มีความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ซึ่งเป็นกรอบการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก
ปี 2543 (ค.ศ.2000) มีการก่อตั้ง Global Alliance for Vaccines and Immunisation (Gavi) องค์กรที่รวมทั้งภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน โดยมีสมาชิกอย่างเช่น UNICEF มูลนิธิบิลและเมลินด้า เกตส์ และองค์การอนามัยโลก จัดหาวัคซีนให้กับผู้ด้อยโอกาส และเด็กทั่วโลก
ปี 2563 (ค.ศ.2020) WEF ได้ประกาศ Davos Manifesto แสดงเจตนารมณ์ร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาด้านสังคม และหารือเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม วาระเศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มีเบื้องหลังผลประโยชน์ของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่นี้ ซึ่งนำไปสู่การฉวยโอกาสทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างเป็นระบบ โดนประท้วงจากองค์กร NGO อย่างกรีนพีซ ที่มองว่าการประชุมดาวอสเป็นการประชุมที่ให้ผู้มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจที่ร่ำรวยล้นฟ้าอยู่แล้วมาร่วมประชุมกันเพื่อหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง ไม่ได้มีผลดีต่อส่วนรวม แถมยังสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างมลพิษเป็นจำนวนมากจากการที่ผู้นำและผู้บริหารทั้งหลายต้องนั่งเจ็ตส่วนตัวไปร่วมประชุมและพูดอย่างทำอย่าง
นายสนธิ กล่าวอีกว่า ในการประชุมดาวอส 2023 ในปีนี้ เศรษฐกิจโลก ผู้นำอีลิททั้งหลาย ให้ความสนใจสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ เขาเชิญนักปั่นสินทรัพย์อุตสาหกรรมดิจิทัล และบล็อกเชน อย่างเช่น นายท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา CEO บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป ไปร่วมประชุมด้วย นายท๊อป ก็เลยถือโอกาสคุยโวโอ้อวดว่าได้รับเชิญไปร่วมแชร์วิสัยทัศน์
นายท๊อป ยังทุ่มเงินซื้อสื่อประชาสัมพันธ์ โฆษณาภาพตัวเองพร้อมโปรยข่าว ไปทั่วว่า เข้าร่วมการประชุม WEF เผยแพร่ในสื่อทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ ประชาชาติธุรกิจ blockdit ทั้งๆ ที่ความจริงคำอวดอ้างว่าเป็นยูนิคอร์นที่ประสบความสำเร็จขึ้นเวที World Economic Forum แสดงวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ พูดคุยกันในกลุ่มเล็กๆ ไม่เกิน 5 คน เท่านั้นเอง มีคนฟังไม่ถึง 20 คน
ดูเหมือนนายท๊อป จิรายุส จะพูดอย่างทำอย่าง เขาพูดถึงวิกฤตความล่มสลายของ FTX หรือคริปโทเคอร์เรนซีเจ้าใหญ่ และมาพูดถึงความโปร่งใส เน้นมาก ขณะที่บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยีของตัวเอง ยังมีปัญหาไม่รายงานงบการเงินประจำปี 2564 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มาเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ทั้งที่ได้ออกเหรียญ Digital Kub ของกลุ่ม มูลค่า 3,300 ล้านบาท เลยทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่ากลุ่มบิทคับ (bitkub) ให้ข้อมูลเท็จหรือไม่ เพราะยังไม่ได้อนุมัติงบการเงิน ถ้าอนุมัติจริง ทำไมไม่ยื่นตามกฎหมาย แต่สิ่งที่พวกนี้ทำกัน ปล่อยให้เกิดความไม่โปร่งใสอย่างนี้ได้ แต่นายท๊อป กลับไปพูดอย่างเท่ๆ ที่ World Economic Forum ว่า “เทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนโลกให้โปร่งใสได้ ผมเชื่อว่าสินทรัพย์ดิจิทัลคือโลกอนาคต”
“คุณท๊อปครับ คุณเลิกหน้าไหว้หลังหลอกได้แล้ว เมื่อไรคุณจะส่งงบการเงินให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียที สรุปแล้ววันนี้ดิจิทัลบล็อกเชนที่เห็นและเป็นอยู่ทั่วโลกก็คือขบวนการหลอกลวงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สร้างภาพอนาคตที่ไม่มีอยู่จริง ปั่นกระแสความโลภเข้าครอบงำคนทั้งโลก ยังเป็นเครื่องมือของอาชญากรธุรกิจผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยาเสพติด พนันออนไลน์ แก๊งฉ้อโกงประชาชน และนี่คือการเซ็ต World Agenda ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ตอนนี้ออกอาการเสื่อมถอยชนิดที่เรียกว่าอาจจะเป็นช่วงสุดท้ายของทุนนิยมเลยก็ว่าได้” นายสนธิกล่าว